ทุกท่านเคยถามตัวเองแบบนี้มั้ยครับ ถ้าพรุ่งนี้ไม่อยู่แล้ว มีอะไรที่เรายังกังวล หรือห่วงคนข้างหลังอยู่บ้างหรือเปล่า
ไม่ได้ชวนดราม่า หรือลึกซึ้งกับพุทธศาสนาอย่างมรณานุสติ (เพราะผมก็ไม่ได้ถนัดเรื่องคำพระอะไรขนาดนั้น)แต่แค่อยากชวนคิด ชวนตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อให้เราลงมือทำ หรือ “จัดการ” หลายสิ่งที่ยังจัดการได้ในช่วงที่ยังมี “เวลา” ซึ่งถ้าว่ากันตามจริง เราก็ไม่รู้จริงๆ เสียด้วยสิ ว่าเรายังเหลือกันอีกคนละกี่มากน้อย
หลายครั้งที่นั่งอยู่ในงานศพของคนรู้จัก แล้วมักได้ยินคนในงานพูดถึง “ห่วง” ต่างๆ ของผู้จากไป (คงมีบ้างที่คิดแทนกันไปไกล คนตายอาจไม่ได้คิดมากขนาดนั้น
ก็ได้)
ลูกยังเล็กอยู่เลย
ทิ้งหนี้ไว้เพียบเลย
กิจการจะยังไงต่อ
แล้วใครจะดูแลแม่เค้า
ฯลฯ
แต่ก็นะ หลายครั้งความห่วงของแขกหลายคน ก็เป็นเพียงการร่วมสนทนา บ้างมีส่วนร่วมวิพากษ์อย่างออกหน้า บ้างแสดงความห่วงใยพอเป็นพิธี (จบพิธีก็จบ) เพราะไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาที่ต้องมารับผิดชอบ “ห่วง” ใดๆ ที่เป็นประเด็นสนทนา แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของคนในโลง ที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ก่อนเวลาอันควร
กลับมาที่คำถาม “ถ้าพรุ่งนี้ ฉันไม่อยู่ …”
ผมใช้คำถามนี้ถามตัวเองในวันเกิดทุกปี หาพื้นที่สงบ ก่อนเวลาวันเกิดผ่านพ้น เขียนทุกสิ่งที่ยังห่วง คุยกับตัวเองแบบตรงไปตรงมา ไม่คาดหวังอะไรเว่อร์วัง เขียนสิ่งที่เป็นขั้นต่ำ สิ่งที่เป็น Basic Needs ที่เรายังขาด ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตครอบครัว ในวันที่ไม่มีเรา
เขียนเพื่อเช็คและตรวจสอบส่วนที่ยังกังวล พร้อมแนวทางแก้ไขปรับปรุง และหยิบไปเป็นเป้าหมายของปีต่อไป เป็นเรื่องสำคัญที่จะโฟกัสในแต่ละปี
ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง แต่รวมเรื่องการใช้เวลากับภรรยาและลูก
เรื่องที่อยากบอกอยากสอนลูกในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการเติบโตของพวกเขา
เวลากับพ่อแม่ที่กำลังลดลงเรื่อยๆ (ไม่รู้ใครไปก่อน)
เรื่องความสำเร็จในหน้าที่การงานที่จะตอบโจทย์ในหลายเป้าหมาย
เรื่องของประกัน มรดก และการวางแผนการเงิน ฯลฯ
ทั้งหมดนำมาซึ่งแผนการใช้ “เวลา” ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต
คุยมาทั้งหมดไม่ได้บอกว่าชีวิตผมดีเด่อะไร หรือเก่งวิเศษวิโสมาจากไหน เพราะหลายปีที่คิดแล้วก็ทำไม่ได้ทั้งหมด เถลไถลบ้างตามประสามนุษย์ (ไถลไปไกลเลยก็มี)
แต่อย่างน้อยเมื่อถึงวันเกิดในปีถัดไป (หรือเมื่อได้ยินบทสนทนาในงานศพ) ได้มาอ่านสิ่งที่คิด ที่เคยกังวลอีกครั้ง ก็ช่วยให้เราตั้งสติ และตั้งใจกันใหม่ เข้มข้นกันใหม่กับการลงมือลงแรงเพื่อเป้าหมายในการดับกังวล สิ่งที่เคยกลัวว่าเวลาจะหมดลงไปก่อน
ที่สำคัญ คือ การกล่าว “ขอบคุณ” ที่ยังไม่ตาย และยังได้มีโอกาสจัดการเรื่องที่ยังกังวล และเรื่องที่ตั้งใจจะทำให้ตัวเองและครอบครัวได้อีก 1 ปี
ชีวิตในช่วงวัย 50 ปี ดูเหมือนจะไม่ได้ฝันใหญ่อะไรกับเค้าแล้ว (จินตนาการไม่เก่งเหมือนก่อน) แค่เบาความ “กังวล” และละเมียดละไมกับการลงทุน “เวลา” ให้มากขึ้น
มีความสุขตามกำลัง มีทุกข์ผ่านเข้ามาแบบพอรับมือไหว ก็ถือว่าน่าชื่นใจ
และถือว่าได้ใช้ชีวิตอย่างพยายามเต็มที่ จนกว่าจะถึงวันที่ไม่มีสิทธิถามตัวเองอีกต่อไปว่า …
ถ้าพรุ่งนี้ ฉันไม่อยู่ …
#TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี