การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ พรรครีพับลิกัน มีชัยชนะเหนือ กมลา แฮร์ริส พรรคเดโมแครต
แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐจะดูเหมือนว่า เป็นการเลือกตั้งทางตรงที่ให้ชาวสหรัฐไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ กลับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม
ชาวสหรัฐไปใช้สิทธิออกเสียง เพื่อเลือกคณะผู้แทนในแต่ละมลรัฐที่แสดงเจตนาไว้ชัดเจนล่วงหน้าว่า เมื่อคณะผู้แทนได้รับเลือกแล้ว จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลือก ทรัมป์ หรือ แฮร์ริสเป็นประธานาธิบดี คะแนนคณะผู้แทนนี้ เรียกว่า Electoral Vote ซึ่งทรัมป์ได้ 312 คะแนน แฮร์ริสได้ 226 คะแนน ทรัมป์จึงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐตามรัฐธรรมนูญ
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐ ยังเปิดโอกาสให้ชาวสหรัฐลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง ที่เรียกกันว่า Popular Vote ซึ่งไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ โดยมากผลการเลือกตั้งตาม Electoral Vote จะสอดคล้องกับ Popular Vote
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีมีชัยชนะเหนือ ฮิลลารี่คลินตัน ทรัมป์ได้คะแนน Electoral Vote มากกว่า ในขณะที่ ฮิลลารี่ คลินตัน ได้คะแนน Popular Vote มากกว่า ทรัมป์จึงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐตามรัฐธรรมนูญสหรัฐในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่นานๆ จะเกิดขึ้นเสียทีหนึ่ง
สาเหตุที่ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เพราะชาวสหรัฐส่วนใหญ่ คิดว่า ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันแห่งพรรคเดโมแครต มีความไม่พร้อมเนื่องจากอายุมาก แฮร์ริสจึงเป็นผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของพรรคเดโมแครต
ทำให้ภาพของแฮร์ริส ที่ชาวสหรัฐมองดูคล้ายกับ ไบเดนพอสมควร ในลักษณะที่แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ไม่ดีพอ ผู้อพยพต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐมาก จนกลายเป็นคนไร้บ้านซึ่งอาศัยตามถนนในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่ง สร้างปัญหามากมาย
ในขณะที่ทรัมป์ ประกาศนโยบายหาเสียงที่ชัดเจน และโดนใจชาวสหรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน, นโยบายการลดอัตราการว่างงานในประเทศ ส่งผลให้บรรดาชาวอเมริกันต่างเชื้อสายในประเทศ ชาวผิวสี หรือชาวละติน ลงคะแนนให้ทรัมป์, นโยบายการลดอัตราการว่างงานในประเทศ ส่งผลให้บรรดาชาวอเมริกันต่างเชื้อสายในประเทศ ชาวผิวสี หรือชาวละติน ต่างเทใจลงคะแนนให้ทรัมป์, เนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย, ยุติสงครามยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง, ปฏิรูปเศรษฐกิจ, กำหนดเกณฑ์ภาษีศุลกากรใหม่, ไม่ลงนามกฎหมายมลรัฐกลางว่าด้วยการทำแท้งเสรี, ยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่บังคับใช้อยู่อันเป็นอุปสรรคในการเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในสหรัฐจากการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อาร์กติกเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐ, อภัยโทษผู้ก่อจลาจลในเหตุการณ์จลาจลวันที่ 6 มกราคม 2564 ที่ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมด้วย
แม้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ยังมีคดีอาญาติดตัวอยู่หลายคดี เช่น คดีให้ข้อมูลธุรกิจเท็จ กระทำความผิดถึง 34 กระทง ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงิน 130,000 ดอลลาร์ ให้แก่ดาราหนังเอ็กซ์, คดีสมรู้ร่วมคิดล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2563, คดีสมรู้ร่วมคิดกับผู้สนับสนุนกว่า 12 คน ไม่ยอมรับว่า แพ้การเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐในรัฐจอร์เจีย, คดีจงใจเก็บเอกสารความมั่นคงแห่งชาติไว้หลังพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี และขัดขวางความพยายามเก็บเอกสารคืน เป็นความผิดหลายสิบกระทง ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง จะดำเนินการกันอย่างไรต่อไป
ผู้สนับสนุนทรัมป์ ที่มีสีสันมากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้คือ อีลอน มัสก์ เจ้าของผู้ผลิตรถไฟฟ้า เทสล่า, บริษัทสเปซเอ็กซ์, ทวิตเตอร์ หรือ เอ็กซ์ ในปัจจุบัน
อีลอน มัสก์ บริจาคเงินสนับสนุนให้แก่ ทรัมป์ ในการหาเสียงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นจำนวนเงินสูงถึง 118.6 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4,000 ล้านบาท
ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง อีลอน มัสก์ ได้ประกาศจะจ่ายเงินวันละ 1 ล้านดอลลาร์ ให้สุ่มเป็นรางวัลแก่ผู้ที่ลงทะเบียนชื่อ เพื่อใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดี
คล้ายกับการให้โชคด้วยการออกลอตเตอรี่ ในรัฐที่ฐานคะแนนเสียงไม่แน่นอน (Swing State) ว่า จะเลือกใครเป็น ประธานาธิบดี เช่น รัฐเพนซิลเวเนีย, จอร์เจีย, เนวาดา, แอริโซนา ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งสหรัฐ ผู้ที่จะใช้สิทธิลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง จะต้องลงทะเบียนชื่อผู้มีสิทธิก่อน
ได้มีผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวหลายราย รายละ 1 ล้าน ดอลลาร์ จริง หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายเลือกตั้งสหรัฐ
กรณีนี้นักกฎหมายได้ถกเถียงกันมาก ฝ่ายที่สนับสนุนการกระทำนี้ อ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะต้องลงทะเบียนชื่อแล้ว จึงจะมีสิทธิได้รับการสุ่มชื่อ และไม่ได้มีโอกาสแน่นอนว่าจะได้รับเงินทุกคน อีกทั้งยังอ้างว่าเป็นการสนับสนุนรัฐธรรมนูญสหรัฐ ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่ความจริงแล้ว มีอิทธิพลต่อการจูงใจให้สนับสนุนและเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ตามความประสงค์ของเจ้าของเงิน หากเป็นการกระทำในประเทศไทย จะถือว่าเป็นการผิดกฎหมายเลือกตั้ง
อัยการรัฐเพนซิลเวเนียได้ยื่นคำร้องต่อศาลมลรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อขอให้ไต่สวน เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง แต่ฝ่าย อีลอน มัสก์ พยายามดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้คดีย้ายจากศาลมลรัฐ ไปยังศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐ หรือ Federal Court บังเอิญโชคเข้าข้างทรัมป์ ผู้พิพากษาศาลมลรัฐได้สั่งให้จำหน่ายคดีออกจากศาลชั่วคราว เปิดทางให้ อีลอน มัสก์ แจกเงินต่อได้ ยิ่งเข้าทาง ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ เข้าไปอีก เพราะกว่าคดีจะถึงที่สุด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็จะเสร็จไปเรียบร้อยก่อนแล้ว
การที่อีลอน มัสก์ ทุ่มเงินสนับสนุนทรัมป์เป็นประธานาธิบดี อย่างมากมาย เพราะจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาอย่างมหาศาล เนื่องจากอีลอน มัสก์ เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าเทสล่าของสหรัฐ ที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก แต่เคยสูญเสียตำแหน่งในการจำหน่ายมากที่สุดในโลกให้แก่รถรถไฟฟ้าจีนยี่ห้อ BYD มาแล้ว อีกทั้งทรัมป์ได้ประกาศนโยบายหาเสียงว่าจะขึ้นกำแพงภาษีหรือเรียกเก็บภาษีรถไฟฟ้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในสหรัฐ 60%-100% แสดงว่า อีลอน มัสก์ จะมีแต่ได้กับได้ ซึ่งจะได้มากกว่าที่เสียไปอีกหลายเท่า
ล่าสุด ทรัมป์ ได้ประกาศว่า เมื่อรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะแต่งตั้งให้ อีลอน มัสก์ เป็นรัฐมนตรี กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล เพื่อควบคุมและหาทางตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐบาล ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ล่าสุด
การเมืองของสหรัฐ คล้ายกับการเมืองของประเทศไทย ที่ผู้บริจาคเงินรายใหญ่บางรายให้แก่พรรคการเมือง ย่อมมีเสียงดัง มีสิทธิ มีเสียง และมีโอกาสได้รับตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง จนได้ไปรัฐมนตรี
ที่สำคัญที่สุดคือ ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับคืนมาจะมากมายมหาศาลอีกหลายเท่าตัว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี