การแสดงวิสัยทัศน์ของ นายพิชัย ชุณหวชิร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาโดยหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจเกี่ยวกับภาษีของประเทศ ได้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งบ้านทั้งเมืองทั่วประเทศ จนกลายเป็น Talk of the Town
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า จะปรับอัตราภาษีถึง 3 ประเภท คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือเพียง 15%, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเป็นอัตราเดียว 15% และภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเพิ่มเป็น 15% ซึ่งเท่ากับอัตราภาษีทั้งสามชนิดนี้จะเป็นอัตราเดียวกันหมดคือ 15% โดยอ้างอิงว่า เป็นอัตราของประเทศที่ พัฒนาแล้วหลายประเทศ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ปัจจุบันเก็บที่ 20% ของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีสำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาท แรก และได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตรา 15% สำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 3,000,000 บาท ส่วนกำไรสุทธิที่เกิน 3,000,000 บาท จะเสียภาษีในอัตรา 20% ตามปกติ
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปัจจุบัน ถือว่าดีอยู่แล้ว เพราะบริษัทที่มีขนาดกิจการไม่ใหญ่ได้ประโยชน์จากอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% หากจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 15% เท่ากันหมด บริษัทที่ได้รับประโยชน์ กลับกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีกำไรสุทธิสูงจากที่เคยเสียอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% จะเหลือเพียง 15% รายได้ของรัฐจะลดน้อยลง และที่สำคัญคือ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่มีกิจการขนาดใหญ่ โดยที่รัฐบาลไม่ได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้น ทั้งที่ รัฐบาลต้องการเก็บภาษีมากขึ้น
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันเป็นอัตราก้าวหน้า ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่มีรายได้มาก ต้องเสียภาษีสูงมากขึ้น เป็นอัตรา ภาษีที่เป็นขั้นบันได แต่ตามอัตรา ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาธรรมดาใหม่ ที่จะเก็บเพียง 15% เท่ากันหมด เมื่อนักวิชาการยกตัวอย่างขึ้นเปรียบเทียบ ให้เห็นชัดเจน ผลปรากฏว่า ผู้ที่มีรายได้มาก เสียภาษีในอัตราที่น้อยลง ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยกลับเสียภาษีมากขึ้น สร้างความงงงวยและหาวเรอ ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอย่างมาก
ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันอัตราอยู่ที่ 7% หากบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล เป็นผู้ซื้อสินค้า หรือบริการ และนำไปขายต่อ สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มซื้อและขายหักลบกันได้ แต่ประชาชนผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าและบริการ โดยหลักการเป็นผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรงไม่สามารถนำไปหักลบกับใครได้ อยู่ๆ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 15% แสดงว่าจะต้องจ่ายเงินค่าครองชีพเพื่อซื้อสินค้าและบริการสูงเพิ่มขึ้นอีก เพราะภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอัตราเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
หากจำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก7% ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบัน จำเป็นต้องใช้เวลา มีการบอกกล่าวล่วงหน้า เพื่อให้รู้ตัวก่อนและปรับตัว ในหลายประเทศการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 10% หรือกว่า10% ใช้เวลานานถึง 10 ปีเศษ
หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว นักวิชาการและประชาชนได้แสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก หากเปรียบเทียบว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นนักมวย ถือว่า เมื่อรับฟังความคิดเห็นและคำพิพากษาวิจารณ์แล้ว เป็นนักมวยที่มีสภาพสะบักสะบอม จนจำหน้าตาแทบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า อัตราภาษีใหม่เป็นการช่วยคนรวย หรือว่าซ้ำเติมคนจนกันแน่
ในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรวมทั้งรัฐบาลและได้เปลี่ยนท่าทีในเรื่องนี้ อย่างฉับพลัน หากเป็นเรือขนาดใหญ่หรือรัฐนาวา ต้องถือว่าเป็นการกลับลำ หันหัวเรือเปลี่ยนทิศ แทบไม่ทัน ถ้าเป็นสำนวนในยุคนี้ต้องเรียกว่า ทัวร์ลงอย่างหนัก โดยเปลี่ยนท่าทีเป็นว่า เรื่องการปรับเปลี่ยนอัตราภาษี อยู่ในขั้นตอนการศึกษาหาข้อดี ข้อเสีย และใน
ขณะนี้ยังไม่ปรับเปลี่ยนอัตราภาษี
หากพิจารณาถึงการกล่าวสุนทรพจน์ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องภาษี ที่ถือว่า เป็นรายได้หลักของประเทศและรัฐบาล การพูดแสดงวิสัยทัศน์ ต้องมีความชัดเจน และคาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้าว่า จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
การปรับเปลี่ยนท่าที เกี่ยวกับอัตราภาษีใหม่ของรัฐบาล ไม่น่าจะเป็น การโยนหินถาม แต่เหมือน การก้าวเท้าติดโคลน แล้วรีบชักเท้ากลับเสียมากกว่า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี