nn ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับสาธารณชน (IPO) จำนวน 122 บริษัท โดยระดมทุนได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO จะยังคงมีปริมาณสูงแต่จำนวนเงินทุนที่ระดมทุนได้มีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 163 บริษัทในปี 2566 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของกิจกรรม IPO ในภูมิภาค เกิดจากการขาดการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่โดยในปี 2567 มีเพียงการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทเดียวเท่านั้นที่สามารถระดมทุนได้เกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ปี 2566 ที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่ถึง 4 บริษัท
ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับตลาดทุนทั่วโลก มาเลเซียกลับโดดเด่นในการเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทั้งสามด้าน กล่าวคือ จำนวนการเสนอขายหุ้น IPO มูลค่าการระดมทุน และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหมวดอุตสาหกรรมหลักที่ครองตลาดในภูมิภาคนี้ ได้แก่ หมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค และทรัพยากรและพลังงาน โดยคิดเป็น52% ของจำนวนบริษัทที่มีการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมดและ 64% ของมูลค่าการระดมทุน IPO ทั้งหมด
หมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโต GDP ในภูมิภาค ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีฐานะมั่งคั่งมากขึ้นและมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น เมื่อระดับรายได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเหล่านี้สามารถตัดสินใจเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น เลือกซื้อผลิตภัณฑ์พรีเมียม และแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ หมวดอุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานหมุนเวียน ยังคงเป็นจุดสนใจหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากภูมิภาคกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ความเท่าเทียม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันต้องมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนมากขึ้น พร้อมกับการสร้างสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น
ปี 2567 เป็นปีที่โดดเด่นสำหรับตลาด IPO ของมาเลเซีย โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด จำนวน 46 บริษัทในปี 2567 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2549 เพิ่มขึ้นจาก 32 บริษัท ในปี 2566 มูลค่าการระดมทุนรวมผ่านการเสนอขายหุ้น IPO อยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน และสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ตลาดหลักทรัพย์ ACE ของมาเลเซีย ยังคงครองส่วนแบ่งการเสนอขายหุ้น IPO ในปีนี้ โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 34 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การเปิดตัวตลาด ACE ในปี 2552 โดยรวมแล้ว ทั้งสามตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซียมีผลงานดีกว่าปีก่อน
แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO ในประเทศไทยจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีเพียง 29 บริษัท ในปี 2567 จำนวนเงินที่ระดมทุนได้ทั้งหมดอยู่ที่ 756 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนเงินที่ระดมทุนในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยติดหนึ่งในสามของตลาด IPO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าความท้าทายจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงอยู่ แต่ตลาดทุนมีการเติบโตและฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากการกำกับดูแลที่ดีและความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้ตลาดในประเทศไทยโดยมีจำนวน IPO ที่จะเกิดขึ้น ที่จะมาจากหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ตลาด IPO ของอินโดนีเซียมีการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 39 บริษัท ระดมทุนได้ 368 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 เมื่อเทียบกับการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 79 ครั้ง ระดมทุนได้ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดทั้งปี 2566 บริษัทขนาดเล็กได้เปิดตัวการเสนอขายหุ้น IPO ด้วยเป้าหมายการระดมทุนที่เป็นไปอย่างรอบคอบเน้นความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากปี 2567 เป็นปีการเลือกตั้งในประเทศ บวกกับความไม่แน่นอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากปัจจัยลบของตลาดโลก สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO 10 อันดับแรกที่ระดมทุนได้สูงสุด พบว่าหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค และทรัพยากรและพลังงาน มีสัดส่วนถึง 9 ใน 10 ของการระดมทุนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สามารถสร้างความมั่นคงได้ในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากฐานผู้บริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน หมวดอุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากร ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของตลาด IPO ในอินโดนีเซีย แม้ว่าจำนวนการเสนอขายหุ้น IPO โดยรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566
ในช่วง 10 เดือนครึ่งของปี 2567 เวียดนามมีการเสนอขายหุ้น IPO เพียงหนึ่งรายซึ่งระดมทุนได้ประมาณ 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่น่าทึ่งคือ IPO รายนี้เป็นการระดมทุนครั้งแรกในหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงินของเวียดนาม และมีผลตอบแทนเหนือกว่าตลาดหุ้นเวียดนามตลอดทั้งปี 2566 และมากกว่ามูลค่าเฉลี่ยของ IPO ตั้งแต่ปี 2564-2566 ถึงประมาณ 5 เท่า ส่วนสิงคโปร์มีการเสนอขายหุ้น IPO บนกระดาน Catalist จำนวน 4 บริษัท ซึ่งระดมทุนได้ประมาณ 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้ง 4 เป็นบริษัทที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการจดทะเบียนหลักทรัพย์ในตลาดรอง 2 บริษัทจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ได้แก่ Helens International Holdings ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งการลงทุนของจีนที่ดำเนินธุรกิจบาร์และแฟรนไชส์เป็นหลัก และ PC Partner Group Limited ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
“เมื่อมองไปยังอนาคตของตลาด IPO ในภูมิภาคอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลงควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง อาจสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสนอขายหุ้น IPO ในปีต่อๆ ไป ฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การเพิ่มขึ้นของชั้นกลาง และความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในภาคสต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และพลังงานหมุนเวียน ยังคงดึงดูดนักลงทุน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้ ปี 2568 จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของกิจกรรม IPO ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
** ดีลอยท์ เซาท์อีสท์ เอเชีย **
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี