กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในวันที่23 มกราคม 2568 สร้างความรู้สึกปีติยินดีให้แก่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ สมัยใหม่เรียกกันว่า LGBTQIAN+
กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เริ่มมีผลบังคับใช้นี้ คนจำนวนไม่น้อยจะเข้าใจว่า เป็นกฎหมายที่ออกเป็นพระราชบัญญัติพิเศษเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ความเป็นจริงแล้ว เป็นพระราชบัญญัติที่ออกมาเพื่อแก้ไข ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เกี่ยวกับเรื่อง ครอบครัว โดยมีชื่อว่า พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเรียกกันว่า LGBTQIAN+ ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ คำที่เป็นภาษาอังกฤษ ล้วนเป็นคำย่อ ที่มีความหมายทั้งสิ้น
L หมายถึง Lesbian หญิงที่ชอบและสนใจเพศเดียวกัน, G หมายถึง Gayชายที่ชอบและสนใจเพศเดียวกัน, B หมายถึง Bisexual ผู้ที่ชอบทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม, T หมายถึง Transgender ผู้ที่เพศกำเนิดไม่ตรงกับเพศของตน, Q หมายถึง Queer ผู้ที่ไม่จำกัดตนเองว่าเป็นเพศใด และต้องรักชอบกับเพศใด, I หมายถึง Intersex ผู้ที่มีภาวะทางเพศกำกวมระบุเพศไม่ได้, A หมายถึง Asexual ผู้ที่ไม่มีความดึงดูดทางเพศ แต่มีความรักและมีเพศสัมพันธ์ได้, N หมายถึง Non-Binary ผู้ที่ไม่ระบุเพศตนเอง และไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง
ตามกฎหมายเดิม การหมั้น และการสมรส กฎหมายจะกำหนดไว้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของ ชายและหญิง แต่กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่แก้ไขใหม่ การหมั้น และการสมรส จะเป็นเรื่องของบุคคล 2 คน โดยไม่ได้กำหนดเพศ
แม้แต่เดิมที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการสมรสว่า เป็นเรื่องของชายและหญิง ในกรณีผู้ที่มีเพศเดียวกัน ชอบพอกัน และอยู่กินกันฉันสามีภรรยา แม้จะไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายในขณะนั้นแต่เมื่อเลิกกัน และมีปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาว่า จะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไร
ได้เคยมีคดีขึ้นสู่ศาล แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับใช้โดยตรงในขณะนั้น ศาลได้ตัดสินโดยให้ความยุติธรรม โดยนำหลักกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้ และวินิจฉัยว่า การที่อยู่กิน
กันฉันสามีภรรยา แม้จะเป็นเพศเดียวกันนั้น ถือว่าเป็นการประกอบกิจการห้างหุ้นส่วน ทั้งที่อาจจะไม่ได้เปิดกิจการเป็นร้านขายของหรือดำเนินธุรกิจอะไรก็ตาม ถือว่าร่วมกันทำมาหาได้ เมื่อไม่ได้ตกลงในเรื่องสัดส่วนของหุ้นส่วนไว้ต้องถือว่า เป็นเจ้าของคนละครึ่ง เมื่อเลิกกัน เปรียบเสมือนเลิกห้างหุ้นส่วน จึงต้องแบ่งทรัพย์สินกันคนละครึ่ง
กฎหมายสมรสเท่าเทียมใหม่นี้ ยังได้บัญญัติข้อกฎหมาย เพื่ออุดช่องว่างไว้ว่า กรณีกฎหมาย หรือกฎระเบียบ ข้อบังคับใด ที่มีผลบังคับใช้อยู่ก่อนหน้านี้ กล่าวถึง ชายและหญิง นับจากนี้ไปให้รวมถึงบุคคลที่มีเพศเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายด้วย เว้นแต่จะไม่สามารถดำเนินการได้โดยสภาพ
ความชัดเจนเกี่ยวกับ สิทธิและหน้าที่ที่มีผลทันทีสำหรับคู่รัก ความหลากหลายทางเพศ เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับ มีหลายประการ อาทิ
การหมั้นและการสมรส บุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว (มาตรา 1435) รวมถึงการสมรส (มาตรา 1418)ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ (มาตรา 1448) การหย่า เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว (มาตรา 1515) การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน และการจัดการหนี้สินร่วมกัน (หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส) สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 1463) การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดู ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ (มาตรา 1598/38) การรับบุตรบุญธรรมร่วมกันในฐานะคู่สมรส ใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งฯ ในมาตราว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ทันทีตามบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ หมวด 4 ว่าด้วยบุตรบุญธรรม
ในส่วนของความไม่ชัดเจน ในกรณีที่คนไทยจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ แม้กระทำได้ทันที แต่การได้สัญชาติตามคู่สมรสยังไม่สามารถรับสิทธินี้ได้ ต้องรอการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 และกฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ คู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องการมีทายาทสืบสายโลหิต ภายใต้พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558แม้ในทางปฏิบัติความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยีพันธุกรรมจะสามารถกระทำได้ เช่น การสร้างตัวอ่อนด้วยการโคลนนิ่งจากเนื้อเยื่อของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนเป็นตัวอ่อนแล้วนำไปฝากให้เจริญเติบโตในครรภ์ของคู่สมรสที่เป็นฝ่ายหญิงโดยกำเนิด ซึ่งอาจกระทำได้ แต่สำหรับในกรณีที่เป็นคู่สมรสที่แต่ละฝ่ายต่างไม่มีครรภ์ตามธรรมชาติ จะสามารถอุ้มบุญ หรือดำเนินการอย่างไร
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การรับราชการทหารเกณฑ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เข้ากรมฯ” ที่กำหนดให้ ชายไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารตามระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด โดยมี พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กล่าวไว้ว่า “บรรดาชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย เมื่อมีอายุ
ย่างเข้าสิบแปดปีในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตน...”เมื่อกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ และมีการสมรสของคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ สภาพบุคคลทางร่างกายที่เป็นชายหรือได้รับการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังจะถือว่าเป็นชาย ตามกฎหมายรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หรือสิ้นสภาพชาย และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ หรือไม่อย่างไร ที่ผ่านมาชายไทยที่สภาพทางเพศเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัด จะไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารเมื่อตอนไปรายงานตัว
หน่วยงานราชการหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตและสำนักงานอำเภอ ได้เริ่มรับจดทะเบียนสมรสผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นทางการตามกฎหมายแล้ว
แม้กฎหมายจะมีข้อบัญญัติไว้ชัดเจนหลายประการแต่อาจมีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติอยู่บ้างในระหว่างดำเนินการซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหากันต่อไปในอนาคต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี