วันที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 02.01 น. เกิดเหตุทางยกระดับที่กำลังก่อสร้าง ทรุดตัว ถล่มลงบนถนนพระรามที่ 2 ช่วงซอย 25 ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ สูญหาย 5 ราย และบาดเจ็บ 27 ราย
การก่อสร้างทางยกระดับนี้เป็นโครงการของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3ขาเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร
ถนนพระรามที่ 2 มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”มีการก่อสร้างยาวนานถึงราว 54 ปี มีระยะทางรวมทั้งสิ้นเพียง 85 กิโลเมตร
ข้อมูลทางสถิตอุบัติเหตุงานก่อสร้างบริเวณถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง ตั้งแต่ปี 2562-2568 มีมากกว่า 2,500 ครั้ง
หลังเกิดอุบัติเหตุ ได้มีผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) คนหนึ่งลงพื้นที่และได้ให้ความเห็นหลังจากที่ได้ตรวจดูสภาพพื้นที่แล้วว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย”
เมื่อผู้แทน วสท. ได้ให้ความเห็นไปไม่นาน ได้มีนักวิชาการและสื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างมากมาย เพราะการด่วนให้ความเห็นว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ทำให้บุคคลทั่วไปมีข้อสงสัยว่า วสท. ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรกลางที่มีความน่าเชื่อถือในการให้ความเห็นเกี่ยวกับวิศวกรรม เหตุใดจึงเร่งรีบให้ความเห็นเช่นนั้นโดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ราวกับเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้รับงานช่วงบางราย หรือไม่ ?
คำว่า เหตุสุดวิสัย มีความหมายอย่างง่ายๆ ว่า เหตุใดๆ หรือภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถจะป้องกันได้ ไม่ว่าจะโดยผู้ประสบเหตุ หรือใกล้จะประสบเหตุได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในภาวะเช่นนั้น
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีลักษณะคล้าย หรือใกล้เคียงกันดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงควรที่จะคาดหมายและใช้ความระมัดระวังได้ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์หรือภัยพิบัตินั้นอีก
สื่อมวลชนและนักวิชาการได้เปิดเผย งานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างถนนพระราม 2 และอันตรายทางธรณีวิทยา โดย ดร.ธีระชาติ รื่นไกรฤกษ์ - วิศวกรวิเคราะห์และวิจัย กรมทางหลวงโครงสร้างทางวิศวกรรม และ ลักษณะดินทางธรณีวิทยา ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้างถนนพระราม 2 เมื่อพ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นเวลานานถึง 55 ปีแล้วปัจจุบันวิศวกรผู้ทำวิจัยดังกล่าว ได้ถึงแก่กรรมแล้ว
ผลงานวิจัยนี้ ได้ให้ความเห็นสรุปว่า ไม่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างทางลอยยกระดับ หรือถนนสายหลักวางบนดิน เนื่องจาก ใต้ชั้นดินมีปัญหา “แอ่งพรุน้ำซึมตลอด” แม้จะแก้ปัญหาโดยการถมทรายจำนวนมาก แต่ไม่นานน้ำก็ซึมเข้ามาทำให้ ดินยวบตัว ไม่สามารถทำให้ดินแน่นหรือรองรับน้ำหนักโครงสร้างได้ ควรยุติแนวคิดก่อสร้างทางลอยยกระดับ เพราะเสี่ยงต่อการถล่ม
แม้ความเห็นตามงานวิจัยนี้ เป็นความเห็นเมื่อ 55 ปีก่อนแต่ด้วยเทคโนโลยี และเทคนิคในการก่อสร้างทางด่วนในปัจจุบันผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง ย่อมคาดการณ์และใช้ความระมัดระวังในการป้องกันไม่เกิดอุบัติเหตุและความเสียหายได้
ปัจจุบันการก่อสร้างที่ทันสมัย ยังสามารถขุดเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาเพื่อสร้างทาง, สร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำขนาดใหญ่,สร้างสะพานให้รถแล่นเพื่อข้ามจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะที่อยู่ในทะเลได้ ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการถล่มของภูเขา หรือการยุบตัวของชั้นดินที่อยู่ในทะเล
ประเด็นที่เป็นดราม่าและสะเทือนใจผู้ติดตามข่าว เมื่อผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ ตอนถูกถามเกี่ยวกับประเด็นว่า จะลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่
ท่านได้ให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาในลักษณะว่า ท่านไม่ได้เป็นคนผูกเหล็กก่อสร้างเอง จะให้ท่านรับผิดชอบได้อย่างไร และถึงท่านจะลาออก คนตายก็ฟื้นคืนกลับมาไม่ได้สังคมได้ตั้งคำถามว่า คำสัมภาษณ์นั้นมีส่วนถูกอยู่พอสมควร แต่เป็นเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม สำหรับการพูดเช่นนั้นหรือไม่
สิ่งที่แน่นอนคือ ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กร คือผู้บริหาร ย่อมมีหน้าที่สอดส่องดูแล และใช้ความระวังในการบริหารงาน หากการบริหารงานเกิดความผิดพลาดและบกพร่อง อย่างไรเสียผู้บริหารสูงสุดจะปฏิเสธความรับผิดในการบริหารการสอดส่องดูแล ตลอดจนการใช้ความระมัดระวัง ได้อย่างไรอย่างไร ?
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ วันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิใน โทรโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ หมายเลขหนึ่งเสียหายอย่างมาก และได้ปลดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีออกมาถือว่าเป็นภัยพิบัติทางด้านนิวเคลียร์ที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งและจัดได้ว่าเป็นการรุนแรงเป็นอันดับที่สอง รองจากเหตุภัยพิบัติโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ในประเทศยูเครน (ในขณะเกิดเหตุยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย) เมื่อพ.ศ. 2529
ประเด็นมีอยู่ว่า ก่อนการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิชิ ได้เคยมีงานวิจัยของนักวิชาการชาวญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า บริเวณที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวไม่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับชั้นเปลือกโลกและชั้นดิน หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง อาจเป็นเหตุให้เกิดเหตุอันตรายในการที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลดปล่อยพลังงานกัมมันตภาพรังสีได้ แต่ผู้บริหารและรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นไม่ได้ให้ความสนใจ ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป จนเกิดเหตุภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นขึ้นจนได้
ในเวลาต่อมานักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่กล้าเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นต้องลดราคาลงอย่างมาก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมา ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นอีกครั้ง รวมถึงผลกระทบจากการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น ที่หลายประเทศไม่กล้ายอมรับและนำเข้าประเทศในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นงานวิจัยเตือนเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก และได้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งจนผู้คนลืมไปในที่สุด
ฤาว่า งานวิจัยเกี่ยวกับการเตือนภัยในการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ของนักวิชาการไทย ไม่ได้รับความสนใจเพราะมีนักการเมืองและผู้มีอำนาจ กว้านซื้อที่ดิน บริเวณถนนพระราม 2 ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว หรือว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ซับซ้อนล้วนๆ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี