โฆษณาขายประกันชีวิตและสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ จะมีข้อความที่คล้ายๆ กันว่า“ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ”
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ได้รับทราบข้อความตามโฆษณานี้ จะรู้สึกว่า อยากทำประกันชีวิตและสุขภาพ เพราะคิดว่าการทำประกันชีวิตและสุขภาพเป็นเรื่องที่ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบริษัทประกันชีวิตซึ่งมักจะรวมประกันสุขภาพด้วย มีข้อเสนอเกี่ยวกับเบี้ยประกัน หรือค่าตอบแทนที่จ่ายให้บริษัทประกันไม่สูง ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้สูงอายุตัดสินใจเข้าทำสัญญาประกัน
เป็นธรรมดาที่ผู้สูงอายุทั้งหลายจะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูงความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และอีกสารพัดโรค เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง หรือสูงวัย มักจะมีปัญหาสุขภาพเข้ามาเยี่ยมเยียน และเมื่อมามักจะมาเป็นชุดพร้อมกันหลายๆ โรค
เมื่อผู้สูงอายุติดต่อกับบริษัทประกันเพื่อขอทำประกันชีวิตและสุขภาพ ตัวแทนหรือพนักงานของบริษัทประกันไม่ได้ถามปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจว่า หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพและต้องการทำประกันชีวิตและสุขภาพ ผู้สูงอายุไม่มีหน้าที่หรือความจำเป็นใดๆ ที่ต้องบอกบริษัทประกันเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเอง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องบอกบริษัทประกันเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเองจริงหรือ? และผู้สูงอายุมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องบอกเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเองหรือไม่?
ประเด็นนี้ ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 ที่บัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้ว ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือรู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”
ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยและประกันชีวิตในประเด็นนี้ กฎหมายบังคับไว้ว่า ผู้ที่เข้าทำสัญญาประกัน หากรู้ข้อความจริงที่สำคัญจะต้องเปิดเผย
ข้อความจริงนั้น จะต้องสำคัญถึงขนาดที่ว่า หากผู้รับประกันหรือบริษัทประกันนั้นเอง ทราบข้อความจริงแล้ว ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเป็นเหตุให้เรียกประกันภัยแพงขึ้นกว่าปกติธรรมดา หรืออาจพิจารณาแล้วเห็นว่าเสี่ยงเกินไป จึงไม่รับประกัน
ในกรณีประกันวินาศภัยที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ทำประกันอัคคีภัย หรือประกันไฟไหม้บ้าน แต่บ้านหลังนั้นเป็นที่เก็บวัตถุไวไฟ เช่น พลุ ถังแก๊ส เป็นต้น
ในกรณีประกันชีวิตและสุขภาพ เช่น เป็นโรคภัยไข้เจ็บที่ค่อนข้างร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง หรืออาจเป็นโรคร้ายแรงเช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น
การไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่สำคัญตามกฎหมาย และถือว่าผิดกฎหมาย จะมีลักษณะอยู่ 2 ประการคือ (1) ปกปิด (2) แถลงเท็จ
การปกปิด หมายถึง ผู้ทำประกันรู้ทั้งรู้ว่า ตัวเองเป็นโรคที่สำคัญ หรือมีอาการที่สำคัญ แต่ไม่บอกบริษัทประกัน ทำเนียนๆ เฉยๆ เพราะถือว่า เมื่อบริษัทประกันไม่ได้ถาม ก็ไม่จำเป็นต้องบอก
แถลงเท็จ หมายถึง กล่าวเท็จ หรือให้ข้อมูลเป็นเท็จ เช่น บริษัทประกันภัยถามว่า กำลังเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่สำคัญ หรือไม่? เป็นโรคมะเร็งหรือไม่?ตามความเป็นจริงแล้ว กำลังเป็นโรคมะเร็งอยู่ แต่เกรงว่า หากบอกความจริงไปแล้ว บริษัทประกันจะไม่รับประกัน จึงตอบบริษัทประกันไปว่า ไม่ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และไม่ได้ป่วยเป็นโรคสำคัญใดๆทั้งๆ ที่เป็นโรคมะเร็งอยู่
ผลของการฝ่าฝืนหรือผิดตามมาตรา 865 นี้ เป็นผลทำให้สัญญาประกันเป็นโมฆียะ ซึ่งหมายความว่าสัญญาประกันยังมีผลบังคับใช้อยู่ตราบเท่าที่บริษัทประกันยังไม่ได้บอกล้าง หรือบอกเลิกสัญญา ซึ่งเท่ากับว่าผู้เอาประกันที่เป็นลูกค้ายังมีหน้าที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันหรือค่าตอบแทนให้แก่บริษัทประกันไปเรื่อยๆ จนกว่าบริษัทประกันจะใช้สิทธิบอกล้างหรือบอกเลิกสัญญา ซึ่งบางครั้งจะบอกล้างหรือบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันได้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บไปแล้ว ทำให้ผู้รับประโยชน์ หรือผู้มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกัน ไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนสัญญาประกันที่ทำสัญญาประกันและคาดหวังไว้ แต่จะได้รับเงินเพียงบางส่วน ซึ่งเมื่อเทียบกันเป็นสัดส่วนแล้วนับว่า น้อยมาก
การที่ผู้รับประกันจะใช้สิทธิบอกล้างหรือบอกเลิกสัญญาประกัน ตามกฎหมายจะต้องทำภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ทราบมูลอันพอจะบอกล้างได้ หรือภายใน 5 ปี
นับแต่วันทำสัญญา
ในทางปฏิบัติ เมื่อทำสัญญาประกันชีวิต ข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตจะกำหนดไว้ว่า บริษัทประกันจะใช้สิทธิในการบอกล้างหรือบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาเท่านั้น (น้อยกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ระบุไว้ว่า 5 ปี)
เมื่อผู้สูงอายุทั้งหลายทราบความจริงเกี่ยวกับข้อกฎหมายในเรื่องประกันชีวิตนี้แล้ว หากคิดผิดหรือเข้าใจผิด ยังไม่สายเกินไปที่จะทำความเข้าใจใหม่ได้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี