ll ผลพวงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ส่งผลให้อุปกรณ์ไอที มีแนวโน้มกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) เร็วกว่ากลุ่มสินค้ากลุ่มอื่นๆ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้วงจรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีอายุสั้นลง โดยจากข้อมูลของ The Global E-waste Monitor ระบุว่า ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ณ ปี 2022 อยู่ที่ 62 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่82 ล้านตัน ในปี 2030 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 2.6 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้หากกลับมาดูที่ไทยจะพบว่าไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหา E-waste ล้นเมืองเช่นกัน สะท้อนได้จากรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ ที่ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีปริมาณ E-waste เพิ่มขึ้นราว 17% ต่อปี ในช่วงปี 2011-2022 มาอยู่ที่ 439,495 ตัน ในปี 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนสินค้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนค่อนข้างเร็วสอดคล้องกับข้อมูลจากผลสำรวจของ SCB EIC ในหัวข้อ “การบริโภคอย่างยั่งยืน” พบว่า อุปกรณ์ไอที อย่างเช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็น E-waste เร็วกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยราว 30% นิยมเปลี่ยนอุปกรณ์ไอที ใหม่ทุก 1-5 ปี
ปัจจุบันผู้บริโภคไทยเริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและ E-waste มากขึ้น แต่บางส่วนยังมีปัญหาในการบริหารจัดการE-waste ให้เหมาะสม โดยผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและ E-waste มากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากข้อมูลผลสำรวจ Euroconsumers ที่ระบุว่า มากกว่า 90% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มประเทศ EU ตระหนักว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช่ขยะทั่วไป โดยราวเกือบครึ่งตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรีไซเคิล E-waste อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญคือ การบริหารจัดการที่ถูกต้อง โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจน้อยกว่าครึ่งที่สามารถแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกวิธี เช่นเดียวกับไทยจากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่า มากกว่า 88% ของผู้ตอบแบบสำรวจ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มขึ้นของปริมาณE-waste โดย 30% ตอบว่ามีการนำไปทิ้งที่จุดรับทิ้ง E-waste อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคบางส่วนยังมีปัญหาในการจัดการกับ E-waste โดยพบว่า ราว 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงมีพฤติกรรมเป็นนักสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากแทบจะไม่เคยทิ้งหรือทิ้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น้อยมาก
จากปัญหา E-waste ส่งผลให้ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมากขึ้นสอดคล้องกับเทรนด์โลก แต่ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณหากสินค้ามีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไป ซึ่งปัญหามลพิษและปริมาณ E-waste ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้นขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลของ Future Market Insights ที่ระบุว่า มูลค่าตลาดของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 เป็น 1.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2033 โดยมี อัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 26.14% ต่อปี (ระหว่างปี 2023-2033) ขณะที่แนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวในไทยมีแนวโน้มเติบโตเช่นเดียวกับทิศทางเทรนด์โลก โดยจากผลสำรวจฯ ของ SCB EIC พบว่า กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่มีความสนใจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวและยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมากกว่าครึ่งยินดีจ่ายเงินเพิ่มแต่ไม่เกิน 5% ขณะเดียวกัน ยังคงมีผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่สนใจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและมองว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ ผู้บริโภคราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจเริ่มมองว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น การประหยัดพลังงานการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
แรงกดดันด้าน ESG เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มุ่งไปสู่การพัฒนาสินค้าสีเขียวเร็วขึ้นซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคสะท้อนว่าแรงกดดันด้าน ESG คือ ความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์และพัฒนาการผลิตไปสู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคสายกรีนมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตผ่านการรับรองตามมาตรฐานจากบริษัทคู่ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน โดยปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้มีความตื่นตัวกับปัญหา E-waste มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับวางขายใน EU จะต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ EU กำหนด สำหรับไทย ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ. กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของรัฐสภาและมีการบังคับใช้ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทยที่นำไปสู่การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการ E-waste และการพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของไทยยังมีความท้าทายอีกมาก ซึ่งมาตรการภาครัฐจะมีส่วนผลักดันที่สำคัญ แม้ภาครัฐจะอยู่ระหว่างการเสนอกฎหมายในด้าน E-waste ออกมา แต่ในแง่ของการปฏิบัติ ยังคงมีความท้าทายอีกมากเนื่องจากการจัดการ E-waste ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้ง ยังต้องการทรัพยากรทั้งในด้านเงินทุนและบุคลากร ซึ่งในปัจจุบัน จะพบว่าการจัดสรรพื้นที่หรือจุดรับทิ้ง E-waste ตามชุมชนยังมีไม่เพียงพอนอกจากนี้ แม้ผู้บริโภคไทยจะเริ่มตื่นตัวกับปัญหา E-waste มากขึ้น แต่ยังคงขาดองค์ความรู้ในการทิ้งหรือคัดแยก E-waste ออกจากขยะทั่วไปอยู่ อีกทั้ง การบังคับใช้กฎหมายอาจยังไม่มีความเข้มงวดเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ปัญหา E-waste ยังคงเป็นภัยร้ายต่อไทยอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ทั้งนี้จากผลสำรวจของ SCB EIC ได้รวบรวมข้อคิดเห็นและความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ 1) ส่งเสริมการจัดให้มีจุด “รับคืน” หรือ “รับซื้อ” ขยะอิเล็กทรอนิกส์2) จัดให้มีจุด “รับทิ้ง” ขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบแยกประเภท 3) ส่งเสริมโครงการอุดหนุนการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 4) สิทธิพิเศษทางภาษีจากการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวสำหรับภาคธุรกิจ เช่น อุปกรณ์สำนักงานที่ประหยัดพลังงานหรือที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ 5) โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะและข้อมูลผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียว 6) ออกกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจัง 7) ส่งเสริม/ดึงดูดการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว รวมไปถึงออกกฎหมายควบคุมและขึ้นภาษีสำหรับกลุ่มที่ไม่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว และ 8) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี