ในการบริหารจัดการเรื่องเงิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือ กิจการใดๆ “สภาพคล่อง” คือ หัวใจสำคัญอันดับแรก
สำหรับมนุษย์เงินเดือน สภาพคล่อง หมายถึง มีกินมีใช้ มีเหลือเก็บ มีเหลือลงทุน (สมัยนี้คนส่วนใหญ่หักออมก่อนใช้)
ถ้าเป็นกิจการ สภาพคล่องที่แท้จริง ก็คือ กำไร (บางคนก็มีสภาพคล่องจากการกู้ยืมเงินมาหมุนเวียน อันนี้ต้องระวัง!)
ทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับน้องๆที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน คำถามหนึ่งที่จะถูกถามเสมอก็คือ “เริ่มต้นบริหารเงินต้องทำยังไง?” คำตอบประจำของผมจึงหนี้ไม่พ้น “บริหารเงินให้มีกระแสเงินสดคงเหลือ” หรือให้มีสภาพคล่องนั่นเอง
การบริหารเงินให้มีกระแสเงินสด ถือเป็นหัวใจพื้นฐานที่สำคัญ เพราะนอกเหนือไปจากการกินใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ถ้าเรามี “เงินเหลือ” เงินก้อนนี้ก็จะกลายเป็นทุนเตรียมพร้อมไว้สำหรับเรื่องการเงินอื่นๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
เงินทุนจัดการความเสี่ยง (ประกัน) เงินเก็บเพื่อเป้าหมายระยะสั้น หรือเงินเก็บเพื่อความมั่งคั่งหรือเกษียณ
คำถามถัดมาที่มักถูกถามอีกเหมือนกัน ก็คือ แล้วถ้าเงินเดือนน้อย กินก็แทบไม่พอ จะบริหารยังไงให้มีเงินเก็บเงินออม
สมัยเริ่มต้นทำงานผมเองก็เจอปัญหาแบบนี้ เงินเดือนเริ่มต้น 14,000 บาท ไหนจะภาระดูแลตัวเอง ไหนจะต้องช่วยที่บ้าน คิดยังไงเงินเดือนที่ได้ก็ไม่พอแน่ๆ ผมจึงเริ่มเปลี่ยนโจทย์ใหม่ตั้งคำถามใหม่กับตัวเอง
“แล้วต้องมีรายได้เท่าไหร่ล่ะถึงจะพอ”
ผมนั่งทำตัวเลขรายจ่ายก่อน (เขาว่ากันว่า การออกแบบรายจ่าย คือ การออกแบบชีวิต) ดูว่าค่าเดินทาง ค่ากินใช้แต่ละเดือนเป็นเท่าไหร่ บวกตัวเลขที่ต้องช่วยที่บ้าน สรุปแล้วแต่ละเดือน “เราต้องใช้เงินเท่าไหร่กันแน่”
โดยสรุป เงินที่เจ้านายให้ ดูยังไงก็ไม่พอ แต่แล้วยังไง ด้วยความเป็นเด็กเรียนจบใหม่ในตอนนั้น จะไปขอเงินเดือนเพิ่มก็คงไม่ได้ คิดจะมองหาหรือย้ายงานช่วงเวลานั้น (ช่วงปี 2540) งานก็หายากเหลือเกิน ก็เลยคิดแก้ปัญหาที่ตัวเอง เพราะจะว่าไปเงินที่ไม่พอใช้ ยังไงก็เป็นความรับผิดชอบของเรา
เลยเริ่มหารายได้เสริม งานแรก คือ สอนพิเศษตอนเย็นและเสาร์-อาทิตย์ สมัยนั้นอาศัยสอนตามร้านแม็คโดนัลด์เบอร์เกอร์คิง (สมัยนี้เค้าคงไม่ให้นั่งแช่แบบนั้นแล้วหรือเปล่า) สอนน้องมัธยมครั้งละ 3-4 คน ครั้งละ 2 ชั่วโมง หลายกลุ่มหน่อยก็พอได้เงินใช้เพิ่ม และมีกระแสเงินสดเพิ่มบ้าง จากนั้นก็มองหางานอื่นๆ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ
ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจ ผมเองก็คิดเรื่อง “กระแสเงินสด” อยู่ตลอด คำสอนคำนึงที่ได้ยินอยู่เสมอ ก็คือ ธุรกิจอาจขาดทุนได้บ้างเป็นครั้งคราว แต่อย่าปล่อยให้ขาดเงิน เพราะถ้าขาดเงิน ยังไงก็ต้องปิดกิจการ
ขาดเงิน - ขาดสภาพคล่อง
ทุกครั้งที่ทำธุรกิจ ผมจึงความสำคัญกับกระแสเงินสด ทำงบประมาณเงินสดอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ขายดีมีกำไรก็จะเก็บ ก็จะสะสมไว้ คอยดูเรื่องการจ่ายเงินตลอด ไม่ให้เงินช็อตในทางตรงกันข้าม ถ้าธุรกิจมีปัญหา ดูท่าจะไม่รอด ผมจะประเมินสถานการณ์ตามจริง ถ้าคิดทุกแง่ทุกมุมแล้วไม่รอดจริงๆ ต้องปิดกิจการ ก็จะยอมปิด ไม่ค่อยทู่ซี้ (ที่ผ่านมาผมปิดกิจการมาแล้วหลายกิจการ 555) แล้วหาอะไรทำใหม่เอา
ทุกวันนี้ผมก็ยังบริหารทั้งการเงินส่วนตัว และกิจการ โดยอาศัยหลักการง่ายๆ แบบนี้ กิจการอาจดูไม่ใหญ่ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่สบายใจ เพราะมั่นใจว่าเตรียมตัวไว้พร้อม ระวังทุกช่วงเวลาไม่ให้การเงินสะดุด
ผมเชื่อเสมอว่า หัวใจของความมั่งคั่ง เริ่มต้นที่ “สภาพคล่อง”พอมีสภาพคล่อง มีเงินเหลือสะสม เราก็จะต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่งได้ง่าย
ตรงกันข้ามหากไม่ระมัดระวัง ปล่อยให้สภาพคล่องอยู่ในสภาวะเสี่ยง การเงินสะดุดขึ้นมา เข้าสู่วงจรกู้ยืมเพื่อเอาตัวรอดก็มีหลายคนที่การเงินไม่รอด และอาจไม่กลับมาอีกเลย (ครอบครัวผมเองในอดีตก็เกือบไปเหมือนกัน)
ทุกครั้งที่คิดจะบริหารเงิน ดูแลเรื่องพื้นฐานอย่างสภาพคล่องให้ดี ทำให้ชีวิตมีกระแสเงินสดคงเหลือตลอดเวลา แม้จะไม่รวยมาก แต่ก็ไปรอดและไปได้เรื่อยๆ ครับ
#TheMoneyCoachTH #มันนีโค้ชออนสเตท #mcos9 #เราทุกคนคือมันนีฮีโร่
เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของผู้คนที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน จะถูกหยิบมาถ่ายทอดในทอล์กโชว์ Money Coach on Stage #9 เราทุกคนคือมันนีฮีโร่ แล้วพบกัน 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 น.และ 19.00 น. ที่พารากอนซินิเพล็กซ์ จองบัตรได้ที่ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์
มาเรียนรู้เรื่องการเงินจากชีวิตจริง ไปด้วยกันนะครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี