nn ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) คงดอกเบี้ย ตามคาด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.25-4.50% โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดย้ำว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ยจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4 ปี 2567 ชะลอลงสู่ 2.3% QoQ annualized จาก 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แต่ยอดรีไฟแนนซ์หนี้ภาคเอกชนคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ การจ้างงานมีแนวโน้มลดลงจากนโยบายเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย รวมถึงสงครามการค้ากำลังทวีความรุนแรงขึ้น ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯขู่จะเพิ่มภาษีนำเข้ารายสินค้า เช่น กลุ่มพลังงานและโลหะ นอกเหนือการประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวประกอบกับนโยบายส่งเสริมการขุดเจาะน้ำมันที่ช่วยบรรเทาเงินเฟ้อซึ่งฝ่ายวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าเฟดสามารถพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 0.75% สู่ระดับ 3.50-3.75% ภายในปี 2568
เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวแบบเปราะบางจากปัจจัยกดดันทั้งภายนอกและภายในประเทศ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.75% พร้อมระบุว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวต่อเนื่องและคาดว่าจะกลับสู่เป้าหมายที่ 2% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 4 ปี 2567 อยู่ที่ 0% QoQ จากที่ขยายตัว 0.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเยอรมนีและฝรั่งเศส สองประเทศใหญ่สุดของยุโรป หดตัวลง -0.2% และ -0.1% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2568 ยังมีแนวโน้มโตต่ำและมีความเสี่ยงจากภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังอยู่ในระดับสูงอีกทั้งสองประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรป ได้แก่ เยอรมนีและฝรั่งเศส ยังคงเผชิญกับปัญหาทางการเมืองที่กำลังสร้างความไม่แน่นอนต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะถัดไป จากเหตุผลดังกล่าว วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75% สู่ระดับ2.00% ภายใต้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่กลับลงสู่ระดับ 2.00% ภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่การเติบโตของจีนโดยรวมยังพึ่งพามาตรการกระตุ้น ขณะที่การใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน ทางการ (NBS) รายงาน PMI ภาคการผลิต ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ และ PMI นอกภาคการผลิตชะลอตัวลงในเดือนมกราคม(ดังรูป) ส่วนกำไรภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาเป็นบวกในเดือนธันวาคมที่ 11% YoY จาก -7.3% ในเดือนพฤศจิกายน แต่โดยรวมทั้งปี 2567 ยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ที่ -3.3% การชะลอตัวของ PMI ล่าสุดส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหยุดทำการชั่วคราวก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ผลบวกจากช่วงเทศกาลน่าจะปรากฏให้เห็นชัดในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนกำไรภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา คาดว่าเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นรอบใหญ่ นอกจากนี้การเปิดตัวของ DeepSeek ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนที่เขย่าวงการAI ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนและโลกโดยรวม โดยเฉพาะผลกระทบจากการเร่งส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีราคาถูกจากจีน
สำหรับเศรษฐกิจไทย ในช่วงต้นปียังคงได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว ขณะที่คลังประเมินเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนอาจเติบโตต่ำกว่าคาด โดยภาคท่องเที่ยวแม้เผชิญความท้าทายแต่ยังจะเป็นแรงหนุนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2567 โดยภาพรวมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยว รวมถึงรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี ด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว แม้ได้อานิสงส์จากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 แต่ยอดขายยานยนต์หดตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากหมวดยานพาหนะและหมวดก่อสร้าง
วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2568 ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะสั้นแต่แนวโน้มโดยรวมยังคงเป็นบวก จากข้อมูลในช่วงวันที่ 1-26 มกราคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 3.02 ล้านคน (+19.3% YoY) สร้างรายได้ 150,650 ล้านบาท นำโดยนักท่องเที่ยวจีน (532,853 คน) ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy-E-Receipt และมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อาจให้ผลบวกไม่มาก และหากเทียบกับการแจกเงินในเฟส 1 วงเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนซึ่งพบว่าการบริโภคในช่วงดังกล่าวทรงตัว (ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน -0.1% QoQ) สะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอของผู้บริโภค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2567 จากขยายตัว2.7% เหลือเพียง 2.5% ส่วนปี 2568 ยังคงประมาณการ GDP ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5%-3.5%) นอกจากนี้ ทางการยังรายงานความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผ่านโครงการคุณสู้เราช่วย โดยมีลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวคิดเป็นเพียง 25% ของเป้าหมายที่จะช่วยแก้หนี้ได้ 2.1 ล้านบัญชี (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 28 มกราคม จำนวน 576,496 บัญชี)
การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ของสศค. สะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่อาจอ่อนแอกว่าคาดสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่ลดลง(ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2567 หดตัว 2.0% YoY แต่หากไม่รวมอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตจะขยายตัว 1.3%) ทั้งนี้ ยังต้องรอติดตามการประกาศตัวเลข GDP จากสภาพัฒน์ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้สำหรับข้อมูลการเข้าร่วมในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยยังมีผู้สนใจต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก ซึ่งชี้ว่าการบริโภคในปีนี้ อาจเติบโตได้จำกัดจากแรงกดดันของปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูความคืบหน้าของโครงการนี้หลังสิ้นสุดการเปิดให้ลงทะเบียนภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
** ธ.กรุงศรีฯ **
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี