คำว่า แชร์ลูกโซ่ กลับมาเป็นคำที่พูดถึงในสังคมยุคปัจจุบันเป็นอย่างมากอีกครั้ง และถกเถียงว่า การทำธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่ จะถือว่าผิดหรือไม่ผิดกฎหมายกันแน่
คำว่า แชร์ลูกโซ่ และกิจการแชร์ลูกโซ่ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เคยเป็นปัญหาระดับชาติมาตั้งแต่สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. 2527
ในสมัยนั้นมีแชร์น้ำมันที่โด่งดังมากแห่งยุค เรียกกันว่า แชร์น้ำมัน หรือแชร์แม่ชม้อย
ในช่วงเวลานั้น แชร์น้ำมัน หรือ แชร์แม่ชม้อย โด่งดังมาก ใครต่อใครต่างพูดถึงแชร์นี้ แทบจะทุกลมหายใจเข้า-ออก ทั้งที่ผู้ที่เป็น เจ้าของ หรือผู้บริหารตัวจริง คือ นางชม้อย ทิพย์โส ที่เป็นพนักงาน ระดับกลาง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ผู้มากบารมี จนร่ำลือกันว่า มีบารมีสูงกว่าผู้ว่าการปิโตรเลียมในยุคนั้นเสียอีก
แม่ชม้อย อาศัยว่าทำงานที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ชักชวนประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนซื้อน้ำมัน ที่เรียกว่าแชร์น้ำมันผ่านตนเอง และให้ผลตอบแทนสูงมาก
แม่ชม้อย ชักชวนให้ประชาชนลงทุนแชร์น้ำมัน เป็นคันรถบรรทุกน้ำมัน คันละ 160,500 บาท หากใครไม่มีเงินลงทุนมากเท่ารถบรรทุกน้ำมันหนึ่งคัน สามารถรวมกันหลายคนลงทุนเป็นล้อรถบรรทุกน้ำมัน หลายล้อ และรวมเป็นรถบรรทุกหนึ่งคันได้ ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือ 6.5% ต่อเดือน หรือ 78% ต่อปี
แม้ผู้คนที่ลงทุนแชร์น้ำมัน จะมีความสงสัยในใจว่า แม่ชม้อย นำเงินที่ระดมทุน ไปลงทุนต่อทางด้านน้ำมันและให้ผลตอบแทนสูงได้อย่างไร ? แต่เมื่อเห็นว่าทำงานอยู่กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสามารถจ่ายผลตอบแทนได้สูง จึงไม่ติดใจจะสอบถามให้เป็นปัญหา มิฉะนั้นอาจถูกให้ถอนตัวจากการลงทุนนี้ และขาดโอกาสจะได้รับผลตอบแทนสูง
ตามความเป็นจริง แม่ชม้อยไม่ได้นำเงินที่ระดมจากประชาชน ไปลงทุนอะไรเลย แม่ชม้อยเพียงแต่เล่นกลกับตัวเลขที่เป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากกว่า 13,000 รายด้วยการนำเงินที่ได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ มาจ่ายเป็นผลประโยชน์ค่าตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนรายก่อนหน้านี้ เป็นลักษณะการจัดลำดับการจ่ายเงิน หรือคิวเงิน หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด
รัฐบาลในยุคนั้น ได้จับตามองแม่ชม้อยอย่างใกล้ชิด และหาทางดำเนินการทางกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความผิดในข้อหา ฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน เพราะแม่ชม้อยชักชวนคนมาร่วมลงทุน และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้ตามที่โฆษณาได้จริง
การสืบสวนในทางลับขณะนั้น พบว่า แม่ชม้อยไม่ได้นำเงินไปลงทุน เกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมัน หรือธุรกิจใดๆ เลย เป็นเพียงแค่การจัดคิวเงิน นำเงินรายใหม่มาจ่ายให้ รายก่อนหน้า เท่านั้นเอง
รัฐบาลในยุคนั้นเห็นว่า แม้แชร์แม่ชม้อยไม่ผิดกฎหมายชัดเจน แต่หากปล่อยไว้ วันหนึ่งแชร์แม่ชม้อยต้องล้มแน่นอน เพราะมีลักษณะเป็นรูปทรงแบบพีระมิด และหากล้มจริง จะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เป็นอย่างมาก
รัฐบาลพลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายบังคับใช้เป็นการเร่งด่วนเพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเฉพาะ มีชื่อว่า พระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 การที่ออกกฎหมาย เป็นพระราชกำหนด เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้มีผลบังคับใช้ทันที แต่ต้องเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้เป็นกฎหมายในภายหลัง และมีผลบังคับใช้และศักดิ์ศรีเท่ากับพระราชบัญญัติ ซึ่งหากรัฐบาลในยุคนั้น เสนอกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จะไม่ทันการ เพราะอาจใช้เวลาเป็นปีแชร์แม่ชม้อยอาจล้มไปก่อน ที่พระราชบัญญัติจะใช้บังคับ
เมื่อกฎหมายใช้บังคับ แม่ชม้อยได้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่เป็นพระราชกำหนดนี้ รวมความเสียหายทั้งหมดเป็น 4,043,997,795 บาท รวมโทษจำคุก 154,005 ปี แต่ถูกจำคุกจริงไม่กี่ปี ได้รับการลดโทษตามกฎหมายใหม่ ปัจจุบันพ้นโทษแล้ว
ในยุคแชร์แม่ชม้อย มีแชร์อื่นที่มีชื่อเสียง เกิดขึ้นตามมา แต่อาจดังไม่เท่า เช่น แชร์แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ เป็นต้น ในยุคนั้นต้องถือว่า ผู้บริหารชาร์เตอร์ คือนายเอกยุทธ อัญชันบุตร มีการข่าวที่ดี ได้หลบหนีไปจากประเทศไทยก่อนพร้อมเงินเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ถูกฆาตกรรมในประเทศไทยอย่างโหดเหี้ยมและมีเงื่อนงำ เมื่อปีพ.ศ. 2556 ในสมัยนางสาว ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
แชร์ลูกโซ่ ในยุคหลังที่ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนด เช่น แชร์ยูฟัน แชร์ฟอเร็กซ์ 3 ดี และอีกสารพัดแชร์
ล่าสุด มีประเด็นเกี่ยวกับ ธุรกิจขายตรง ชื่อดัง ที่มีปัญหาว่า จะเป็นแชร์ลูกโซ่ และผิดกฎหมายหรือไม่ ? อย่างไร ?
การจะพิจารณาว่า ผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ ต้องพิจารณา ให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่เป็นการกู้ยืม หรือกฎหมายถือว่าเป็นการกู้ยืม และให้ผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากไม่เข้าลักษณะของการกู้ยืม ไม่ถือว่าผิดตามกฎหมายฉบับนี้
แต่ยังมีกฎหมายที่ใกล้เคียงกับกรณีดังกล่าวคือ ความผิดอาญาฐาน ฉ้อโกงประชาชน ซึ่งต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า มีการแสดงข้อความเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบุคคลอื่น ซึ่งจะต้องแยกให้ออกอย่างชัดเจนระหว่าง การหลอกลวง การถูกหลอกลวง
กับการลงทุน
งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่จะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เพียงแค่ตามกระแสของสังคม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี