“หนี้ 18 ล้าน คือความจนครั้งสุดท้ายในชีวิต”
ผมพูดประโยคนี้กับตัวเอง ในวันที่เริ่มตั้งหลักสู้กับปัญหาการเงินของที่บ้านช่วงปี 2540 แม้จะเหนื่อยหนักแค่ไหน แต่ไม่เคยหมดหวังที่จะมีชีวิตที่ดี และเมื่อหนี้ทำเราเจ็บหนักขนาดนั้น เลยตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า แค่ชีวิตการเงินที่ดีก็ยังไม่พอ มันต้องมีชีวิตการเงินที่ดีตลอดไป ถึงจะเรียกว่าเป็นการ “เอาคืน” ที่สาสม
ย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าวิกฤต ครอบครัวผมถือว่าเป็นครอบครัวฐานะปานกลางค่อนไปทางดี มีรายได้เข้ากระเป๋าไม่ขาดมือ มีกินใช้ไม่เดือดร้อนแต่หลังจากนั้นดูเหมือนชีวิตกลับตาลปัตรไปหมด ลำบากถึงขั้นเงินเหลือติดบ้าน100 บาทยังต้องหากันให้วุ่นวาย
คำถามของผมในตอนนั้นคือ ทำไมชีวิตการเงินของคนเราถึงมีขึ้นมีลง เมื่อการเงินดีแล้ว ก็รวยแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่รวยให้ตลอดไปเลยเล่า ทำไมต้องกลับมาเจ็บจนแบบนี้ ภาพของป๊าที่เคยเป็นเด็กเข็นผักในตลาด สร้างชีวิตจนมีอู่ซ่อมรถ มีีร้านอะไหล่ของครอบครัว แล้วกลับมาเป็นคนหมดเนื้อหมดตัวชวนให้ผมสงสัย
ไม่เพียงแต่ครอบครัวผมเท่านั้น ยังมีอีกหลายคนก็เคยเจอสภาวะการเงินที่พลิกผันแบบนี้
● นักธุรกิจบางคน เจอวิกฤตหนึ่งครั้งพังหมดเนื้อหมดตัว
● นักแสดง นักกีฬา หลังหมดชื่อเสียง บางคนหมดสิ้นทุกอย่างที่มี
● บางคนดูแลตัวเองมาดี คนในครอบครัวเจ็บป่วย หยิบยืมเงินครั้งเดียวแล้วก็เหนื่อยอีกยาว
● คนทำงานรายได้ดีบางคน ถูก Lay-off รายได้หดหาย ต้องกู้กินกู้ใช้กลายเป็นหนี้ก้อนโต
● ฯลฯ
หลังผ่านพ้นปัญหามีอิสระทางการเงินในปี’48 ผมจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันชีวิต ไม่ให้กลับไปเป็นเหมือนปี’40 อีก ทำงานหนักหาเงินให้ได้มากที่สุด ตั้งคำถามว่ามากแค่ไหนถึงจะพอ มีแค่ไหนถึงจะมั่นคง เยอะแค่ไหนถึงจะมีชีวิตที่ดีไปได้ตลอด ยังไม่ทันได้คำตอบ ก็ป่วยเกือบตายเพราะภูมิแพ้เสียก่อน เลยได้มีเวลาหยุดคิดและตั้งสติกับตัวเองใหม่ (เริ่มเสียดายเงินที่จ่ายให้หมอแหละ)
งงกับชีวิตอยู่นานถึงเริ่มเข้าใจ สุดท้ายคำตอบวนเวียนอยู่ที่ปาก สิ่งที่ผมต้องการ ไม่ใช่ความร่ำรวย ผมต้องการ “ความมั่นคง”
ความมั่นคงที่ทำให้ผมสามารถควบคุมชีวิตการเงินได้ด้วยตัวเองไม่ขึ้นอยู่กับใคร และอาจไม่ได้สำคัญว่าผมต้องมีมากเท่าไหร่ แต่ขึ้นกับว่าผมควบคุมโจทย์ทางการเงิน 3 เรื่องนี้ได้ดีแค่ไหน
1) มีรายได้ มีเงินกินมีใช้จ่ายไม่ขาดมือ
2) สะสมเพิ่มความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป
3) หากโชคร้ายเกิดเรื่องไม่คาดฝัน ก็รับมือไหว ไม่ทำให้ชีวิตการเงินพังหรือเสียหาย
ทั้งสามข้อนี้ถ้าทำให้มันเกิดขึ้นกับเราตลอดทั้งชีวิตได้ รับประกันว่าคุณจะมีความมั่นคงทางการเงิน และมีชีวิตที่ปราศจากความกังวลได้ตลอดชีวิตอย่างแน่นอน
ผมเรียกชีวิตแบบนี้ว่าเป็นชีวิตที่มี ความมั่นคงทางการเงิน หรือFinancial Security ซึ่งหมายถึง สภาวะทางการเงินที่ออกแบบและวางแผนมาเป็นอย่างดีของแต่ละบุคคล ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ชีวิตมี (1) สภาพคล่องทางการเงินที่ดี มีกินมีใช้มีเหลือเก็บได้ตลอดเวลาที่รายได้เข้ามือ (2) มีการสะสมและต่อยอดเพื่อความมั่งคั่ง ภายใต้แผนการที่ออกแบบเอาไว้ (3) มีความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินที่จะเข้ามาในชีวิตไม่ปล่อยให้ชีวิตตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจจะทำให้การเงินต้องพังทลาย
ยังไม่รวย ก็สามารถสร้างชีวิตการเงินที่มั่นคงได้ แต่ถ้ารวยแล้ว ไม่จัดการเงินให้มั่นคง ให้เข้าที่เข้าทาง วันหนึ่งก็อาจกลับมาจนเหมือนเดิมหรือจนกว่าเดิมได้ (เหมือนที่ครอบครัวผมเคยเป็น)
ยกตัวอย่างเช่น น้อง First Jobber เรียนจบใหม่ ยังไม่มีภาระ ดูแลแค่ตัวเอง บริหารเงินเดือนให้พอกินใช้ได้สบายๆ มีเงินตัดออมเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน และลงทุนสม่ำเสมอ ผ่านประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ DCA ด้วยตัวเอง ดูแลสุขภาพให้ดี มีประกันกลุ่มบริษัทดูแลเรื่องเจ็บป่วยอุบัติเหตุ และเสียชีวิต บวกสิทธิประกันสังคม
แบบนี้ก็ถือว่าพอมีความมั่นคงทางการเงินแล้วระดับหนึ่ง! เพราะสภาพคล่องโอเค สะสมความมั่งคั่งโอเค และความเสี่ยงที่เกี่ยวกับชีวิตตัวเองก็ป้องกันไว้โอเค (ตกงานมีเงินสำรอง เจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุมีตัวช่วย)
แต่ความมั่นคงทางการเงินนั้นเป็นเรื่องที่มีขึ้นลงและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา (Dynamic) ดังนั้น คนเราก็ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องของเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในชีวิตตามไปด้วย
เช่น หากวันหนึ่งน้องคนเดียวกันนี้ เริ่มคิดจะออกรถสักคัน เพื่อเอาไว้ใช้เดินทางไปทำงานแทน แน่นอนว่าถ้าซื้อ สภาพคล่องก็จะต้องเปลี่ยนไปและอาจต้องปรับเปลี่ยนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เพราะรายจ่ายต่อเดือนสูงขึ้น(6 เท่าของค่าใช้จ่ายก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย) ซึ่งถ้าประเมินแล้วว่า เกิดกู้ซื้อรถยนต์จริงแล้วเงินไม่พอใช้ หรือแทบไม่เหลือออม แบบนี้ก็ควรต้องรอไปก่อน(หรือลดขนาดรถลงสักหน่อย) เพื่อไม่ให้กระทบสภาพคล่อง และกระทบกับความมั่นคงในท้ายที่สุด
หรือหากวันดีคืนดี นั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะ มีพี่ในแผนกเดินมาขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ของเขาให้หน่อย เราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่า ถ้าค้ำไปจะกระทบอะไรกับชีวิตเราบ้าง ห้ามประเมินแบบง่ายๆ ว่าพี่เขาเป็นคนดีคงไม่โกง ให้หาคำตอบของคำถามที่ว่า ถ้าพี่เขาโกง ความมั่นคงทางการเงินของเราจะหน้าตาเป็นยังไง
และเมื่ออายุมากขึ้น หากน้องคนนี้จะต้องสร้างครอบครัว ทุกการตัดสินใจไม่ว่าจะกู้เงินซื้อบ้าน เก็บเงินร่วมกับแฟนเพื่อจัดงานแต่งงาน ค่าเล่าเรียนของลูก เรียนต่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง ลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ ทั้งหมดที่มีเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้อง และทุกการเลือกมีผลต่อ สภาพคล่อง-ความมั่งคั่ง-ความเสี่ยง หรือเรียกรวมว่า ความมั่นคงทางการเงิน ของเราทั้งสิ้น
ตอนกิจการที่บ้านล้มละลายไปแล้ว ผมได้นั่งคุยกับคุณพ่อว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ท่านจะทำอะไร ท่านตอบว่าจะยอมแพ้ให้เป็น ขายทรัพย์สินบางส่วนและปิดกิจการไปเสีย ไม่เลือกรักษาหน้าเอาไว้ แล้วล้มกันทั้งบ้านแบบนี้ พ่อเล่าให้ผมฟังว่า ถ้าตอนนั้นยอมเจ๊ง ขายทรัพย์สินให้เจ้าหนี้ไปไม่กู้เงินสู้จนเละ ก็จะยังมีบ้านปลอดภาระให้เรา และมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งส่งให้น้องทุกคนเรียนจบได้ และที่สำคัญไม่ทำให้ผมต้องเป็นหนี้และเกือบเอาตัวเองไม่รอดในช่วงเวลานั้น
จากวันนั้นถึงวันนี้ทุกย่างก้าวที่ต้องตัดสินใจเรื่องเงิน ผมจะคิดถึง “ความมั่นคงทางการเงิน” อยู่เสมอ ตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังตัดสินใจว่า ถ้าทำไปแล้ว (1) จะกระทบกับสภาพคล่องของผมอย่างไร (2) จะกระทบกับแผนสะสมความมั่งคั่งของผมแค่ไหน และ (3) จะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นกับการเงินของผมในอนาคตหรือเปล่า ถ้ากระทบกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมก็จะกลับมาทบทวนและหาทางออก เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินของตัวเองเอาไว้
รวยเร็วหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าชีวิตต้องมั่นคงทางการเงินไปจนวันตาย
วันนี้ใครที่ยังไม่รวย อย่าไปกังวลครับ ถ้าทุกปีที่ผ่านไป เราระมัดระวังและดูแลเรื่องความมั่นคงทางการเงินอยู่ตลอด และสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องความร่ำรวยหรอกครับ เดี๋ยวมันมาเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี