nn ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ขยายตัว ต่อเนื่องที่ 9.8% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว และขยายตัว 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 9% และ 7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่26.0%YoY และ 23.4%YoY ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด (สัดส่วน 27% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร) หดตัวต่อเนื่องที่ -9.6%YoY จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในไทยและการแข่งขันในตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดหลักอย่างจีนลดลง
หมวดสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.0 % YoY (สัดส่วนราว 54% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร) โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (25.2%YoY) ไก่ (5.8%YoY) และยางพารา (55.9%YoY) ซึ่งเป็นผลจากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคำสั่งซื้อยางตามมาตรฐาน EUDR ที่เติบโต ขณะที่กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (-15.7%YoY) เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในไทยและลาว ทำให้การส่งออกผลไม้ผ่านแดนไปจีนลดลง และมันสำปะหลัง (-16.3% YoY) เนื่องจากผลผลิตมีจำกัดจากปัญหาโรคใบด่างและปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 13.2%YoY (สัดส่วนราว 46%) โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (18.8%YoY) สิ่งปรุงรสอาหาร (4.4%YoY) และอาหารสัตว์เลี้ยง (24.3%YoY) จากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัวได้แก่ น้ำตาลทราย (-23.6%YoY) เนื่องจากราคาส่งออกที่ปรับลดลง และปริมาณส่งออกได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง
ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2568-2569 เช่น ข้าว ในปี 2568 คาดว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ราว 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง -25%YoY จากปริมาณการส่งออกข้าวที่ลดลงมาอยู่ที่ราว 7.8 ล้านตัน หรือลดลง-18.1%YoY จากนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียที่ผ่อนคลายลง ทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำข้าวไทยทดแทนอินเดียหมดลง และส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วนในปี 2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ราว 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง -6%YoY โดยในแง่ปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ราว 7.6 ล้านตัน หรือลดลง -2.7%YoY จากแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำกว่าของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และจุดขายของสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่เป็นจุดแข็งในการส่งออก เนื่องจากข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามมีราคาถูกและรสชาติดีกว่า
ยางพารา ในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกยางแผ่นและยางแท่งจะอยู่ที่ 3.80 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 3.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง -11.6% YoY และ -1.5%YoY ตามลำดับ ตามราคาส่งออกยางแผ่นยางแท่งที่ปรับตัวลดลง -16.6%YoY และ -5.5%YoY จากผลผลิตยางพาราตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่คลี่คลาย และยังต้องติดตามความรุนแรงของปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจทำให้การส่งออกยางแผ่นยางแท่งของไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาด
มันสำปะหลัง ตั้งแต่ปี 2568-2569 ผลผลิตมันสำปะหลังคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อีกทั้งการควบคุมการระบาดของโรคใบด่างให้อยู่ในวงจำกัดมากขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตเพียงพอต่อการส่งออกเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในจีนที่ยังมีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น คาดว่า ในปี 2568-2569 มูลค่าการส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดจะอยู่ที่ราว 593 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 640 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 22%YoY และ 8%YoY ตามลำดับ โดยปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 2.8 ล้านตัน และ 3.1 ล้านตัน ขยายตัว 25%YoY (ขยายตัวสูงจากฐานที่ต่ำในปี 2567) และ 10%YoY ตามลำดับ แต่ก็เป็นระดับการส่งออกที่ไม่ได้สูงกว่าช่วง Peak ในช่วงปี 2564-2565
ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 11.3%YoY และ 9.8%YoY ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากปริมาณผลผลิตผลไม้ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาทุเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนของชาวจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างไรก็ดี การส่งออกไปจีนเผชิญปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ภายหลังมาเลเซียสามารถส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 ขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์เร่งขยายการส่งออกทุเรียน ซึ่งอาจทำให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ในปี 2568-2569 คาดว่า มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4,528 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 4,844 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 7.4%YoY และ 7.0%YoY ตามลำดับ และปริมาณการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปจะอยู่ที่ 1.16 ล้านตัน และ 1.21 ล้านตัน หรือขยายตัว 3.6%YoY และ 4.3%YoY ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัว ตามการเติบโตของการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหาร เช่นเดียวกับการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่ยังขยายตัว ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคอาหารพร้อมทาน รวมทั้งการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะช่วยหนุนการนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ได้รับผลดีจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน และ การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น รวมถึงการระบาดของไข้หวัดนกในออสเตรเลีย ส่งผลให้สหรัฐฯ ระงับนำเข้าสัตว์ปีกของออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกไก่ของไทยเพื่อเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าส่งออกของออสเตรเลียได้
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2568 จะขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น 1.นโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งการที่สหภาพยุโรปได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีน ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนอย่างยางพาราที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนสูงถึงราว 40% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทย 2.ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น อาจกดดันต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทจะทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทมีแนวโน้มลดลง และอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
3.ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ อาจกระทบต่อต้นทุนการส่งออก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าขนส่งทางเรือที่แม้มีแนวโน้มลดลงในปี 2567-2568 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง นอกจากนี้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์มีความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าในกลุ่มข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น 4.ปัจจัยท้าทายจากมาตรการสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products: EUDR) แม้ว่าล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย EUDR ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค. 2567 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนและเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย EUDR ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการส่งออกของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา และปาล์มน้ำมัน
5.สภาพอากาศที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรในหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียทยอยเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทำให้คู่ค้ามีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการผ่อนคลายนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศต่างๆ เช่น นโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่มีการผ่อนคลายลงในช่วงเดือนต.ค. 2567 จะเป็นปัจจัยกดดันราคาข้าวตลาดโลกในระยะข้างหน้า เป็นต้น
** Krungthai COMPASS **
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี