●● ดร.กุลยา ตันติเตมิท...อธิบดีกรมสรรพสามิต...แม้ไม่ใช่อธิบดีหญิงคนแรกของกรมนี้...แต่...แวดวงการเงิน...อยากจะบอกว่าเธอเป็นผู้บริหารหญิงแกร่งและเก่งเบอร์ต้นๆ ของกระทรวงการคลัง...ประสบการณ์โชกโชนมาหลายหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร หรือแม้แต่ธนาคารโลกก็ได้เป็นกรรมการบริหารมาแล้ว...สมัยที่เป็นอธิบดีกรมสรรพากร ดร.กุลยา ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการนำไปปฏิบัติภายใต้สโลแกน “SMILE” ที่ไม่ได้หมายถึงการยิ้มรับให้บริการ แต่เป็นความเรียบง่าย (Simplification) ความทันสมัย (Modernization) ความทั่วถึงและมีนวัตกรรม (Inclusivity) ความถูกต้องตามกฎระเบียบ (Legally) และความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ปีที่แล้วกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้มากกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท...นึกดูดีๆ สโลแกนนี้ก็ควรถูกนำมาใช้กับกรมสรรพสามิตได้เหมือนกัน หากมองย้อนกลับไปดู กรมสรรพสามิตเคยเก็บภาษีได้สูงสุดในปีงบประมาณ 2562 เก็บได้กว่า 5.85 แสนล้านบาท แต่ในปีงบประมาณล่าสุดที่เพิ่งปิดหีบลงไปกลับเก็บได้เพียง 5.23 แสนล้านบาท... อย่างที่ทราบกันว่าสินค้ารถยนต์ได้รับผลกระทบจากการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ก็มีสินค้าหลักอย่างยาสูบที่แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีแนวโน้มเก็บรายได้ภาษีลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาเชิญโครงสร้างที่รอการปรับปรุงให้ทันสมัยและเป็นสากล เช่น ภาษียาสูบที่ยืดเยื้อมานานหลายปีไม่มีใครกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง…หากไม่ทำอะไรเลยรายได้ภาษีจากสินค้ายาสูบก็คงจะถดถอยลงเรื่อยๆ แบบหลายปีที่ผ่านมา ผลการจัดเก็บรายได้เบื้องต้น ของทั้งปีงบประมาณ’67 อยู่ที่ราว 5.1 หมื่นล้านบาทลดลงจากปีก่อน 6.4 พันล้านบาท หรือกว่า 11% และหากดูข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2567 หรือเดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 จะพบว่าเก็บได้เพียง 3.6 พันล้านบาท น้อยกว่าปีแล้วที่เก็บได้ 4.5 พันล้านบาทเข้าขั้นร่อแร่เข้าไปทุกทีเพราะมีแต่ทรุดลงเรื่อยๆ...ว่ากันตามตรง การปรับภาษีเป็น 2 เทียร์ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมานั้น ไม่ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเรียบง่าย ทำให้แบรนด์ต่างๆ หนีลงมาแข่งกันในกลุ่มราคาประหยัดเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงกันหมด ซ้ำยังไม่ทันสมัย เพราะในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ใช้โครงสร้างภาษีแบบนี้ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก ก็เคยให้ความเห็นว่าการเก็บภาษีบุหรี่แบบหลายเทียร์นั้นไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคและจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ...!! วันก่อนได้คุยกับ คุณธีรัชย์ อัตนวานิชอธิบดีกรมศุลกากร และ ในฐานะประธานบอร์ดโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)...เขาก็บอกว่าเหนื่อยกับการไล่จับบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าและเหนื่อยใจกับยอดขายบุหรี่ของ ยสท.ที่ลดลงอย่างหนัก..และก็เข้าใจว่าภาษียาสูบที่สูงเกินไปคือหนึ่งในต้นตอของปัญหาเหล่านี้...!! แวดวงการเงิน..คิดว่าข้อมูลข้างต้นคือ หลักฐานชิ้นดีที่ยืนยันได้แล้วว่า...ภาษีบุหรี่ 2 เทียร์หรือหลายเทียร์...ไม่มีประสิทธิภาพ...จึงถึงเวลาที่...กรมสรรพสามิต...ในยุค ดร.กุลยา...ต้องเปลี่ยนแปลงมันได้แล้ว...●●
อนันตเดช พงษ์พันธ์ุ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี