โครงการคลินิกชุมชนอบอุ่น และ ร้านยาชุมชนอบอุ่น ต่างเป็นโครงการภายใต้การดูแลบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นที่รู้จักดีสำหรับประชาชนที่เป็นผู้ป่วย หรือผู้รับบริการทางการแพทย์ทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีสิทธิสวัสดิการรัฐ 30 บาท สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทอง
ทั้งสองโครงการ ต่างมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันในการมุ่งสร้างความอุ่นใจและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนไทยได้รับความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการใช้บริการด้านสาธารณสุข รวมไปถึงลดภาระการปฏิบัติงานแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขในสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานพยาบาลซึ่งเป็นส่วนงานภาครัฐ มิให้ต้องเผชิญภาระงานที่หนักแสนสาหัสดังเช่น วิฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านพ้นมา
คลินิกชุมชนอบอุ่นเจ้าของโครงการเป็น แพทยสภา ส่วนร้านยาชุมชนอบอุ่นเจ้าของโครงการคือ สภาเภสัชกรรม ทั้งสองโครงการต่างมี
ผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายเป็นกรรมการเข้าร่วมวางแผนกำหนดแนวทางความร่วมมือในการริเริ่มโครงการภายใต้การประสานงานของ สปสช.
โครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นมีลักษณะเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็กกระจายอยู่ตามท้องที่ชุมชนประชาชนอาศัยอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 241 แห่ง มีแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรประจำ สามารถคัดกรองและตรวจวินิจฉัยโรคให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็ว
โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น จำนวนราว 300 ร้านทั่วประเทศ เป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีและลดการแออัดการใช้บริการสาธารณสุข ในคลินิกและสถานพยาบาล เปิดโอกาสเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการทางการแพทย์ ในการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ด้วยตนเอง ด้วยการรับยาจากเภสัชที่ร้านขายยานี้ โดยไม่ต้องพบแพทย์
ร้านยาตามโครงการนี้ มีข้อจำกัดที่ว่า ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการจะต้องมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยหากเภสัชกรประจำร้านยาชุมชนอบอุ่นเครือข่ายในโครงการ ซักประวัติวินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเข้าข่าย 16 กลุ่มอาการหลักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ป่วยสามารถรับยาได้จากเภสัชกรโดยไม่ต้องพบแพทย์
16 กลุ่มอาการหลัก ได้แก่ ปวดหัว, เวียนหัว, ปวดข้อ,เจ็บกล้ามเนื้อ, ไข้, ไอ, เจ็บคอ, ปวดท้อง, ท้องผูก,ท้องเสีย, ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ, ตกขาวผิดปกติ, อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน, บาดแผล, ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา, ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับหู
เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เพิ่มอีก 16 อาการ รวมเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ได้แก่ ติดเชื้อโควิด, น้ำมูก คัดจมูก, มีอาการแผลในปาก, ตุ่มน้ำใสที่ปาก, แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง, อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ, อาการจากพยาธิ, อาการจาก หิด เหา, ฝี หนอง ที่ผิวหนัง, อาการชา/เหน็บชา, อาการนอนไม่หลับ, เมารถ เมาเรือ, เบื่ออาหารโดยไม่มีอาการร่วม,คลื่นไส้ อาเจียน, อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย, อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่, เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
ต่อมาแพทยสภาได้ยื่นฟ้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับฟ้อง เป็นคดีปกครอง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้ คลินิกชุมชนอบอุ่นระงับการจ่ายยาโดยไม่ผ่านแพทย์ สำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการหลัก (เป็นอาการที่กำหนดก่อนที่จะเพิ่มเป็น 32 อาการ) โดยมีเหตุผลว่า อาการของโรคบางอย่าง แม้อาจเป็นอาการเล็กน้อย แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และแพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่งยา อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยได้ เพราะอาจมีอาการดื้อยาและแพ้ยา เช่น อาการทางตา และอาการตกขาว ที่เกิดจากการติดเชื้อร่วมด้วย
สภาเภสัชกรรมยังยืนยันที่จะจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการ 16 กลุ่มอาการหลักต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้โดยสะดวก
แพทย์บางท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยที่มีอาการ 16 กลุ่มอาการหลักดังกล่าว ไม่มีข้อกำหนดที่จะต้องได้รับยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นอาการไม่ร้ายแรง อีกทั้งหากแพทยสภาเกรงว่า ในบางกรณีที่เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วยได้ แพทยสภาควรทำความเข้าใจ และให้ความรู้หรือจัดอบรมเพิ่มเติมแก่เภสัชกรได้
ในความเป็นจริง ผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ได้ใช้บริการ สวัสดิการรัฐ 30 บาท สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง เมื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น 16 กลุ่มอาการหลัก หรือ 32 อาการตามที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ มักมีความรู้สึกว่า เป็นเรื่องป่วยเพียงเล็กน้อย และไม่ค่อยได้ไปพบแพทย์ แต่จะไปซื้อยาที่ร้านขายยาโดยตรง ไม่ว่าช่วงเวลาที่ไปซื้อยานั้น จะมีเภสัชกรประจำอยู่ที่ร้านขายยาหรือไม่ก็ตาม
ที่สำคัญคือ แพทยสภาควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วย บุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้บริการ สวัสดิการรัฐ 30 บาท สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง หรือไม่ ก็ตาม แม้การทานยาเพื่อรักษาอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หากอาการไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาอันสมควร เช่น 7-10 วัน ผู้ป่วยควรกระตือรือร้น ไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่าที่จะทานยาต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด เพราะจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่า
ข้อสังเกต และข้อโต้แย้งของทั้งแพทยสภา และสภาเภสัชกรรม ถือว่า อยู่บนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ของประชาชน แต่ประชาชน ผู้รับประโยชน์ ได้แต่รู้สึกว่า งงๆ ไม่รู้จะปฏิบัติตนอย่างไร?
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี