รัฐบาลได้ออกกฎหมายใหม่เป็นพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2568 สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มาลงทุนในประเทศไทย
เหตุที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้เป็นพระราชกำหนด เพราะต้องการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงในพระราช
กิจจานุเบกษา ตามอำนาจของรัฐบาลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่รัฐบาลต้องนำพระราชกำหนดนี้เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568
หลักการของกฎหมายฉบับนี้ คือ ให้อำนาจรัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ให้ต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15% ไม่ว่าจะจากประเทศต้นทางที่บริษัทข้ามชาตินั้น จดทะเบียนจัดตั้งหรือเสียภาษีในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งรายได้
บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ประเภทนี้ หลายบริษัทมักจะจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีต่ำมาก ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นประเทศ Tax Heaven หรือประเทศที่เป็นสรวงสวรรค์ในการเสียภาษี เพราะเสียภาษีน้อย หรืออาจไม่เสียเลย
ในกรณีนี้ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้ง จะต้องเสียภาษีเพิ่มในประเทศไทยที่เป็นแหล่งรายได้
เพราะประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มให้ครบ 15% ในรอบปีบัญชี
ขนาดของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มนี้ ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเริ่มระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
การที่รัฐบาลตัดสินใจออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนดนี้ เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงเกณฑ์ในการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 15% (Global Minimum Tax) เพื่อป้องกันการแข่งขันลดภาษีมากเกินไป
รัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
หากพิจารณาตามความคาดการณ์ของรัฐบาลแล้ว ดูเหมือนว่า ทุกอย่างน่าจะดีหมด
แต่สิ่งหนึ่งที่พระราชกำหนดนี้ ไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน คือ กรณีที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศที่มีสนธิสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation) กับประเทศไทยที่ได้รับการยกเว้นภาษี หากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เหล่านั้นเสียภาษีในประเทศที่จดทะเบียนจัดตั้ง อาจไม่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ได้
นอกจากนี้ การที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ หากประชาสัมพันธ์ไม่เป็นที่ชัดเจนในต่างประเทศ อาจทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศไทย มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า จะต้องเสียภาษีนิติบุคคลเพิ่ม โดยไม่เข้าใจในรายละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการและระมัดระวังให้ดี
แม้พระราชกำหนดนี้ จะมีข้อดีอยู่มากตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ แต่ยังมีสิ่งที่ควรระวัง และดำเนินการให้เหมาะสมควบคู่ไปด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี