ในยุคปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย ประเภท Facebook หรือ Meta, TikTok, Instagram มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
บางคนใช้โซเชียลมีเดีย จนถึงขั้นที่อาจเรียกว่า เสพติด เมื่อตื่นตอนเช้าจะเริ่มหยิบมือถือมาดูโซเชียลมีเดีย เมื่อเข้าสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสนทนา ทานอาหาร แม้กระทั่งเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ตามเทศกาล ยังอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อดูโซเชียลมีเดีย ทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคม แม้แต่ยามเวลาจะเข้านอน ยังอดไม่ได้ที่จะดูโซเชียลมีเดีย จนดึกดื่น เบียดเบียนเวลานอน และเวลาพักผ่อน
พฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาของสังคมในยุคสมัยใหม่ ที่ขยายตัวไปอย่างกว้างขวางถึงขนาดมีกรณีศึกษาว่า ครูให้นักเรียนทำการบ้าน และได้ตั้งคำถามว่า เมื่อโตขึ้นอยากเป็นอะไร? ได้มีเด็กบางคนทำการบ้านส่งครูตอบว่า อยากเป็นโทรศัพท์มือถือ เพราะพ่อแม่สนใจแต่โทรศัพท์มือถือ ดูแต่โซเชียลมีเดีย ไม่สนใจในตัวหนูเลย
การเสพติดโซเชียลมีเดีย ยังลุกลามไปยังเด็กและเยาวชน จริงอยู่ แม้ด้านหนึ่งของโซเชียลมีเดีย จะเป็นประโยชน์ ที่เด็กและเยาวชนสามารถค้นหาข้อมูลได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว ทำให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อมากเกินไป เด็กและเยาวชนใช้โซเชียลมีเดียไปในทางบันเทิงมากกว่าการศึกษาหาความรู้กันเอง จนขาดทักษะในการเข้าสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่น ใจร้อนไม่สามารถรอคอยสิ่งใดๆ ที่ใช้เวลาได้ เพราะคุ้นเคยกับการได้รับคำตอบในการค้นหาทางโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นปัญหาในสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน
หลายประเทศได้เริ่มเห็นปัญหานี้ และมีบางประเทศที่มีกฎหมายบังคับใช้ในเรื่องนี้แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี เพียงแต่มีนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ แต่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ประเทศสหรัฐอเมริกาในรัฐฟลอริดา ได้ออกกฎหมายคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ (CS/CS/HB 3: Online Protections for Minors) ได้บัญญัติ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า14 ปีใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2568
กฎหมายนี้ กำหนดให้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ต้องทำการลบบัญชีผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี และผู้ที่ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองออกจากแพลตฟอร์มออกทั้งหมดอย่างถาวรขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานทั่วไปต้องทำการยืนยันตัวตนด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ใช่บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยกฎหมายยังเปิดโอกาสให้บิดามารดา ผู้ปกครองสามารถนำเรื่องมาดำเนินคดีต่อบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ทำเช่นนั้นด้วย
ตามระบบกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐมีอำนาจออกกฎหมายเพื่อใช้บังคับในรัฐของตนเองได้ โดยที่รัฐอื่นอาจยังไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องออกกฎหมายตามรัฐที่มีกฎหมายบังคับใช้แล้ว จึงอาจเป็นกรณีที่ การกระทำอย่างเดียวกันถือเป็นความผิดในรัฐหนึ่ง ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด แต่ในรัฐอื่นที่ไม่มีกฎหมายใช้บังคับ ไม่ถือเป็นความผิด
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และกำลังศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง และมีนโยบายที่จะออกกฎหมายบังคับ เกี่ยวกับกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียFacebook หรือ Meta, Instagram และTikTok ภายในสิ้นปีพ.ศ. 2567 นี้ แม้ว่ารัฐบาลออสเตรเลีย จะยังไม่ได้เปิดเผยอายุที่แน่นอน แต่มีแนวโน้มว่าจะอยู่ระหว่าง 14 ถึง 16 ปี
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้แสดงท่าทีว่า สนับสนุนให้ผู้ใช้ที่มีอายุมากกว่าในช่วงอายุดังกล่าว ซึ่งหมายถึงอายุ 16 ปีขึ้นไป
แม้ว่าประเทศออสเตรเลียมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิและข้อมูลส่วนบุคคลอยู่แล้ว แต่ยังได้เล็งเห็นว่า ภัยเงียบจากการใช้โซเชียลมีเดีย โดยเด็กและเยาวชนที่มีอายุน้อยเกินไป ไม่สามารถควบคุมดูแลตนเองได้ จำเป็นจะต้องมีกฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง
ในประเทศไทย ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่าเด็กเล็กบางคน เสพติดโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลต เพื่อดูโซเชียลมีเดียมากเกินไป หากพ่อแม่ไม่ตามใจ อาจร้องโวยวาย และทำร้ายตนเอง เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว จะสนใจแต่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลตเพื่อดูโซเชียลมีเดียโดยไม่สนใจ อย่างอื่นเลย แม้แต่พ่อแม่ของตนเอง ถึงขั้นต้องพบกับจิตแพทย์เด็ก หรือนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อทำการบำบัด
ในบางประเทศ เยาวชนที่ถูกพ่อแม่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถืออย่างหักดิบ ไม่ได้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปถึงขั้นซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง และฆ่าตัวตาย ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว
อาจถึงเวลาแล้ว องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ในประเทศไทยควรให้ความสำคัญและใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังเสียที
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี