น้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พ่อขอให้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลไปช่วยกิจการที่บ้านซึ่งกำลังขาดสภาพคล่อง ตัวน้องเองพอจะรู้ว่า ถ้ากู้ไปช่วยก็คงไม่ได้เงินคืนกลับมาและได้ผ่อนเองทั้งหมดแน่นอน (เรื่องคุ้นๆ)
เรื่องต้องรับหนี้และผ่อนเองตัวน้องเข้าใจ แต่ธุรกิจที่บ้านพิจารณามุมไหนก็ไม่น่ารอด การกู้เพื่อนำเงินไปช่วยกิจการให้ผ่านพ้นการทวงถามแค่ 1 เดือน แล้วต้องมามีภาระผ่อนอีกเป็นปี แบบนี้สุดท้ายน่าจะพังกันทั้งหมด ทั้งกิจการและเครดิตของตัวน้องเอง จึงขอคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไร
หลายบ้านแก้ปัญหาสภาพคล่องกิจการกันแบบนี้ คือ เมื่อเงินขาด ก็หามาจ่าย มีช่องทางไหนกู้ได้ หยิบยืมได้ ลุยจนหมด เริ่มจากกู้ส่วนตัวมาช่วยกิจการ แล้วก็ลามมาถึงคู่ชีวิตและลูก
ครอบครัวผมก็แบบนี้เลยครับ กิจการไปไม่ได้ ไปไม่ไหว พ่อก็กู้ทุกช่องทาง ทั้งจากสถาบันการเงินและนอกระบบ แม่ต้องทุบกระปุกขายทองทั้งหมดที่มี แบกหน้าไปขอยืมคุณป้า คุณน้า จนเขาเอือม สุดท้ายก็มาที่ลูกที่เพิ่งเรียนจบเริ่มมีรายได้ เริ่มกู้ได้
สิ่งหนึ่งที่ต้องเตือนสติกันก็คือ คนเราควรแยกการเงินส่วนตัวออกจากการเงินธุรกิจ และไม่ควรก่อหนี้ส่วนตัวเพื่อเอาไปอุดหนี้ธุรกิจ จนข้ามเส้นไป
คิดง่ายๆ เร็วๆ ถ้าธุรกิจไปได้ ไปไหวจริง คงไม่ต้องทำให้ทุกคนลำบากขนาดนี้ เอาจริงๆ ลองทำตัวเลขดูก็ได้ ลองเอารายรับหักลบรายจ่าย*โดยที่ยังไม่ต้องรวมค่างวดผ่อนหนี้ต่างๆ หักลบดูแล้วลองดูบรรทัดสุดท้ายสิว่าติดลบมั้ย
ถ้าตัวเลขออกมา “ติดลบ” อันนี้บอกเลยหนักมาก เพราะขนาดยังไม่รวมเงินผ่อนหนี้ เอาแค่กำไรจากการดำเนินการจริงๆ ยังอยู่ไม่ได้ดังนั้นต่อให้กู้มาหนุนกิจการมากแค่ไหน ก็เหมือนเททิ้งน้ำทั้งหมด(เอาเข้าจริงไม่หมดด้วย เพราะมีภาระให้ต้องผ่อนกันต่อจากเงินกู้ก้อนใหม่)
ทางออกที่ดี คือ “แบไต๋” บอกธนาคารไปเลยว่า “ไม่ไหว” แล้วหาเจรจาทางออกร่วมกัน จะให้พักต้นจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย จะปรับโครงสร้างหนี้ เลือกวิธีจัดการเป็นแบบนี้น่าจะดีกว่า หรือจะลองเคาะตัวเลขว่า ถ้าเกิดปิดกิจการ หรือขายกิจการบางส่วน เพื่อลดหนี้ที่มีนี้ก็สามารถทำได้เหมือนกัน ก็ในเมื่อไปไม่ไหว สู้ต่อไปก็ตายอยู่ดี (แถมหนักกว่าเดิมด้วย) การยอมจึงอาจไม่ใช่เรื่องที่แย่สักเท่าใด
ยอมจมลงบ้าง ตัดส่วนที่ไม่ไหว หรือขายทรัพย์สินคืนหนี้ ก็อาจดีกว่าต้องพาชีวิตครอบครัวล่มจมไปทั้งหมด
ที่แย่คือ สู้สุดทาง แล้วไม่รอด ลูกๆ ต้องมาเป็นหนี้ให้แก้กันอีกยาวๆ แทนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน จะได้ตั้งหลักสวยๆ พาชีวิตไปข้างหน้าได้อย่างดี กลับต้องมาสะดุดตั้งแต่เริ่ม กว่าจะหาทางออกได้เหนื่อยกันเป็นสิบปี
ผมผ่านเรื่องแบบนี้มาแล้ว บอกเลยโคตรทรมาน โชคยังดีที่่ผ่านพ้นปัญหามาได้ ก็เลยแนะนำน้องเค้าไปว่าให้นั่งคุยกับพ่อแม่แบบจริงจัง ตรวจเช็คสภาพจริงของกิจการ ดูกันให้ดีๆ ว่ารอดมั้ย ถามพูดคุยกันว่าเงินที่ขอให้กู้จะเอาไปทำอะไร ถ้าเอาไปซื้อเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้า อันนี้อาจจะพอได้ แต่ถ้ากู้มาจ่ายค่าใช้จ่ายคงค้าง จ่ายหนี้ที่ถึงงวดชำระ จ่ายปุ๊บเงินก็แวบหายไปทั้งหมด แล้วก็ทำอะไรต่อไม่ได้ แบบนี้อย่ากู้มาช่วยกัน ให้แก้ปัญหาที่ตัวธุรกิจ แบบที่ไม่พาทุกชีวิตเข้าไปจมกับดักการเงินแบบที่ผมเคยเจอ
หลังๆ เวลาผมเจอเคสคำถามลักษณะนี้ ผมชวนคิดและทำแบบนี้ทั้งหมด
ลูกศิษย์คนหนึ่ง ครอบครัวมีหนี้ 35 ล้าน เข้ามาปรึกษาเพราะพ่อแม่อยากให้กู้ช่วยกิจการที่บ้าน เรียกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไหนมีที่ไหนโฆษณาหยิบโบรชัวร์มาให้ลูกกู้ให้หมด น้องเลยมาปรึกษาว่าทำไงดี(เหมือนเคสนี้เลย)
ผมเลยนัดทั้งครอบครัวมาคุยพร้อมกัน นั่งแจกแจงธุรกิจทั้งหมดตามสินค้าและบริการ แล้วดูว่ากิจการไหนรอด กิจการไหนไม่รอดกิจการไหนรอด ก็อาจตัดงบค่าใช้จ่ายลงบ้าง หาช่องทางการขายเพิ่มเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้
กิจการไหนดูแล้วไม่รอด ปรับตัวเลขการเงินกี่ทีก็ไม่เห็นโอกาสกลับมา ก็เสนอให้ยุบหรือปิดกิจการนั้นๆ ขายทรัพย์สินเคลียร์หนี้ บวกกับเจรจาขอลดดอกเบี้ยปรับและดอกเบี้ยที่ตั้งพักอยู่บางส่วน
ตอนคุยกันครั้งแรก ผมโดนพ่อของน้องเขาด่าเละเลย “เสือก”บ้างล่ะ ไม่รู้เรื่องกิจการเขาดีพอบ้างล่ะ หนักหน่อยลามไปถึงนู้นหาว่าปั่นหัวลูกเขาไม่ให้กตัญญูต่อบุพการี (ดูบาปชะมัด)
ที่จริงต้องบอกว่า ผมเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในกิจการของครอบครัวเขามากไปกว่าพวกเขาหรอก เรารู้น้อยกว่าเขาเยอะ แต่ตัวเลขในงบการเงินมันไม่หรอกเราครับ ถ้าทำตัวเลขมาดีครบถ้วน มันบอกทุกอย่างอยู่ในตัวเลขทุกบรรทัดอยู่แล้ว
สุดท้ายน้องเขาก็ขัดใจพ่อไม่ไหว ยอมกู้สินเชื่อส่วนบุคคลดอกเบี้ย 25% ต่อปี สัญญา 24 และ 36 เดือน (2 สัญญา) เอาเงินมาช่วยพ่อผ่อนหนี้ให้รอดไปได้ 2 เดือน แต่ก็นั่นแหละ ความจริงก็คือ ความจริง
เมื่อลูกบอกว่าถ้าต้องกู้ให้อีก คราวนี้คงผ่อนให้ไม่ไหวแล้วเงินเดือนไม่พอกินใช้เลย คนเป็นพ่อเลยยอม เข้าไปเจรจากับธนาคารขอปรับโครงสร้างหนี้ แล้วก็ปิดกิจการไปบางส่วน (ที่จริงก็เกือบทั้งหมด)ขายทรัพย์สินเปลี่ยนมาเป็นเงินสดเพื่อนำไปชำระหนี้บางส่วน เหลือกิจการไว้เฉพาะส่วนที่ยังทำเงินได้ (ตรงนี้ระบบบัญชีสำคัญมากนะครับถ้ามีข้อมูลจริง ไม่ใช่งบที่แต่ส่งสรรพากร จะช่วยได้เยอะมาก)
จากหนี้ 35 ล้าน ปิดจบสุดท้ายเหลือหนี้แค่ 3 ล้าน (แต่ทรัพย์สินก็หมดไปเยอะเหมือนกัน) ลูกๆ ก็ช่วยทยอยผ่อนกันไป เริ่มกิจการที่เหลือกันใหม่ 2 ปีหลังจากนั้นก็เคลียร์จนหมด ปัจจุบันธุรกิจกลับมามีชีวิตชีวา แม้จะไม่ใหญ่โตเท่าเดิม แต่ก็ไม่ต้องเหนื่อยจากหนี้ก้อนโต
ธุรกิจเจ๊ง ไปไม่รอด มันไม่ใช่ “ความล้มเหลว” เลยสักนิด ยิ่งถ้ารู้ตัวก่อนแล้วหยุดการลุกลามของปัญหา ไม่ให้กัดกินความมั่งคั่งของคนทั้งบ้านได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เลวร้ายเกินไป
ตรงกันข้าม ถ้าสู้สุดซอยแล้วทำให้หนี้ธุรกิจลุกลามไปสร้างหนี้ส่วนตัวให้ทุกคนในบ้าน แบบนี้วันหนึ่งก็จะถึงทางตันในที่สุด
ทุกครั้งที่ธุรกิจมีปัญหา ตั้งสติและค่อยๆ แก้ จัดการทุกอย่างให้อยู่ในกิจการ และอย่าสร้างภาระให้คนอื่นๆ ในครอบครัวนะครับ เพราะถ้าต้องทำอย่างนั้น อาจทำให้เจ็บหนักและช้ำกว่าเดิม เพราะการเงินพังกันหมดทั้งครอบครัวครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี