เหตุการณ์แผ่นดินไหว จากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ใกล้เมือง มัณฑะเลย์ในประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 1,000 กิโลเมตร เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.20 น. แรงสั่นสะเทือนขนาด 8.2 รับรู้ได้ทั่วประเทศไทย จนเป็นเหตุให้อาคารของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างถล่ม มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก สร้างความตระหนกตกใจให้แก่คนไทยโดยทั่วไป เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน
รอยเลื่อนสะกาย ที่เปลือกโลกในประเทศเมียนมานี้ ได้รับการจัดอันดับเป็น รอยเลื่อน ที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยที่คนไทยไม่ได้รับทราบข้อมูล หรือตระหนักถึงเรื่องนี้ จนมีเหตุการณ์เกิดขึ้น
อาคาร สตง. แห่งใหม่นี้ อยู่ย่านจตุจักร กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 มีขนาดความสูง 30 ชั้น งบประมาณในการก่อสร้าง 2.136 พัน ล้านบาท การก่อสร้าง
คืบหน้าหรือเสร็จไปแล้วประมาณ 30% แต่หากพิจารณาจากภาพที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่า งานก่อสร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเกือบทั้งหมด ถือว่าเสร็จแล้ว
แต่ที่การก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด
สิ่งที่ประชาชนทั้งหลายข้องใจอยู่ตรงที่ว่า อาคาร สตง. แห่งใหม่นี้ แม้จะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ถือว่า เป็นอาคารขนาดใหญ่เพียงอาคารเดียวที่พังถล่มทั้งหลัง ในขณะที่อาคารขนาดใหญ่หลายแห่งไม่ได้ถล่มหรือเสียหายมากขนาดนี้
ตามกฎหมายควบคุมการก่อสร้างฉบับใหม่ อาคารสูงที่ก่อสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 ต้องออกแบบและก่อสร้างเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว แต่เหตุใดอาคาร สตง. แห่งนี้ ที่เริ่มก่อสร้าง เมื่อปีพ.ศ. 2563 ทั้งที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายใหม่ และเป็นอาคารสถานที่ราชการ จึงได้พังลงอย่างง่ายดาย ราวกับไม่ได้ก่อสร้างเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญบางท่าน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาคาร สตง. แห่งนี้เป็นอาคารสูงชะลูดที่สูงถึง 30 ชั้น แต่ชั้นล่างสุดได้ก่อสร้างตามแบบ ที่มีลักษณะเว้าเข้าไป ดูคล้ายกับเป็นชายคาอาคาร แต่อยู่ในตัวอาคาร ทั้งที่ ชายคาอาคารโดยทั่วไปจะเป็นส่วนที่อยู่ภายนอก
ในส่วนที่คล้ายกับชายคาอาคารที่เว้าเข้าไปข้างในอาคารจะเป็นพื้นที่โล่งในส่วนที่ความสูง น่าจะประมาณ 2-3 ชั้นและมีเสาทรงสูงที่มีลักษณะผอมบาง รองรับน้ำหนักด้านหน้า เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นเสาชัดเจนเพียงแค่ 2 ต้น ทั้งที่น่าจะมีมากกว่านี้ ซึ่งเป็นข้อที่น่าสงสัยว่า ได้มีการแก้ไขการออกแบบ หรือการก่อสร้าง ลดจำนวนเสาด้านหน้า เพื่อให้ดูสวยงามหรืออย่างไร ?
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เสาด้านหน้าที่รองรับน้ำหนัก ในลักษณะที่ไม่น่าจะมั่นคงแข็งแรงตามสภาพ ได้หักพังก่อน เป็นเหตุให้อาคารทรุดตัวพังลงมาทั้งหลังในตำแหน่งเดียว คล้ายกับการทรุดตัวของ ขนมแพนเค้ก ที่วางซ้อนกันหลายชั้นและทรุดตัวลง เป็นเหตุให้อาคารถล่มลงทั้งหลัง
ต่อมาที่มีหน่วยราชการหลายหน่วย เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ แต่ยังไม่ได้เปิดประเด็นในเรื่อง มาตรฐานของปูนซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้าง
ข้อสังเกตมีว่า ตัวอย่างเหล็กก่อสร้างจากที่เกิดเหตุ อย่างน้อย 2 ตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานและมีแหล่งผลิตมาจากโรงงานของบริษัทชาวจีนที่ ระยองที่ถูกสั่งให้ปิดกิจการเมื่อ
วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เพราะการผลิตไม่ได้มาตรฐาน
กรณีนี้อาจเป็นไปได้ว่าเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างในขณะนั้นมาจากโรงงานที่มีปัญหาตั้งแต่ก่อนถูกสั่งให้ปิดกิจการ
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาว่า ในการตรวจสอบคุณภาพโดยสถาบันที่เกี่ยวกับเหล็กในประเทศไทย เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างจากตัวอย่างที่เก็บมาในที่เกิดเหตุเป็นเหล็กที่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ หากไม่ได้มาตรฐาน แล้วปล่อยปละละเลยให้ก่อสร้างจนเป็นเหตุให้อาคารถล่ม ทรัพย์สินเสียหาย มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
อัยการอาวุโส ได้ให้ความเห็นว่า การก่อสร้างอาคาร สตง. ที่พังถล่มแห่งนี้ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และยังไม่ส่งมอบให้ สตง. ตามสัญญาก่อสร้างทางราชการต้องถือว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า ยังต้องรับผิดชอบต่อทางราชการ โดยการสร้างให้ใหม่ เพราะถือว่า ยังไม่ได้ส่งมอบให้ทางราชการจะอ้างเหตุสุดวิสัยไม่ได้
หลังจากนั้น กิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้ออกมาให้ข่าวว่า การก่อสร้างอาคารแห่งนี้ ได้ทำประกันภัยคุ้มครองความเสียหาย ไว้กับบริษัทถึง 3 แห่ง จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ในความเป็นจริงแล้วถือว่าเป็นความเข้าใจของบรรดาผู้รับเหมาแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะบริษัทประกันภัยจะไม่ใจดี จ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายจำนวนสูงถึงหลัก 2 พันกว่าล้านบาท โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง
บริษัทประกันภัยจะยึดหลักกฎหมายว่าในกรณีที่มีภัยหรือความเสียหายเกิดขึ้น จะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือจ่ายค่าเสียหายให้ ในกรณีที่เกิดจากการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ดังนั้น หากผลการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กที่เก็บจากที่เกิดเหตุอย่างเป็นทางการพบว่าเหล็กที่ใช้ก่อสร้าง ไม่ได้มาตรฐานจริงจะถือได้ว่าภัยหรือความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจาก อาคาร สตง.ถล่มเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยทางธรรมชาติ บริษัทประกันทั้งหลายจะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
บริษัทรับก่อสร้างทั้งหลายหากคิดผิดต้องคิดใหม่และวางแผนปรับตัวหรืออาจกลายเป็นบทละครน้ำเน่าที่เคยมีในอดีตปล่อยให้บริษัทขาดทุน ล้มละลายและตามหาผู้รับผิดชอบ
ให้ชดใช้เงินไม่ได้เลย
ผลของเหตุการณ์นี้ ยังเกิดแรงกระเพื่อมหรืออาฟเตอร์ช็อกทางกฎหมาย มีการตรวจสอบผู้ถือหุ้นบริษัทที่มาจากประเทศจีน และมีผู้ถือหุ้นคนไทย 51% เพื่อให้เป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่สามารถประกอบธุรกิจได้ทุกประเภทแบบคนไทย พบว่า บรรดาผู้ถือหุ้นคนไทยเหล่านั้น น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นแทนหรือที่เรียกกันว่า นอมินี เพราะพิจารณาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เป็นจริง ไม่น่าที่จะมีความสามารถถือหุ้นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ ทุนจดทะเบียนสูงรับงานระดับหลายพันล้านบาทหลายงานทั่วประเทศ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลได้
อาฟเตอร์ช็อก หรือ การสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหวตามธรรมชาติ ที่ว่าแรงแล้ว อาฟเตอร์ช็อกทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากเหตุนี้ ยังนับว่าแรงกว่า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี