ประเด็นร้อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีของฝ่ายค้านในการประชุมสภานิติบัญญัติอยู่ตรงที่ว่า นายกรัฐมนตรีจงใจทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษีการรับให้ (หุ้น) มูลค่ารวม 218 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2559 โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (PromissoryNote หรือ P/N) จำนวน 9 ใบมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการซื้อหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่แทนการจ่ายเงิน จริงหรือไม่?
ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จินตนาการขึ้นมาเอง แต่เป็นข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ความเป็นมาแต่เดิมมีว่า นายกรัฐมนตรีได้รับโอนหุ้นมาจาก พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ โดยแสดงหลักฐานว่า เป็นการซื้อหุ้นจากญาติสนิท แต่แทนที่จะจ่ายเงินค่าหุ้นแบบการซื้อขายหุ้นทั่วไป นายกรัฐมนตรี ได้จ่ายค่าหุ้นด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยไม่มีวันครบกำหนดเวลาชำระเงิน และไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยในการชำระเงิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติจากการซื้อขายหุ้นทั่วไป
ตามข้อเท็จจริง หากนายกรัฐมนตรีได้รับโอนหุ้นจากญาติด้วยการให้ โดยไม่ต้องชำระค่าหุ้น นายกรัฐมนตรีต้องเสียภาษีการรับให้ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 42(27) ที่แก้ไขใหม่และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เงินได้จากบุพการี (พ่อ แม่) ผู้สืบสันดาน (ลูก) หรือคู่สมรส จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ในส่วนที่เกินต้องเสียภาษี 5% และตามมาตรา 42(28) เงินได้จากบุคคลอื่น จากการอุปการะ หน้าที่ธรรมจรรยา หรือการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธี หรือตามโอกาส แห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกินต้องเสียภาษี 5%
ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีได้รับโอนหุ้นจากพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ด้วยการให้ นายกรัฐมนตรีจะต้องเสียภาษีการรับให้ เป็นจำนวนเงินสูงถึง 218.7 ล้านบาท
แต่นายกรัฐมนตรีได้จัดทำเอกสารเพื่อแสดงว่า ได้ชำระมูลค่าหุ้นโดยการซื้อหุ้นเป็นมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ไม่มีวันกำหนดเวลาชำระเงิน และไม่กำหนดดอกเบี้ย
หากเป็นการซื้อขายหุ้นกันจริง ผู้ขายหุ้นต้องชำระภาษีเงินได้ ในส่วนที่เกินมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน ซึ่งในกรณีนี้ ต้องตรวจสอบกันอีกว่า การซื้อขายหุ้นเป็นไปตามมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน หรือเรียกกันว่าตามราคาพาร์(Par Value) หรือไม่?
แต่เมื่อผู้ขายหุ้นในกรณีนี้ ยังไม่ได้รับเงินสดเลยแม้แต่บาทเดียว จึงถือได้ว่า ยังไม่มีรายได้ที่เกิดจากการรับเงิน จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนของผู้ขายหุ้น
ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะแสดงหลักฐานอย่างไรมีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนคือหุ้นบริษัทที่นายกรัฐมนตรีได้มานี้ เป็นหุ้นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดี มีการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูง นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีได้รับโอนหุ้นมา ใครเป็นผู้รับเงินปันผลจากหุ้นดังกล่าว? หากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับเงินปันผลเอง แสดงว่า นายกรัฐมนตรีได้ประโยชน์จากการรับโอนหุ้นแล้ว แต่ยังไม่เคยชำระ เงินค่าหุ้น จะถือเป็นการได้หุ้นจากการรับให้ หรือไม่?
เมื่อสาธารณชนเพ่งเล็งและสนใจเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีจึงบอกว่า จะชำระค่าหุ้นตามตั๋วสัญญาได้เงินในปีหน้า จึงถือว่า เป็นเหตุบังเอิญโดยแท้ หากไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ อาจยังไม่มีวันกำหนดเวลาจ่ายเงิน ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลย
งานนี้ต้องชมเชยพรรคฝ่ายค้านพอสมควรที่ทำการบ้าน ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุผล
ในทางตรงข้าม นายกรัฐมนตรีไม่สามารถอธิบาย หรือให้เหตุผลที่รับฟังได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงแต่บอกว่า เชื่อว่าตนอายุยังน้อย แต่จ่ายภาษีเงินได้มากกว่าบุคคลอื่น
คำอธิบายของนายกรัฐมนตรี กลายเป็นการยกตนข่มท่าน ไม่มีเหตุผลอะไร การเสียภาษีเงินได้มาก แต่จ่ายไม่ครบถ้วน ก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ให้ครบถ้วนอยู่ดี
เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรบางท่าน ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า นิติกรรมการรับโอนหุ้นของนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่กระทำได้
เจ้าของกิจการที่เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วน และบริษัทหลายแห่ง เมื่อรับฟังแล้วรู้สึกเปรียบเทียบกับกิจการของตนว่า หากห้างหุ้นส่วน และบริษัทของตนแสดงรายจ่ายบางประเภทสูงเกินไป เจ้าหน้าที่สรรพากรจะไม่เชื่อ เพราะจะมีผลต่อกำไรของห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัท ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้กำไรลดลงและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกเกินไป หรือไม่เสียเลย อาจถูกตรวจสอบและประเมินภาษีใหม่ ต้องจ่ายค่าปรับและเงินเพิ่ม
นิติกรรมการรับโอนหุ้นของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน หรือยากเกินไปสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนไม่สูงมาก และถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากเงินเดือนทุกเดือน ซึ่งไม่มีทางที่จะหลบเลี่ยงหนีภาษีจะเข้าใจ และคิดทำได้ถึงขนาดนี้
หากทำได้ คงทำได้แต่เพียง กะพริบตาปริบๆ และส่ายหน้าอย่างช้าๆ เท่านั้นเอง
ดร.รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ
Marut Bunnag International Law Office
rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @RujiraBunnag
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี