เรื่องวุ่นวายของสนามกอล์ฟอัลไพน์และที่ดินธรณีสงฆ์ แม้จะเคยเป็นเรื่องราวใหญ่โต แล้วเงียบหายตอนนี้กลับมาเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้ง
ความเป็นมาแต่เดิมเริ่มจากคุณยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดาผู้เริ่มเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกกันว่า คุณยายเนื่อม ได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 ยกที่ดินเนื้อที่ 924 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่เขากระจก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งที่ตั้งของที่ดินตามพินัยกรรม และวัดผู้รับพินัยกรรม อยู่กันคนละจังหวัดห่างไกลกันมาก
ต่อมาอีก 2 ปี คุณยายเนื่อมได้เสียชีวิต และวัดได้ใช้ประโยชน์จากการให้เช่าแก่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการทำประโยชน์เพียงเล็กน้อย
ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ดินธรณีสงฆ์ไม่สามารถขาย หรือจำหน่ายจ่ายโอน แต่ที่ดินตามพินัยกรรมแปลงนี้กลับสามารถโอนขายให้กับบริษัทเอกชนผู้ประกอบธุรกิจ ได้อย่างสุดพิสดาร จนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามกฎหมาย
ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของคุณยายเนื่อม ซึ่งเป็นมูลนิธิทางพระพุทธศาสนาได้มีความคิดที่จะขายที่ดินแปลงนี้ หากมองในเจตนาดี อาจเป็นเพราะเห็นว่า ที่ดินตามพินัยกรรม อยู่กันคนละที่กับที่ตั้งวัด คนละจังหวัดห่างไกลกันมาก ดูแลลำบาก และไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้ตามความประสงค์ของคุณยายเนื่อม
ความพยายามการขายที่ดินธรณีสงฆ์นี้ เริ่มจากการยื่นเรื่องให้อธิบดีกรมที่ดินในขณะนั้น อนุมัติการขายแต่อธิบดีกรมที่ดินไม่ยอมอนุมัติรองปลัดกระทรวงไทยในขณะนั้น คือ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อาศัยในช่วงจังหวะที่รักษาราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้อนุมัติการขายที่ดินธรณีสงฆ์ตามพินัยกรรม
ผู้ซื้อที่ดินจากวัด เป็นบริษัทในครอบครัวของนายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งต่อมาได้ขายต่อให้ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ จำกัด ซึ่งมีบุคคลในครอบครัวชินวัตรถือหุ้นรวมทั้งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้นด้วย และได้โอนให้บุคคลอื่นก่อนรับตำแหน่งทางการเมือง
ต่อมาได้มีผู้ซื้อที่ดินจากบริษัทในเครืออัลไพน์ เพื่อเป็นบ้านอยู่อาศัยใกล้สนามกอล์ฟ ซึ่งถือว่าเป็นทำเลที่ดีและสวยงาม
เมื่อมีการร้องเรียนกันว่าที่ดินธรณีสงฆ์ได้ซื้อขายกันโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเหตุให้นายยงยุทธวิชัยดิษฐ ผู้อนุมัติการขายที่ดิน ซึ่งต่อมาได้เคยเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลางพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
นอกจากนี้ได้เคยมีความพยายามดำเนินคดีกับอดีตรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกคนหนึ่ง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่คดีได้ขาดอายุความ ทั้งที่มีอายุความนานถึง 20 ปี จนกลายเป็นตำนานทางกฎหมาย เพราะเมื่อจะฟ้องคดีอดีตนักการเมืองผู้นี้ซึ่งจะต้องนำตัวไปศาลในวันฟ้อง จะมีเหตุบังเอิญให้ป่วยทุกครั้ง จึงต้องเลื่อนการฟ้องคดีออกไปจนขาดอายุความ นับว่าเป็นเหตุบังเอิญโดยแท้
ล่าสุดมีการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกคืนที่ดินอัลไพน์ ซึ่งขายให้กับชาวบ้านที่ซื้อบ้านไปเป็นที่อยู่อาศัย รวมทั้งบางส่วนเป็นที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
สาธารณชนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า จะดำเนินการทางกฎหมายจริงจังขนาดไหน? หรือตั้งเป็นเรื่องเพียงเพื่อต่อรองทางการเมือง? และผลประโยชน์ทางการเมือง?
หากผู้เป็นเจ้าของที่ดินปัจจุบันต้องคืนที่ดินกลับไปให้เป็นที่ดินธรณีสงฆ์ของวัด ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า ชาวบ้านผู้ซื้อที่ดินโดยไม่รู้ถึงประวัติความเป็นมา
อันพิสดารของที่ดิน จะต้องรับเคราะห์อย่างไร ? และจะเรียกร้องจากใครได้บ้าง?
ในตอนแรกสังคมมองไปที่ บริษัทในเครืออัลไพน์ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ขายมือสุดท้าย อีกทั้งผู้ถือหุ้นในบริษัท ล้วนมีฐานะระดับเศรษฐี มหาเศรษฐี ซึ่งน่าจะรับผิดชอบและช่วยเหลือชาวบ้านผู้ซื้อที่ดินไปปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัยได้
แต่เมื่อไม่นานวันนี้ ได้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งให้ความเห็นว่า กรมที่ดินต้องเตรียมงบประมาณ 7 พันล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ชาวบ้านผู้ซื้อที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย
เมื่อเทียบเคียงกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต กลายเป็นการสร้างมาตรฐานซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เพราะในอดีตเจ้าของที่ดินที่ถูกเพิกถอนสิทธิ เช่น กรณีซื้อที่ดิน หรือรับโอนที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติ ต้องออกแรงฟ้องคดีเอง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายที่ดิน และยังมีสิทธิเรียกร้อง ค่าเสียหายจากหน่วยงานราชการที่ออกเอกสารสิทธิให้โดยมิชอบ ซึ่งได้แก่ กรมที่ดิน
กรณีจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเจ้าของที่ดินแต่ละราย ที่จะต้องดำเนินการฟ้องคดีเอง
ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องที่กระทำผิดโดยมิชอบ แม้จะได้รับโทษจำคุกไปแล้ว หากมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หน่วยงานรัฐต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายต่อการกระทำผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นั้น ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
ตามพระราชบัญญัตินี้ แม้หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายไปก่อน ถ้าหากเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยมิชอบ เพราะเหตุประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือทุจริตหน่วยงานของรัฐยังสามารถเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้เป็นการส่วนตัว
ปัญหามีว่า หากจะเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นรับผิดเป็นการส่วนตัว ค่าเสียหายที่เป็นจำนวนสูงถึงหลักพันล้านบาท หรือหมื่นล้านบาท เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะมีทรัพย์เพียงพอชดใช้ให้แก่ หน่วยงานของรัฐหรือไม่
นอกจากนี้ หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่าผู้ที่จัดการเรื่องการโอนที่ดินโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้รับโอนที่ดินจากการขาย รวมทั้งผู้รับโอนที่ดินจากการขายมาอีกช่วงหนึ่ง จนมาขายให้แก่ ประชาชนผู้ซื้อที่ดินปลูกบ้านนั้น ล้วนมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดทางการเมือง จนไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ ประเด็นอยู่ที่ว่า จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ร่วมกันกระทำความผิดหรือไม่หากร่วมกันกระทำความผิดจริง ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐและทางราชการ
ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งของตลกร้ายทางการเมือง ที่น่าเศร้าของประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี