ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน, เป็นลำดับที่ 3 ของประเทศในแถบเอเชีย และเป็นลำดับที่ 38 ของประเทศในโลก ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ซึ่งจะผลบังคับใช้ต้นปีหน้า (วันที่22 ม.ค. 2568)
กฎหมายนี้ ใช้เวลาราว 23 ปี ในการผลักดัน โดยเริ่มจากรัฐบาลในช่วงปี 2544 (รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร) ได้นำแนวคิดเสนอให้สิทธิคู่รักเพศเดียวกัน LGBTQIAN+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย แต่เผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจนรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่าสังคมไทยน่าจะยังไม่พร้อม จึงยุติเรื่องนี้ลง
เริ่มชัดเจนขึ้นในยุครัฐบาลปี 2557-2566 (รัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) หลังจากมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ผนวกกับกระแสเรียกร้องรุนแรงต่อเนื่องของกลุ่มคู่รักเพศหลากหลายที่ต้องการจดทะเบียนสมรส เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศในการดำรงชีวิตในสังคมและบริบทบังคับของกฎหมายของประเทศ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจุดกำเนิดสถาบันครอบครัว ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนานาประเทศที่รับรองสิทธิมนุษยชนในโลก
ผลจากการผลักดันแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมาจากทั้งภาคประชาชนทั่วไป หน่วยงานของรัฐและฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้โดยผ่านเป็นร่างกฎหมาย (ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) จากพรรคก้าวไกล และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จากกระทรวงยุติธรรม และบรรจุเข้าเป็นวาระในการประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แต่กลับต้องเผชิญอุปสรรคจากสภาล่มและมีวาระอื่นแทรก จนกลายเป็นวาระค้างพิจารณาของสภานิติบัญญัติ
รัฐบาลใหม่ ปี 2566 (รัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน) วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ภายใต้เหตุผลที่ว่า การสมรสเท่าเทียมควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวได้โดยไม่จำกัดเพศ และทุกคนสามารถเลือกที่เป็นหรือเลือกที่จะรักใครหรือเพศใดก็ได้ เป็นสิทธิที่ทุกคนพึ่งได้รับ จึงได้นำวาระ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาสภาฯ อีกครั้ง ด้วยร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ. ฉบับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่างพ.ร.บ. ฉบับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล ร่างพ.ร.บ. ฉบับอรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน และ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ สรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ และผ่านการพิจารณาออกเป็นกฎหมายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 ซึ่งจะมีผลบังคับภายใน 120 หลังประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 นั้น บริบทบังคับรองรับสิทธิของคู่ชีวิต LGBTQIAN+บุคคลสองคน ไม่ว่าเพศใด มีสิทธิในการแต่งงาน สามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ อายุครบ 18 บริบูรณ์ จดทะเบียนเป็นคู่สมรส สิทธิการใช้คำที่เป็นกลางทางเพศ เช่น จากชาย หญิง สามี ภรรยา เป็น บิดา มารดา บุคคล ผู้หมั้นผู้รับหมั้น และคู่สมรส เป็นต้น) สิทธิเกี่ยวกับครอบครัว (สิทธิในการดูแลคนรักของตน, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส (เช่น การลดหย่อนภาษีตามประมวลรัษฎากร) ตลอดจนสิทธิในการหย่าร้าง สิทธิเรียกร้องค่าอุปการะ ค่าเสียหายและค่าเลี้ยงดู) สิทธิเกี่ยวกับมรดก (สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิการจัดงานศพทายาท) สิทธิเกี่ยวกับทายาท (สิทธิจดทะเบียนรับรองบุตรหรือบุตรบุญธรรม, สิทธิการเป็นบิดามารดาของบุตร (ตามกฎหมาย) นอกจากนี้ยังกำหนดสิทธิของคู่สมรสเฉพาะที่เป็นชายและหญิงให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมตามสภาพการณ์ปัจจุบันด้วย
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมคลี่คลายปัญหาสิทธิพื้นฐานคู่รักซึ่งมิใช่เพศชายหรือหญิงแต่กำเนิดตามกฎหมายที่ระบุไว้แต่เดิม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เดิม) ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนสมรสได้ เพราะมิใช่บุคคลที่มีเพศชายและหญิงตามเพศที่กำเนิด แม้สามารถจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ (ศาลมีคำสั่งอนุญาต) แต่สถานะตามกฎหมายที่กำหนดให้ชายย่อมต้องเป็นสามี และหญิงย่อมต้องเป็นภริยา ทั้งที่โดยเพศสภาพและความปรารถนาของทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นตรงข้ามกับเพศที่กำเนิด ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิด้านกฎหมายอื่นๆ ตามมา แม้ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต แต่ไม่อาจครอบคลุมทุกเรื่องในการทำนิติกรรมหรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับครอบครัวทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น สิทธิในการจดทะเบียนรับรองบุตรหรือบุตรบุญธรรม สิทธิในการจัดการทรัพย์สิน ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องสัญชาติของคู่ชีวิตต่างสัญชาติกัน
การสมรสของคู่ชีวิตเพศเดียวกันตามกฎหมายฉบับเดิม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เดิม) ก่อนมีพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามกฎหมายต่างประเทศที่มีกฎหมายรับรอง หรืออยู่เป็นครอบครัวโดยมิได้จดทะเบียน หรือจดแจ้งชีวิตคู่ ที่จัดขึ้นตามสำนักงานเขตต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร แนวคำวินิจฉัยของศาลไทยถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจหยิบยกกฎหมายใกล้เคียงปรับใช้ในการวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมได้ มีคดีขึ้นสู่ศาลเป็นกรณีของการจัดการทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในระหว่างที่คู่ชีวิตเพศเดียวกันอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มีทรัพย์สินที่หามาได้ในระหว่างอยู่ร่วมกัน ศาลวินิจฉัยให้ถือเป็นทรัพย์ที่ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิคนละครึ่งในฐานะหุ้นส่วน (หุ้นส่วนชีวิต) (คำพิพากษาฎีกา 3725/2532)
หากเป็นกรณีที่คู่ชีวิตจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศที่มีกฎหมายรับรองสิทธิในเรื่องนี้ ศาลไทยวินิจฉัยรับรองสิทธิให้ตามเจตนารมณ์ของคู่ชีวิตภายใต้บังคับของกฎหมายต่างประเทศดังกล่าว แต่เป็นภาระหนักที่ผู้ร้องจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์คู่ชีวิตตามกฎหมายต่างประเทศที่รับรองในการใช้สิทธิทางศาลนั้น (คำพิพากษาฎีกา 4027/2545, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 18771/2561)
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกกลุ่ม The Equal Rights Coalition (ERC) ของนานาชาติด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี