ถนนสุทธิสารวินิจฉัยที่มีจุดเริ่มต้นใกล้สี่แยกสะพานควาย เขตพญาไท พาดผ่านจากทิศตะวันออกของถนนพหลโยธินผ่านไปในเขตพญาไท เขตดินแดง เขตห้วยขวาง และเขตลาดพร้าว มีลักษณะแปลกกว่าถนนอื่นๆ ที่ซอยแยกของถนนนี้มีทั้งชื่อว่า ซอยสุทธิสารวินิจฉัย ซอยอินทามระ และชื่อซอยอื่นๆ
ประวัติความเป็นมาแต่เดิมที่ดินที่เป็นส่วนหัวของถนนสุทธิสารวินิจฉัย ด้านที่ติดถนนพหลโยธินยาวไป 500 เมตร ที่ดินบริเวณนั้น เป็นของพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค)ซึ่งเป็น ราชทินนามตามวิชาชีพของท่าน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาราชทินนามจึงมีคำว่า วินิจฉัย ต่อท้าย
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 กรมตำรวจซึ่งมีพลตำรวจเอก เผ่าศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้มีนโยบายจัดสรรที่ดิน เพื่อให้ครอบครัวตำรวจได้มีที่อยู่อาศัยเป็นผืนที่ดินต่อจากที่ดินของ พระสุทธิสารวินิจฉัย โดยมี พลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ ผู้อำนวยการกองคลัง กรมตำรวจในยุคนั้น เป็นผู้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย
ที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจไม่มีทางออกสาธารณะในสมัยนั้น พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ จึงได้เจรจาขอเปิดทางกับผู้อนุบาลพระสุทธิสารวินิจฉัย ซึ่งเป็นทายาท ได้แก่นายจิรายุวัตร บุนนาค นางลาลีวัณย์บุนนาค และศาสตราจารย์ มารุต บุนนาค(อดีตประธานรัฐสภา)
บรรดาผู้อนุบาล พระสุทธิสารวินิจฉัย ยินดีอุทิศที่ดินของพระสุทธิสารวินิจฉัย เพื่อให้เป็นทางสาธารณะ และเพื่อให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินกรมตำรวจใช้เป็นทางสาธารณะออกสู่ถนนพหลโยธิน
จึงเป็นที่มาของมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่ให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตรและต่อไปให้ใช้ชื่อถนนอินทามระ
แต่เนื่องจากถนนสุทธิสารวินิจฉัยเป็นชื่อถนนที่อยู่ตรงหัวถนน จึงทำให้ประชาชนทั่วไป เรียกชื่อถนนว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย จนเป็นที่คุ้นเคย ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ กรุงเทพมหานคร ติดป้ายชื่อถนนนี้ว่าถนนสุทธิสารวินิจฉัย ทั้งสาย
ต่อมา นายกฤษดา อินทามระ ทายาทชั้นหลานของพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ ผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินกรมตำรวจเกรงว่า ซอยที่ชื่อ ซอยอินทามระ จะต้อง
ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น ซอยสุทธิสารวินิจฉัย ตามระเบียบของกรุงเทพมหานครทั้งหมด จึงได้เป็นโจทก์ฟ้องกรุงเทพมหานครที่ศาลปกครองกลาง เพื่อให้เปลี่ยนชื่อถนนทั้งสายเป็น ถนนอินทามระ
ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า ให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยตามเดิม เนื่องจาก พระสุทธิสารวินิจฉัยเป็นผู้อุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะที่หัวถนน ส่วนชื่อซอย ให้ใช้ชื่อว่า ซอยอินทามระตามเดิม และถือเป็นการให้เกียรติแก่ พลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ ผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินกรมตำรวจแล้ว
ทายาทพลตำรวจโท โต๊ะ อินทามระ ผู้ฟ้องคดี ได้อุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดได้มี คำพิพากษา เมื่อวันที่20 กรกฎาคม 2560 ให้กรุงเทพมหานครเปลี่ยนชื่อถนนทั้งสายเป็น ถนนอินทามระ ภายใน 180 วัน ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการ
หลักเกณฑ์การตั้งชื่อถนนของประเทศไทยทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัดนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่พอที่จะจำแนกถึงที่มาของชื่อที่ต้องการสื่อจากรายชื่อถนนที่มีอยู่ได้ว่า อาจมีที่มาการสื่อถึงลักษณะ 6 ประการ คือ 1) การระลึกถึงผู้อุทิศให้หรือให้เกียรติบุคคลตามชื่อ นามสกุล และราชทินนาม ที่เป็นผู้อุทิศที่ดินเป็นทางสัญจรสาธารณะออกสู่ถนนพหลโยธิน เพื่อประโยชน์แก่กิจการของรัฐ และการสัญจรสาธารณชนทั่วไป2) สภาพถนนและสิ่งแวดล้อม เช่น ถนนดินแดง สร้างด้วยดินฝุ่นลูกรังสีแดงในเขตเมือง มีฝุ่นสีแดงคละคลุ้งเมื่อยานพาหนะวิ่งผ่าน 3) ความเจริญรุ่งเรือง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนเจริญนคร 4) เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น ถนนเสรีไทย สดุดีขบวนการเสรีไทยครบรอบ 56 ปี 5) อาชีพของคนในชุมชนที่ถนนตัดผ่าน เช่น ถนนตีทอง ชุมชนทำอาชีพทำทองคำเปลว ที่ทำจากการตีทองคำจนบาง 6) สิ่งของเครื่องใช้ในสถานที่นั้นเช่น ถนนวิทยุ เป็นต้น
ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา นายรุจิระ บุนนาค ทายาทสุทธิสารวินิจฉัย ชั้นหลาน ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า
“คดีนี้ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยไม่ได้ถูกฟ้องคดีและไม่ได้ถูกเรียกเข้าเป็นคู่ความในคดี ทำให้ข้อเท็จจริงบางส่วนคลาดเคลื่อนและขาดหายไป
แม้จะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด แต่ต้องตีความกันอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่ากรุงเทพมหานครจะต้องเปลี่ยนแปลงชื่อถนนนี้ให้เป็นไป ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่ให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปให้ใช้ชื่อ ถนนอินทามระ
ถนนในกรุงเทพมหานครเส้นเดียวกันที่มีหลายชื่อ เช่น ถนนพระราม 1 ถนนเพลินจิต และถนนสุขุมวิท ซึ่งมีสามชื่อ แต่เป็นถนนเดียวกันตลอดทั้งเส้น
หากกรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการตามข้อเท็จจริงนี้ มีความเป็นไปได้ที่ทายาทพระสุทธิสารวินิจฉัยจะใช้สิทธิทางศาลปกครองต่อไป แม้อาจดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเท่าไรนัก แต่ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่แสดงว่า ผู้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณะและประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป สมควรจะได้รับการยกย่อง หากปล่อยผ่านไปต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีผู้อุทิศที่ดินเพื่อยกให้เป็นทางสาธารณะ และประโยชน์แก่สาธารณชน”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี