ฝุ่น PM2.5 หรือชื่อเต็มว่า Particulate Matter with Diameter of Less Than 2.5 Micron เป็นฝุ่นละออง ขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ปะปนอยู่ในอากาศมีปริมาณหนาแน่นเกินมาตรฐานความปลอดภัย ต่อการดำรงชีวิตของประชากร จนกลายเป็นวิกฤตมลภาวะในอากาศ
ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหา ฝุ่น PM2.5 ถึงขั้นวิกฤต อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะทุกจังหวัดของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ทั้งที่แต่เดิมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ จนทำให้ประชาชนชาวไทยเกิดความรู้สึกว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
ฝุ่นอนุภาค PM2.5 เกิดจาก3 สาเหตุใหญ่ คือ 1) การเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร และไฟไหม้ป่า ซึ่งยากจะทำการดับ ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และจากประเทศเพื่อนบ้าน ปริมาณมากตามลำดับคือ กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว 2) ไอเสียจากการสันดาปของเครื่องยนต์ยานพาหนะ รวมถึงจากเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน3) สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เคลื่อนตัวเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามกระแสอากาศฤดูกาลธรรมชาติพัดพาเข้ามา
กรณีธรรมชาติอยู่เหนืออำนาจการจัดการของประเทศไทย แต่กรณีนี้ ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเผาป่าและพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว
การแก้ปัญหาวิกฤต PM2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงกับประสิทธิภาพแนวทางบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน
ในต่างประเทศ ประเทศอุตสาหกรรม3 ประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM2.5 ได้แก่ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน
บทเรียนจากการบริหารจัดการและควบคุมมลพิษในอากาศของประเทศอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) การบังคับใช้กฎหมาย และการยกระดับการควบคุมด้านกฎหมาย เช่น สหรัฐอเมริกา ได้ตรากฎหมายอากาศสะอาด 2533 (Clean Air Act of 1990) (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ. 2533 มีผลบังคับใช้มาจนปัจจุบัน 2) ปรับระดับ
ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศและการดำเนินทางปฏิบัติ (Air Quality Standards and Their Implementation) 3) ปรับค่ามาตรฐานระดับประเทศสำหรับแหล่งกำเนิดใหม่ ที่อาจก่อมลภาวะในอากาศ ประเภทอยู่กับที่ เช่น โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม 4) การปรับปรุงและจัดทำบัญชีรายชื่อสารก่อมลพิษทางอากาศ (Hazardous Air Pollutants) ที่จะต้องควบคุมเข้มงวด และ 5) การปรับระบบการอนุญาตการประกอบกิจการอุตสาหกรรม (กำหนดเงื่อนไขและบังคับใช้เข้มงวดกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศในการออกใบอนุญาตและต่ออายุ)
ประเทศไทยได้เริ่มยกระดับกฎหมายด้วยการเสนอร่างกฎหมายอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ..... ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเชิงป้องกัน แต่มิได้ให้ความสำคัญยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
การแก้ไขปัญหาวิกฤต ฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลปัจจุบัน ยังเป็นในลักษณะของการตั้งรับ ไม่ได้ ดำเนินการในเชิงรุก
รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยถือว่าปัญหาวิกฤต ฝุ่น PM2.5เป็นวาระแห่งชาติ โดยการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาวางนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังแบบบูรณาการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการโดย นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละคนล้วนมีภารกิจมากมายอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง และอย่างเป็นรูปธรรม
สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในขณะนี้คือ ติดตามผลการเผาป่า และพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงวางมาตรการให้ภาคเอกชนรับซื้ออ้อยที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยเพียง 25% และวางมาตรการที่จะไม่รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาพื้นที่การเกษตร ซึ่งนับว่า เป็นการดำเนินการและเป็นนโยบายที่ยังไม่ได้เป็นเชิงรุกอย่างจริงจัง ซึ่งยังไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
รัฐบาลได้ห้ามประชาชนเผาป่าและพื้นที่การเกษตร โดยถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งที่ในความเป็นจริง เกษตรกรเป็นจำนวนมากเผาป่าเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว จนเป็นเรื่องปกติและเป็นวิถีชีวิต เพราะรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย การที่รัฐบาลจะให้ประชาชนเลิกเผาพื้นที่การเกษตรหลังเก็บเกี่ยวแล้ว รัฐบาลต้องมีมาตรการอื่นรองรับที่ชัดเจน เช่น ให้เงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกร ให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการแจกจ่ายจุลินทรีย์ให้แก่เกษตรกร เพื่อเร่งให้เกิดผลผลิตหลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งได้มีการทดลองจากเกษตรกรผู้รู้ในพื้นที่หลายพื้นที่ และได้ผลเป็นที่ประจักษ์ เป็นการจูงใจให้เกษตรกรไม่เผาพื้นที่การเกษตรหลังเก็บเกี่ยว แต่รัฐบาลไม่เห็นปัญหาและไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้เลย
ปัญหาวิกฤต ฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไอเสียรถยนต์ที่เกิดจากการสันดาปหรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นรถยนต์ส่วนใหญ่ของประเทศ มีมากถึง 2.8 ล้านคัน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด ฝุ่น PM2.5 ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีเพียงประมาณ 200,000 คัน หรือ 7.14% ของจำนวนรถยนต์ทั้งประเทศ
รัฐบาลไม่สามารถสั่งห้ามประชาชนใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันในทันที เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล อีกทั้ง ประเทศไทยเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย
สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือ ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยให้มาตรการทางด้านภาษีจูงใจในการลดอัตราภาษีทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลงอย่างมากและส่งเสริมให้มีการลงทุนในการสร้างสถานีเติมไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 และสนใจจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อครบรอบหรือถึงคราวที่ต้องเปลี่ยนรถยนต์ แต่ยังมีความกังวลในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถานีเติมไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ ทั้งในกรุงเทพฯและในจังหวัดต่างๆ
ในช่วงเทศกาลที่มีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก เช่น สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ คนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแม้จะมีจำนวนไม่มาก ยังต้องจองเวลาเพื่อเติมไฟฟ้าจากสถานีเติมไฟฟ้าที่ให้บริการ เมื่อประสบกับปัญหาจราจรติดขัดอย่างหนัก ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงสถานีตามกำหนดเวลาที่จองไว้ กลับเสียโอกาสหรือเสียคิวที่จองไว้ ต้องให้บุคคลอื่นใช้บริการตามเวลาที่จองไว้แทน และต้องรออีกหลายชั่วโมงกว่าจะได้เติมไฟฟ้า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ยิ่งไปกว่านั้น รถยนต์โดยสารประเภทขนส่งมวลชนสาธารณะที่ใช้น้ำมัน ส่วนใหญ่จะมีสภาพค่อนข้างเก่า ก่อให้เกิดมลพิษอย่างมาก เมื่อแล่นให้บริการ มักจะปล่อยควันและไอเสียออกมาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิด ฝุ่น PM2.5 ทั้งที่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนทั่วไป แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่สำคัญ หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตรงจุด จะเป็นการเกาถูกที่คัน ไม่ใช่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไปในแต่ละวัน หรือเป็นเพราะรัฐบาลยังไร้เดียงสาเกินไป กับปัญหาวิกฤต ฝุ่น PM2.5
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี