เหตุการณ์รถทัวร์ทัศนศึกษานักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ที่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บนถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1
ตุลาคม 2567 เป็นเหตุให้นักเรียนและครูเสียชีวิต รวม 23 ศพ สร้างความเศร้าสลดและสะเทือนใจแก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ
ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะมีนักเรียนและครูที่อยู่ในรถทัวร์รอดชีวิต 10 กว่าราย แต่ได้รับความบาดเจ็บทางกาย และบาดแผลทางจิตใจ ยากที่จะลบเลือนได้
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สามารถถอดบทเรียน และสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้หลายประการ
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับอุบัติเหตุในเรื่องนี้ จะต้องพิจารณาว่า เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ? ซึ่งหมายความว่า ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดการณ์และความระมัดระวัง ป้องกัน ได้หรือไม่ ?
เมื่อติดตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีประเด็นที่ถือเป็นข้อพิรุธ น่าสังเกต และน่าสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถทัวร์คันที่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้นี้ ได้การจดทะเบียนใช้งานมานานแล้วถึง 50 ปีเศษ แม้จะผ่านการตรวจสภาพในการต่อทะเบียนประจำปีมาแล้วก็ตาม แต่ตามมาตรฐานของหลายประเทศ รถใช้งานสาธารณะเช่นนี้และยังมาใช้งานกับนักเรียน ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก และในความเห็นของชาวต่างประเทศ คงรับมาตรฐานความปลอดภัยไม่ได้
ตามคำบอกเล่าของพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้งคนขับรถทัวร์คันที่เกิดเหตุด้วย รถทัวร์ทัศนศึกษานักเรียนแล่นตามกันมาบนถนนวิภาวดีรังสิต 3 คัน ในช่องกลาง หรือเลนกลาง มุ่งหน้าเข้าเมือง คันที่เกิดเหตุเป็นรถทัวร์ ใช้แก๊ส NGV เป็นพลังงาน แล่นเป็นคันที่สอง
ในขณะที่แล่นอยู่บนถนน มีเสียงระเบิดดังขึ้น คนขับรถทัวร์คันเกิดเหตุ ในตอนแรกอ้างว่า ถนนอาจเป็นหลุมล้อหน้าซ้าย กระแทก ยางรถจึงระเบิดรถเสียหลักไปชนรถเบนซ์สีดำที่ตามมา และไปชนเกาะกลางถนนหรือแบริเออร์จนเกิดประกายไฟและเป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้รถทัวร์ทั้งคัน ต่อมาได้ให้ข้อเท็จจริงว่า อาจจะเกิดจากโช้คอัพรถระเบิด ไม่ใช่ยางล้อรถระเบิด
หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงถนนวิภาวดีรังสิตไม่น่าจะมีหลุมใหญ่จนเป็นเหตุให้รถทัวร์คันเกิดเหตุตกหลุมกระแทก และโช้คอัพรถหากเสียกะทันหัน ไม่ควรที่จะมีเสียงระเบิด
กรณีที่น่าจะเป็นไปได้ คือ เกิดเหตุยางรถยนต์ระเบิด ตามปกติแล้วยางรถยนต์มีข้อกำหนดว่า ให้ใช้งานได้เพียง 40,000 กิโลเมตร หรือภายใน 2 ปี แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน ต้องเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่ หากไม่เปลี่ยนแล้วยังฝืนใช้ อาจใช้ได้ต่อไปเพียงระยะสั้นไม่นาน แล้วอาจเกิดการระเบิดเป็นอันตรายทำให้รถเสียหลัก และเกิดอุบัติเหตุได้
ประเด็นเรื่องยางรถยนต์เก่าและไม่เปลี่ยนยางตามรอบระยะ ยังไม่มีการเปิดประเด็นในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
แต่หากเป็นกรณียางรถยนต์เก่าไม่เปลี่ยนตามระยะและเกิดเหตุระเบิด ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขับขี่รถทัวร์ และผู้ประกอบกิจการ เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาในหลายคดี ที่รถยนต์หรือรถบรรทุกเบรกแตกกะทันหัน ไม่สามารถเบรกได้ พุ่งชนคนและรถยนต์คนอื่น ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขับขี่รถยนต์และเจ้าของรถยนต์
ประเด็นการติดตั้งถังแก๊สที่ใช้เป็นพลังงานในรถทัวร์คันเกิดเหตุ ตามข่าวจดแจ้งไว้เพียง 3 ถัง บางข่าวว่า จดแจ้งไว้ 6 ถัง แต่ติดตั้งใช้งานจริงมากถึง 11-12 ถัง
ถังแก๊สบางถังยังติดตั้งในห้องโดยสารรถทัวร์ชั้นล่าง ซึ่งรถทัวร์คันเกิดเหตุเป็นรถทัวร์สองชั้น เป็นประเด็นที่บรรดาหน่วยกู้ภัยซึ่งเข้าไปเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อน ตามความเป็นจริงแล้ว ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ จะทำให้เพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วในห้องโดยสารจากชั้นล่างลามไปถึงชั้นบน เป็นการยากที่ผู้โดยสารในรถทัวร์จะหลบหนีออกไปได้ โดยเฉพาะยิ่งเป็นเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยม
กรณีถังแก๊สที่ติดตั้งแบบผิดปกติ หากเป็นเช่นนั้นจริง ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของผู้ขับรถทัวร์และเจ้าของกิจการ และเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งผู้ทำหน้าที่ตรวจสภาพรถทัวร์อีกด้วย
ประเด็นเรื่องประตูฉุกเฉินและการทุบกระจกรถทัวร์ เพื่อหลีกหนีจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถทัวร์ ถือเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง เพราะขณะเกิดเหตุผู้ประสบเหตุที่อยู่ในรถทัวร์ ไม่สามารถเปิดประตูฉุกเฉินนี้ออกมาได้ และไม่สามารถทุบกระจกรถทัวร์เพื่อหลีกหนีเหตุการณ์ได้เช่นกัน เพราะไม่มีอุปกรณ์ที่เป็นค้อนสำหรับทุบกระจกติดตั้งไว้ ตามข้อเท็จจริงของที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสภาพรถหลังเกิดเหตุ
นอกจากนี้สิ่งที่เรียนรู้จาก อุบัติเหตุไฟไหม้รถทัวร์ทัศนศึกษาอันน่าสะพรึงกลัวนี้ คือ
ประเทศไทย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการไม่ได้ให้ความสำคัญในการให้ ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้เรียนรู้วิธีการหลบหลีกเอาตัวรอดเมื่อมีภัย หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้น
เช่น ก่อนออกเดินทาง ควรให้ข้อมูลหรือบอกกล่าวแก่ผู้โดยสารว่า รถทัวร์มีประตูฉุกเฉินที่ไหนบ้าง และมีวิธีเปิดอย่างไร ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน จะต้องหลบหนีทางหน้าต่าง ต้องมีค้อนทุบกระจกหน้าต่างนิรภัยติดตั้งไว้ และมีวิธีการทุบกระจกหน้าต่างอย่างไร
ผู้คนที่ติดตามข่าวเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่ยอมรับความจริงว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทราบว่า การทุบกระจกนิรภัยรถยนต์หรือรถทัวร์ จะต้องทุบเป็นตำแหน่ง 8 จุด รอบกระจกก่อน แล้วจึงทุบตรงกลางกระจก กระจกนิรภัยจึงจะแตกและหนีออกทางหน้าต่างได้ ซึ่งแสดงว่าหากเกิดเหตุขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ที่ประสบเหตุทุบกระจกนิรภัยไม่เป็นส่วนใหญ่คงจะเสียชีวิตในรถหมด
คนขับรถทัวร์โดนตั้งข้อหาหนัก หลายข้อหา เช่น ขับรถโดยประมาทหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สิน, ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ, ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตัวและไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย
ขณะนี้ กระแสสังคมพุ่งตรงไปที่คนขับรถทัวร์ว่า เป็นผู้ประมาท และเป็นผู้รับผิด หากเป็นไปตามสำนวนสมัยนี้ ต้องเรียกว่าคนขับรถทัวร์ถูกทัวร์ลงแล้ว ในความเป็นจริงแล้วต้องถือว่าผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นนายจ้างของคนขับรถทัวร์ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้วย และควรจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางคดีอาญาที่มีโทษและคดีทางแพ่ง ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของคดีแพ่งที่เกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหาย กรณีนี้ เมื่อเป็นคดีความ ถือเป็นคดีผู้บริโภค เพราะผู้บริหารโรงเรียนได้จ้างผู้ประกอบการรถทัวร์ ให้จัดรถทัวร์ที่มีความปลอดภัยเพื่อนำนักเรียนไปทัศนศึกษาในต่างจังหวัด
ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในคดีที่เกี่ยวกับผู้บริโภคที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายสินค้า ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ แม้จะเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทตามกฎหมายสามารถเรียกร้องให้กรรมการผู้มีอำนาจรับผิดเป็นการส่วนตัวได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีทั่วไป
ในกรณีทั่วไปหากผู้ประกอบการเป็นบริษัทต้องรับผิด บริษัทจะมีความรับผิดเพียงแค่มูลค่าหุ้นที่ยังไม่ชำระเต็มเท่านั้น แต่ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้ความคุ้มครองยิ่งไปกว่านั้น ที่กรรมการนิติบุคคลหรือบริษัทต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เพราะบริษัทอาจไม่มีทรัพย์สินแล้ว แต่กรรมการผู้บริหาร ซึ่งคือเจ้าของกิจการมักเป็นผู้มีฐานะหรือร่ำรวย น่าจะรับผิดชอบค่าเสียหายได้
ในคดีผู้บริโภค ค่าเสียหายจากเหตุประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบการชดใช้ค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive Damages) ซึ่งจะสูงกว่าค่าเสียหายตามความเป็นจริงมาก
ในต่างประเทศค่าเสียหายในเชิงลงโทษ ที่ศาลต่างประเทศเคยตัดสินมาแล้ว เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ ออกแบบและผลิตรถยนต์ด้วยความประมาท มีปัญหาในเรื่องการทรงตัว หรือ ระบบ Aero Dynamic ทำให้รถที่แล่นอยู่ด้วยความเร็วคว่ำโดยไม่มีสาเหตุอื่น ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือญาติผู้เสียชีวิต เป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท หรือ หลักพันล้านบาท
เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญ คนไทยมักจะมีคำกล่าวกันว่า กฎหมายไทยไม่แข็งแรง อาจบังคับไม่ได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว กฎหมายไทยดีอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องนำมาปรับใช้ให้ถูกที่และถูกเวลา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี