ปัจจุบัน “ทนายความ” เป็นวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับธุรกิจในทุกวงการ ทั้งการให้คำแนะนำปรึกษาด้านกฎหมาย บริการสาธารณะ ตลอดจนว่าความในศาล ให้แก่ลูกความของตน ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ในการใช้สิทธิทางศาลในอรรถคดีต่างๆ
ทนายความยังเป็นเสมือนกลไกหนึ่งของสังคม ที่ช่วยผดุงความสุจริตและความเป็นธรรมให้แก่สังคม โดยผ่านการบังคับใช้กฎหมาย แม้ช่วงหลังมีกระแสข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการทำงานของทนายความ ที่สังคมตั้งคำถามว่า หลายกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทนายความ สภาทนายความ
ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแล และควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ ควรจะเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง หรือไม่ ? ทั้งที่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อย มิใช่ทนายความส่วนใหญ่ของประเทศ
การประกอบอาชีพของทนายความ เป็นวิชาชีพอิสระที่สงวนไว้ให้แก่คนในชาติ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมรรยาท (จรรยาบรรณ) และมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ (มาตรา 8 แห่งพ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528) เช่นเดียวกับวิชาชีพสาขาอื่นๆ
สภาทนายความ เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจหน้าที่ขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตการเป็นทนายความให้แก่บุคคลผู้มีคุณวุฒิที่ไม่ต่ำกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขานิติศาสตร์ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมและผ่านหลักสูตรการอบรม มรรยาทของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความตามที่สภาทนายความกำหนด (มาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2528 ประกอบข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยใบอนุญาตให้เป็นทนายความ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535)
ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความจะต้องปฏิบัติตามหลักมรรยาททนายความอันเป็นมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพทนายความตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วย มรรยาท ทนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งเกี่ยวด้วยแนวทางประพฤติปฏิบัติต่อศาล ตัวความ ทนายความด้วยกันเองและประชาชนผู้มีอรรถคดีโดยทั่วไป ในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจหรือประพฤติตนไม่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความวิชาชีพ ทั้งส่วนตัวและภาพรวม
หากจงใจฝ่าฝืนเกิดความเสียหายเดือดร้อนต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ อาจถูกผู้เสียหายร้องเรียนต่อคณะกรรมการมรรยาททนายความของสภาทนายความให้สอบสวน พิจารณาลงโทษทางมรรยาททนายความได้
การพิจารณาสอบสวนความผิดทางมรรยาททนายความนั้นมีขั้นตอนและกระบวนการเฉพาะกำหนดไว้ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ. 2546
โทษประพฤติผิดมรรยาททนายความมี 3 สถาน คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนด ไม่เกินสามปี และ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
การโฆษณาหรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณา ที่เกี่ยวด้วยค่าจ้างบริการทนายความ แสดงพฤติกรรม ในเชิงการโอ้อวด อวดอ้าง ยกย่องสรรพคุณของตนเอง เพื่อประโยชน์การรับเป็นทนายความ เป็นข้อต้องห้ามทางมรรยาททนายความ ตลอดจนการรับเป็นทนายความให้แก่คู่ความฝ่ายปรปักษ์ที่เคยรับเป็นทนายความให้ (คำพิพากษาฎีกา 680/2489)ถือเป็นข้อต้องห้ามทางมรรยาททนายความ
ประเด็นสัญญาจ้างว่าความนับว่าเป็นประเด็นร้องเรียนที่เป็นปัญหามากที่สุด แม้ค่าตอบแทนจะถือเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่วัตถุประสงค์สัญญาแท้จริงคือการให้บริการว่าความและคุ้มครองความลับของลูกความและความวางใจที่ได้มอบหมายให้แก่ทนายความเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกความ อันถือเป็นมรรยาทที่สำคัญที่สุด เงินหรือทรัพย์สินใดที่ได้รับจากคู่ความฝ่ายตรงกันข้าม แล้วยึดหน่วงไว้หรือหักกลบเป็นค่าตอบแทน ถือเป็นเรื่องฝ่าฝืนมรรยาททนายความ (คำสั่งสภาทนายความแยกพิเศษ แห่งสภาทนายความที่ 3/2531, 12/2533, 19/2534)
สัญญาค่าจ้างว่าความซึ่งเป็นค่าตอบแทน ทนายความเรียกเก็บได้ตามทุนทรัพย์ในคดีที่พิพาท ในอัตราตามที่ตกลงกัน
การประกอบอาชีพทนายความ แม้จะเป็นอาชีพอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทนายความจะดำเนินการตามอำเภอใจ ทนายความต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี