กรณีสถานพยาบาล ดิ ไอคอน เวลเนสคลินิกเวชกรรม ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจพบว่า “บอสหมอเอก” แสดงตนมีบทบาทเป็นแพทย์ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย และนอกจากนี้ยังแสดงตนเป็นอินฟลูเอนเซอร์โฆษณาการให้บริการของสถานพยาบาลและผลิตภัณฑ์เสริมความงานและอาหารเพื่อสุขภาพ อันถือเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ปัญหารูปแบบของการโฆษณาบริการเสริมความงาม และอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รวมถึงสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามรูปแบบของการนำเสนอโฆษณาที่เป็นที่นิยมบนสื่อโทรทัศน์และทีวีดิจิทัล คือ การใช้ดารา หรือคนมีชื่อเสียงมาเป็นสื่อกลางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย อาจมีการใช้คำโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างอิงว่าตัวเองเป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและได้ผลจริง ในรูปแบบหนึ่ง
ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ การใช้บุคคลธรรมดาทั่วไป ซึ่งมีประสบการณ์จากการรับบริการสถานพยาบาลเสริมความงามหรือทดลองใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสุขภาพมาแล้วมาเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา โดยพูดถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาโรค ลดอาการเจ็บป่วยต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันการโฆษณาตามสื่อต่างๆ และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการบริการเสริมสวยหรือการเสริมความงามรวมถึงสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชนที่รับบริการเกี่ยวกับด้านดังกล่าว มักจะนิยมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำหน้าที่เป็นพิธีกรอินฟูลเอนเซอร์ทางอ้อม หรือเป็นอินฟูลเอนเซอร์โดยตรงในการโฆษณาสถานพยาบาลหรือคลินิก และรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแทนการโฆษณา โดยใช้ดาราหรือคนมีชื่อเสียง หรือบุคคลผู้เคยใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์มาเป็นสื่อกลางโฆษณา ซึ่งมีผลทำให้ได้เปรียบเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค
แพทย์หรือหมอ เป็นบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพในความหมายของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามความหมายในบทนิยามแห่งพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525
บุคคลในสาขาวิชาชีพนี้ มักเป็นคนเก่ง มีความรู้และความชำนาญ เสียสละและรับผิดชอบในการรักษาชีวิตบุคคลในสังคมในยามเจ็บป่วย จึงได้รับการยกย่องให้เกียรติความเชื่อถือและยอมรับจากสังคม
ผู้จบการศึกษาสาขาแพทยศาสตรบัญฑิต จะประกอบวิชาชีพแพทย์หรือหมอได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตที่เรียกว่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แผนปัจจุบัน) จากแพทยสภา และอาจได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะในสาขาต่างๆ จากคณะกรรมการวิชาชีพ เมื่อมีคุณสมบัติตามสาขานั้นๆ
แพทยสภา เป็นองค์กรซึ่งมีบทบาททำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพภายใต้อำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525 และรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมถึงการออกคำสั่งลงโทษทางจรรยาบรรณวิชาชีพเวชกรรม ในการสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือ เพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตลอดจนการรับรองปริญญา ประกาศนียบัตรในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพเวชกรรมของสถาบันต่างๆ เป็นต้น โดยมีการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการ เรียกว่า คณะกรรมการแพทยสภา
ปัญหาว่า หากสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงามหรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานผู้มีอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการโฆษณาสถานพยาบาล หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โฆษณาสถานพยาบาลโดยมิได้เป็นการโอ้อวดกิจกรรมของสถานพยาบาล อันจะทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริงการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเช่นนี้ จะถือว่าขัดต่อ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 หรือไม่
แม้แพทยสภามีอำนาจหน้าที่สอดส่องและวินิจฉัยออกคำสั่งลงโทษได้เอง โดยไม่จำต้องมีผู้ร้องเรียน แต่อาจเกิดปัญหาในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อบังคับแพทยสภา อันอาจส่งผลเสียและอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนรวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะได้เป็นวงกว้างต่อไปในอนาคต แต่บริบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะกำกับดูแลควบคุมได้ จะดำเนินการอย่างไร
จึงเป็นที่มาของประกาศแพทยสภา ที่ 39/2567 เรื่อง การโฆษณาเกี่ยวกับการเสริมสวยหรือการเสริมความงามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2567 และประกาศแพทยสภา ที่ 62/2567 เรื่อง เกณฑ์การกำหนดโทษทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับความผิดในการเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และความผิดต่อผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณา
ประกาศแพทยสภาทั้งสองฉบับ จึงเป็นมาตรการควบคุมมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนเองเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลโดยผิดกฎหมาย หรือการให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปฏิบัติงานแทน รวมทั้งมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง ให้ข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน หรือไม่เหมาะสม ตลอดจนมีการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณะในลักษณะที่ทำให้ทราบว่า ตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีการใช้ชื่อทางการค้าหรือชื่ออื่นใดของผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งทางตรง ทางอ้อม ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดในการให้ความรู้ในทำนองโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ ต่อประชาชนทั่วไป อันอาจส่งผลเสียและอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะได้เป็นวงกว้าง
แม้ประกาศแพทยสภาทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่ คงต้องรอดูต่อไปว่า แพทยสภาจะบังคับใช้เรื่องนี้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างจริงจังขนาดไหน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี