ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Bank of Thailand : BOT” คนทั่วไปจะเรียกกันติดปากว่า แบงก์ชาติ เมื่อกล่าวถึง แบงก์ชาติ กับ ชาวต่างชาติ โดยใช้คำว่า Bank of Thailand อาจเกิดความสับสนขึ้นได้ เพราะชาวต่างชาติส่วนมากจะไม่นึกถึง แบงก์ชาติ แต่อาจจะเข้าใจโดยหลงผิดว่า เป็นธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่มีชื่อว่า Bank of Thailand
กรณีนี้จะตรงกับกรณีที่ ธนาคาร Bank of America ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจแบบเอกชน และมีสาขาในประเทศไทย โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับแบงก์ชาติ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ชื่อเป็นทางการว่า The Federal Reserve
แบงก์ชาติของไทย น่าจะใช้ชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bank Authority of Thailand จะตรงและสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่า แต่ในเมื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bank of Thailand มาเป็นเวลานานแล้ว หากจะเปลี่ยนเป็น Bank Authority of Thailand อาจจะยิ่งสร้างความสับสนหนักขึ้นอีก
แบงก์ชาติ หรือ ธนาคารกลาง ของไทย มิได้ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินโดยทั่วไป แต่เป็น “องค์กรอิสระ” ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย ให้มีความเป็นเสถียรภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวมอย่างยั่งยืน เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล รวมถึงเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกำหนดนโยบายการปฏิบัติ การกำหนดมูลค่าออกธนบัตร และการให้บริการด้านการเงินการแลกเปลี่ยนเงินตรา และโดยเฉพาะ อัตราดอกเบี้ย ทั้งเงินฝากและเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้าผู้มาใช้บริการอีกด้วย
เหล่านี้ล้วนมีผลต่อความเป็นไปได้ในเชิงรูปธรรมของการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศของรัฐบาลไทยอันสืบเนื่องมาจากนโยบายวินัยด้านการเงินการคลังในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศอันเป็นบทบาทอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังอีกด้วยเช่นกัน
แบงก์ชาติเป็นองค์กรอิสระตามมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ สำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไปในทิศทางที่มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน (ซึ่งรวมไปถึงความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน) ทางเศรษฐกิจด้านการเงิน หรือใช้จ่ายขาดดุล จนเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ หรือล้มละลาย ที่ผ่านๆ มาจึงมักจะพบว่า หากนโยบายเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาลในเรื่องใด จะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินที่เกี่ยวด้วยกองทุนสำรองแล้ว จะพบว่า มักจะมีข้อขัดแย้งในหลักการกับนโยบายการบริหารจัดการบ้านเมืองที่เกี่ยวด้วยด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล(ซึ่งความรับผิดชอบตามวาระสมัย) อยู่เสมอ อันเป็นเรื่องปกติตามหลักปฏิบัติสากลแห่งนานาอารยประเทศ หากความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ไม่เกินระดับที่รับได้ มิได้ถึงขั้นแทรกแซง ก็จะเป็นที่ยุติ นโยบายดำเนินการได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์พันธกิจของรัฐบาลในวาระนั้น
ธปท. ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ ธปท. โดยมีบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก และรับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ธปท. โดยมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าการ ธปท) เป็นรองประธานกรรมการโดยตำแหน่งในคณะนี้ มีคณะกรรมการเฉพาะด้านอีก 3 คณะ ซึ่งมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน, คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน
การเข้าสู่ตำแหน่งของ ประธานคณะกรรมการธปท. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยคณะกรรมการคัดเลือกลงมติคัดเลือก จากรายชื่อบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ตามจำนวนรายชื่อที่ผู้ว่าการธปท. และปลัดกระทรวงการคลังนำเสนอ
ในรอบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ แบงก์ชาติ ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่รัฐบาลต้องการให้ลดลงต่ำกว่า 2.5% ตั้งแต่รัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จนถึงนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีทั้งกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเจรจากับธนาคารพาณิชย์เอง หรือรัฐมนตรีบางคนพูดจาด้อยค่าผู้ว่าการแบงก์ชาติอย่างไม่ให้เกียรติ แต่ในที่สุด แบงก์ชาติได้ลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายลง 0.25% อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็น 2.25%
มุมมองของรัฐบาลและแบงก์ชาติแตกต่างกัน รัฐบาลอาจมองการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนเฉพาะหน้า จึงต้องการเร่งให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่แบงก์ชาติจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้านในระยะยาว การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แม้อาจมีผลดีระยะสั้น แต่อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศระยะยาวในการที่มีเงินทุนไหลเข้าออกประเทศเป็นจำนวนมากเกินไป
ล่าสุดได้มีความพยายามของฝ่ายรัฐบาล ผลักดัน และเสนอชื่อให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานแบงก์ชาติ หรือประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จนออกหน้าออกตา เป็นที่ผิดสังเกต จนเกินพอดี
เริ่มตั้งแต่ กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดไม่สั่งตรวจสอบการระบายข้าวเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในยุคจำนำข้าว แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่ง ไม่อุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เปิดทางให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าแข่งขันเป็นประธานแบงก์ชาติ
แม้กิตติรัตน์ ณ ระนอง จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานแบงก์ชาติ โดยที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง ยังมีข้อสังเกตว่า ต้องห้าม ในการเข้ารับตำแหน่งหรือไม่ เพราะเพิ่งพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ไม่ถึง 1 ปี
นอกจากนี้ ยังถูกนักร้องระดับชาติ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะจองกฐินไว้ล่วงหน้าขอให้ตรวจสอบ กรณีที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2555 ว่าจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 31/2567 ด้วยหรือไม่ ? ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุจริตสนามฟุตซอล
มีผู้ตั้งข้อสังเกต และข้อสงสัยว่า หากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ภายใต้ความสนับสนุนของพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ก้าวขึ้นเป็นประธานแบงก์ชาติ
(1) จะมีส่วนผลักดันให้แบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยแก้ไขกฎหมาย ที่เคยเป็นองค์กรอิสระและเป็นกลางมาโดยตลอด จำเป็นจะต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลผู้บริหารประเทศ หรือไม่ ?
(2) รัฐบาลผู้บริหารประเทศ กำลังคิดอะไรอยู่กับ ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Gross International Reserves) ที่อยู่ในความดูแลของแบงก์ชาติในขณะนี้ เป็นจำนวนเงินสูงถึง 236,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เก็บไว้เพื่อหนุนหลังประเทศไทยในยามที่เศรษฐกิจวิกฤตหรือตกต่ำ และขณะนี้ยังไม่ได้ใช้ทำอะไร รัฐบาลอาจจะต้องการนำเงินจำนวนนี้เพื่อมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศ แต่หากประเทศเกิดเศรษฐกิจวิกฤตหรือตกต่ำอย่างกะทันหันแบบไม่คาดคิด เช่น กรณีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แล้วรัฐบาลนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศนี้ไปใช้ จะขาดเงินหนุนหลังเศรษฐกิจทันที ?
ความพยายามผลักดันให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานแบงก์ชาติ ด้านหนึ่งคนในรัฐบาลกล่าวว่า แบงก์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรอิสระ ประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติจะเป็นใครก็ตามไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติได้
แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงประวัติของกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ใครๆ รับรู้รับทราบว่า เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ก็ยิ่งแปลกใจว่า หากประธานแบงก์ชาติ ไม่สามารถมีบทบาทต่อการทำงานของแบงก์ชาติได้จริง ทำไมคนในรัฐบาลถึงพยายามผลักดันกิตติรัตน์ ณ ระนอง มากมายถึงเพียงนี้
ฤๅ เหตุผลในการผลักดันให้คนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานแบงก์ชาติ กลายเป็นตรรกะวิบัติ ระดับชาติแล้ว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี