ใครที่ติดตามผมมานาน จะทราบดีว่าทุกสิ้นปีผมจะชวนแฟนเพจทุกคนตั้ง “เป้าหมายชีวิต 6 มิติ” (ผมแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกันครั้งแรกในชื่อ “มั่งคั่ง 6 มิติ”) สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ผมขออธิบายแบบรวบรัด ดังนี้
เป้าหมาย 6 มิติ ก็คือ การตั้งเป้าหมายประจำปี ที่เรานิยมเรียกกันว่า New Year Resolution นั่นแหละครับ แต่จะมีกรอบของเป้าหมายเป็นเรื่องราว 6 ด้านในชีวิต
ของคนเรา ได้แก่ สุขภาพ ครอบครัว การงาน การเงิน การพัฒนาตัวเอง และการแบ่งปัน เรียงลำดับกันตามการให้ความสำคัญ
โดยเป้าหมายในแต่ละด้านไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายที่ใหญ่โต แต่ขอให้เป็นเป้าหมายที่เราตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นจริงๆ ในแต่ละปี กำหนดเป็นข้อความที่อ่านแล้วชัดเจน วัดผลได้
เท่านี้ก็ถือว่า “โอเค”
ยกตัวอย่างเช่น ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัม นอนให้ได้วันละ 6 ชั่วโมง (สุขภาพ)ทานข้าวกับพ่อแม่เดือนละ 2 ครั้ง พาครอบครัวเที่ยวต่างประเทศปีละ 1 ครั้ง (ครอบครัว) สร้างอาชีพเสริมให้มีรายได้เพิ่ม 5,000 บาท/เดือน (การงาน) ปลดหนี้บัตรเครดิตที่เต็มวงเงิน 2 ใบ เก็บเงินให้ได้ 100,000 บาท (การเงิน) ฝึกทำอาหารสัปดาห์ละ 1 เมนู เขียนบทความภาษาจีน สัปดาห์ละ 1 บทความ (พัฒนาตัวเอง)ทำกิจกรรมอาสาเดือนละ 1 ครั้ง จัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้น้องๆ บ้านเด็กอ่อน ปีละ 2 ครั้ง (แบ่งปัน)
ซึ่งเชื่อว่าใครที่ติดตามผมมาตลอด ปัจจุบันก็คงจะตั้งเป้าหมาย 6 มิติ ในลักษณะเดียวกันเหมือนกับผมทุกปี
ปัญหามีอยู่ว่า หลายครั้งที่เราตั้งเป้าหมายไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม สุดท้ายผลลัพธ์มันไม่ได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้ หลายคนส่งคำถามหลังไมค์มาถามผมว่า จะทำยังไงดีให้
เป้าหมายบรรลุผลทุกปี เพราะถ้าเป้าหมายหมายบรรลุผล ปีหน้าเราก็จะกล้าตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น หรือขับเคลื่อนชีวิตด้วยเป้าหมายที่สูงขึ้นได้
แน่นอนว่าแค่การตั้งเป้าหมายเพียงอย่างเดียว ไม่มีทางทำให้สิ่งที่เราคิดฝันไว้ประสบความสำเร็จได้หรอกครับ โดยส่วนตัวผมมักจะใส่อีก 4 ส่วนผสมสำคัญเข้าไป เพื่อทำให้เป้าหมายของผมมีโอกาสสัมฤทธิผล ดังนี้
1. บทเรียนจากปีก่อน
จะว่าไปแล้วข้อนี้สำคัญมากนะครับ เพราะอะไรที่จะประสบความสำเร็จย่อมมีเหตุผลของมัน ดังนั้นความล้มเหลวก็น่าจะแบบเดียวกัน คือมันก็ต้องมีเหตุผลที่ทำให้มันล้มเหลวด้วย และถ้าหากเราต้องหยิบเป้าหมายของปีก่อนมาปัดฝุ่น Reuse ใช้ซ้ำในปีนี้ สิ่งแรกที่เราควรทำ ก็คือ การทบทวนสาเหตุว่าทำไมเป้าหมายปีก่อนจึงล้มเหลว
ปีหนึ่งผมเคยตั้งเป้าหมายด้านครอบครัวไว้ว่า จะพาแม่ แฟน และลูก ไปเที่ยวต่างประเทศ 2 ครั้ง สรุปสุดท้ายทั้งปี ไม่ได้ไปไหนเลย เพราะงานเยอะตลอด ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น คือ ผมเอาตารางงานลงปฏิทินก่อน แล้วค่อยหาสลอตเวลาที่เหลือว่าจะไปเที่ยวกันช่วงไหนดี
แล้วก็เป็นไปตามคาด คือ ไม่มีสลอตเวลายาวพอจะไปเที่ยวต่างประเทศได้ เพราะถ้าจะเที่ยวต่างประเทศจริงๆ อย่างต่ำก็ควรมีวันว่าง 7 วันเป็นอย่างน้อย เพราะแค่วันเดินทางไปกลับก็ 2 วันแล้ว
ปีถัดมาผมเลยแก้ปัญหาโดยการจัดตารางเที่ยวก่อน ลงตารางเที่ยวในปฏิทินให้เรียบร้อย จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบิน แล้วค่อยลงเวลางาน คราวนี้ได้ผล เราได้ไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวตามที่ตั้งใจเอาไว้
2. เหตุผลที่ต้องทำเป้าหมายให้สำเร็จ
ข้อนี้ก็สำคัญนะครับ และจะว่าไปสำคัญมากด้วย เพราะถ้าเป้าหมายเกิดจากความตั้งใจและเหตุผลเชิงลึกของเราจริงๆ มันจะมีพลัง มากกว่าเป้าหมายที่จำหรือทำตามคนอื่น
ใครที่ไม่มั่นใจว่าเราอยากทำเป้าหมายนั้นๆ จริงหรือเปล่า ให้ลองเขียนเป้าหมายแบบพรรณนาออกมาดูก็ได้ครับ ถามตัวเองว่า “ทำไมฉันถึงต้อง .... (เป้าหมายของเรา)
... ด้วย มันจะทำให้ชีวิตฉันดีขึ้นอย่างไร?”
เช่น ตอนที่ผมตั้งเป้าหมายด้านสุขภาพ ว่าจะลดน้ำหนักลง 5 กิโลกรัม โดยการควบคุมอาหารเย็น ทานวันเว้นวัน ไม่ทานหลัง 6 โมง ผมให้เหตุผลกับเป้าหมายนี้
ว่า เริ่มรู้สึกว่าน้ำหนักมากเกินไป (ตอนนั้นน้ำหนักแตะ 80 กิโลกรัมเลยทีเดียว) เริ่มรู้สึกไม่ภูมิใจกับรูปร่างตัวเอง กางเกงเริ่มใส่ไม่ได้ เหนื่อยง่าย รู้เลยว่าสุขภาพเข้าขั้นไม่ดี ต้องปรับปรุง ไม่งั้นจะไม่ได้อยู่กับลูกไปนานๆ
ข้อนี้แนะนำให้เขียนในแบบของเราเองเลย เรากลัว เราเกลียด เราไม่ชอบ เราอยากปรับเปลี่ยนเพราะอะไร เรื่องของเรา ขอให้มันเป็น WHY? ที่ Strong พอเถอะ มันจะช่วยผลักให้เป้าหมายประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าลองเขียนไปแล้ว อ่านไปแล้วไม่รู้สึกอิน อันนี้อย่าฝืนนะครับ ตัดออกจากเป้าหมายของคุณเถอะ
3. การซอยหรือแบ่งเป้าหมายเป็นภารกิจย่อยๆ
เป้าหมายที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ คือ เป้าหมายที่มีแผนการชัดเจน หรือสามารถแตกออกเป็นภารกิจย่อยๆ ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ไปถึงสิ่งที่เราต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตั้งเป้าหมายด้านการเงินไว้ว่า จะปิดหนี้บัตรเครดิตสัก 1 ใบที่เต็มวงเงิน 100,000 บาท คุณว่าภารกิจย่อยๆ ของเป้าหมายนี้ควรเป็นอะไรบ้าง
หยุดใช้จ่ายผ่านบัตร (เอาบัตรไปซ่อน หรือเก็บไว้ในตู้เซฟเลย)
โยกหนี้ก่อนนี้ไปสินเชื่อบุคคลที่ดอกเบี้ยต่ำ (ถ้ามี) ให้ผ่อนต่อเดือนต่ำลง และเป็นสินเชื่อลดต้นลดดอก เพื่อให้เราปิดโปะหนี้ได้
ประเมินเงินคงเหลือรายเดือนว่าจะมีมาปิดหนี้บัตรเท่าไหร่ เช่น ถ้ามีเหลือเดือนละ 10,000 ก็จะปิดหนี้ทั้งหมดได้ใน 10 เดือนนิดๆ มีลุ้นเป้าหมายสำเร็จ
แต่ถ้ามีปิดหนี้ได้แค่เดือนละ 5,000 เฮ้ย! ไอ้น้อง เอ็งต้องหาเงินคงเหลือต่อเดือนหรือรายได้เพิ่มว่ะ! ไม่งั้นเป้าหมายเอ็งพังตั้งแต่ตั้งเสร็จใหม่ๆ เลย
ลองทำการลดรายจ่ายประจำอื่นๆ ดู จะได้มีเงินมาโปะหนี้ก้อนนี้เพิ่ม
หรือหนี้รายการอื่นๆ ที่มี พอลดค่างวดผ่อนได้อีกมั้ย ลองเจรจาดูสิ ถ้าได้ จะได้เงินเพิ่มมาโปะบัตรเครดิตใบนี้ให้หนี้หมดเร็วๆ
ถ้าลดค่าใช้จ่ายและค่าผ่อนทุกอย่างแล้ว ก็ยังไม่พอ คราวนี้ต้องถามตัวเองแล้วละว่า เราทำอะไรได้บ้าง ที่พอสร้างเป็นรายได้เสริมได้ จะเริ่มทำเมื่อไหร่ จะได้มีเงินมาโปะหนี้เพิ่ม
จำไว้ว่า เป้าหมายสำเร็จด้วยตัวมันเองไม่ได้ มันต้องลงมือทำ แต่การลงมือทำโดยไม่รู้ว่าทำแล้วจะได้ผลหรือเปล่า อันนี้ก็ไร้สาระ คิด วิเคราะห์ กำหนดเป็นภารกิจและแผนการโดยละเอียด ตั้งแต่เริ่มตั้งเป้าหมาย ทำแบบนี้มันถึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ครับ
4. ประกาศให้โลกรู้ เพื่อสร้างแรงผลักให้ลงมือทำ
หลักการนี้หลายคนอาจจะไม่ชอบ เพราะกลัวประกาศไปแล้วทำไม่ได้ จะโดนถล่มโดนแซวเอาเสียเปล่าๆ
คำว่าประกาศให้โลกรู้ของผม ไม่ได้หมายถึงประกาศเป้าหมายให้คนทั่วไปรู้นะครับแต่มันหมายถึง การประกาศเป้าหมายของเราให้คนใกล้ตัวที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือคนที่จะได้รับอานิสงส์จากการที่เราทำเป้าหมายสำเร็จ รับรู้และคอยทักเรามากกว่าครับ
เช่น ถ้าเป้าหมายด้านครอบครัวของเรา คือ การพาพ่อแม่และแฟนไปเที่ยว ก็ประกาศบอกเค้าไปเลยว่า ปีหน้าไปเที่ยวกัน ช่วงนั้นช่วงนี้ เตรียมเก็บกระเป๋าไว้ได้เลย ฯลฯ
โดยส่วนตัวผมชอบวิธีนี้นะ มันแอบซาดิสต์ดี คือ ทะลึ่งประกาศไปแล้วทำไม่ได้ อายตายเลย ความน่าเชื่อถือหมดสิ้น ผมว่ามันกดดันให้เราลงมือทำจริงจังดีครับ ยิ่งถ้าบอกแฟนนะ รับประกันเลยว่า ทั้งผลักดันและแดกดันไปพร้อมๆ กัน สนุกชะมัด
วิธีการอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้ บางคนอาจเพิ่มเรื่องของการให้รางวัลตัวเองอันนี้ก็แล้วแต่ครับ แต่โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยตั้งรางวัลอะไรเพิ่มเติม เพราะถ้าเป้าหมายนั้นดีกับชีวิตเราจริง และเราทำมันได้ ทำสำเร็จตามที่ตั้งใจ ผมว่าผลลัพธ์ของมันก็เป็นรางวัลให้กับชีวิตเราอยู่แล้ว แต่เรื่องแบบนี้ก็สไตล์ใครสไตล์มันนะไม่ถือว่ามีอะไรผิดกติกาครับ
ทั้งหมดก็คือแนวทางที่ผมใช้ในการผลักดันให้เป้าหมายชีวิต 6 มิติของผมเป็นจริงคุณเองก็อาจลองเอาไปประยุกต์ใช้กันดูได้ครับ จะหยิบไปทั้ง 4 ข้อ หรือบางข้อก็ได้ไม่ว่ากัน
สุดท้ายที่อยากจะบอกก็คือ สิ่งสำคัญในการตั้งเป้าหมายชีวิต 6 มิติ ก็เพื่อความสุขและความอุดมสมบูรณ์ในทุกด้านของชีวิต หากปีไหนเราพยายามเต็มที่แล้ว ไม่ได้ผลลัพธ์ดังที่เราตั้งใจ ก็อย่าไปถือโทษโกรธตัวเองมาก ก็แค่ลองคิดลองตั้งหลักทำดูใหม่ เอาให้ได้ในปีถัดไป
แต่ถ้าทำได้ ก็มีความสุขและภูมิใจกับมิติที่สำเร็จให้เต็มที่
ขอให้ทุกคนมีเป้าหมายที่ประสบความสำเร็จนะครับ
#TheMoneyCoachTH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี