MOU 44 ที่เป็นประเด็นโต้เถียงอย่างมากในขณะนี้ เป็นบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 (จึงเป็นที่มาของคำว่า MOU 44 ซึ่ง 44 ตรงกับ พ.ศ. 2544) เกี่ยวกับการแบ่งปันสิทธิในการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ในสมัยรัฐบาล อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
บันทึกข้อตกลง MOU 2544 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2544 โดย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น (สมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร) กับนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส และประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ซึ่งสังคมมีข้อสงสัยว่าเหตุที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ยอมลงนามใน MOU 44 เพราะต้องการให้รัฐบาลไทยในยุคนั้น สนับสนุนให้เป็น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) หรือไม่?
สาระสำคัญของ MOU 44 อยู่ตรงที่ แบ่งพื้นที่ทับซ้อนออกเป็น 2 ส่วน โดยมีเส้นละติจูด 11 องศา เป็นตัวแบ่งส่วนที่อยู่เหนือเส้นละติจูดนี้ถือเป็นส่วนบน ส่วนที่อยู่ใต้เส้นละติจูดนี้ ถือเป็นส่วนล่าง เส้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เป็นเส้นที่ไทยกำหนด ส่วนเส้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก เป็นเส้นที่กัมพูชากำหนด
พื้นที่ส่วนบน กำหนดกรอบให้เจรจาปรับเส้นเขตไหล่ทวีปเฉพาะในส่วนพื้นที่ทับซ้อนส่วนบนเท่านั้น มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร (เกาะกูด อยู่ในส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนบน)
พื้นที่ส่วนล่าง ถือเป็นพื้นที่ทับซ้อนมีพื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร มีข้อตกลงกันว่า พื้นที่ส่วนล่างไม่ต้องเจรจาปรับเขตเส้นไหล่ทวีป ถือให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ที่จะแสวงหาประโยชน์จากน้ำมันและแก๊สธรรมชาติร่วมกัน
เกาะกูด ที่อยู่ในพื้นที่ส่วนบน ถูกตัดแบ่งด้วยเส้นละติจูด 73 องศา ซึ่งเป็นเส้นกำหนดพื้นที่ MOU 44 ที่อยู่ตอนบนสุด แม้เส้นกำหนดพื้นที่จะมีลักษณะเว้าตามสภาพเกาะกูด เสมือนยอมรับเขตตามสภาพเกาะกูดแต่นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ฮุน มาเนต คนปัจจุบันได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนในการให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้ยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย และถือว่าเป็นเรื่องจะต้องเจรจาพูดคุยกันต่อไป
ทั้งที่ต้องถือว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ระหว่าง ประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ที่กำหนดให้พื้นที่จังหวัดตราด รวมถึงเกาะกูดในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนดินแดนบางส่วนที่เป็นพื้นที่ในปัจจุบันของกัมพูชา
การกำหนดพื้นที่ตาม MOU 44 ยังถือว่าขัดต่อพระบรมราชโองการกำหนดเขตหลายทวีปด้านอ่าวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2516 ที่ยึดหลักการคำนวณกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล โดยยึดระยะทางที่เท่ากันจากชายฝั่งของสองประเทศ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea) ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ในทางตรงกันข้าม ประเทศกัมพูชาไม่ยอมรับหลักการสากลนี้ และยังลากเส้นแบ่งเขตทางด้านทิศตะวันออกตามอำเภอใจของตน
ในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีความพยายามที่จะยกเลิก MOU 44 นี้ แต่ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จทัน จนเปลี่ยนรัฐบาลเป็น นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้พยายามดำเนินการให้ MOU 44 มีผลบังคับอย่างจริงจัง แต่ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักในสมัยนั้น เพราะอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชาในขณะนั้น จึงถูกมองว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้ที่สนับสนุน MOU 44 ให้ความเห็นว่า บันทึกข้อตกลงนี้ไม่เป็นเหตุให้ประเทศไทยเสียดินแดน เพราะไม่ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา เนื่องจากไม่เคยเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้การรับรอง
เหตุผลดังกล่าว ถือว่าถูกต้องในบางส่วน แต่เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริง และท่าทีของฝ่าย ประเทศกัมพูชาแล้ว กลับมีลักษณะในทางตรงกันข้าม นอกจากนี้แล้ว การที่ประเทศไทยยอมรับเขตพื้นที่ตาม MOU 44 หากในอนาคตข้างหน้า มีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตดินแดนในลักษณะเดียวกับเขาพระวิหาร ประเทศไทยจะถูกหลักกฎหมายในเรื่อง กฎหมายปิดปาก (Estoppel) เพราะเท่ากับยอมรับข้อเท็จจริงที่สำคัญไปแล้วหลายประการเกือบทั้งหมด จะมาถกเถียงหรือโต้แย้งในภายหลัง หากมีข้อพิพาทเป็นคดีความขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลก ท่านผู้พิพากษาศาลโลกจะไม่รับฟังข้อโต้แย้งของประเทศไทย เหมือนอย่างเช่น คดีเขาพระวิหาร ที่ประเทศไทยเคยแพ้คดีศาลโลกมาแล้ว
ประเทศกัมพูชา มีความต้องการที่จะแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นน้ำมันและก๊าซในเขตพื้นที่ MOU 44 เป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยควรใช้เหตุนี้เพื่อเจรจาต่อรองหรือยกเลิก MOU 44 เริ่มการเจรจานับหนึ่งใหม่ ได้กลับกลายเป็นว่า ประเทศไทยมีสภาพลุกลี้ลุกลนยิ่งกว่าประเทศกัมพูชาเสียอีก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผลประโยชน์ที่ตามมามีมากมายอย่างมหาศาล
นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เป็นนายกรัฐมนตรีตัวแทน ที่เป็นรุ่นลูกสืบต่อจากรุ่นพ่อ ซึ่ง MOU 44 ได้ทำขึ้นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีรุ่นพ่อทั้งสองประเทศ
หาก MOU 44 มีผลเสียหายแก่ประเทศไทยไม่ว่าจะเหตุใด คงมีคำพูดแก้ตัวเช่นเดียวกับที่เคยมี และโด่งดังในอดีตว่า “บกพร่องโดยสุจริต” กลับมาอีก
“บกพร่องโดยสุจริต” เป็นคำที่กล่าวในคดีซุกหุ้น ที่อดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลรัฐธรรมนูญ และได้ชนะคดีด้วยมติของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 7 เสียง เมื่อปี พ.ศ. 2544 (ปีเดียวกันกับที่ทำ MOU 44) ด้วยความเคารพในดุลพินิจของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ แต่สังคมยังมีความสงสัยคาใจเพราะเมื่อนักข่าวตามไปหาที่อยู่ซึ่งเป็นบ้านต่างจังหวัดของผู้ถือหุ้น พบสภาพและญาติของผู้ถือหุ้น ซึ่งได้บอกว่า ไม่เคยทราบว่าผู้ถือหุ้นร่ำรวยมากขนาดนี้ หากร่ำรวยที่บ้านคงไม่ต้องลำบาก
ฤๅว่า กงล้อประวัติศาสตร์ “บกพร่องโดยสุจริต”จะหมุนกลับมาอีกครั้ง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี