** หลายคนเริ่มถาม...สรรพสามิตจะได้ปรับภาษีบุหรี่...กี่โมง??...เพราะด้วยความเป็นห่วงการเงินการคลังของประเทศ...ภาษีหลายตัวก็ทำท่าจะเก็บได้น้อยลง...เช่นภาษียาสูบ ของกรมสรรพสามิต...ที่ลดลงต่อเนื่องมา 10 ปีแล้ว ไม่ต่างอะไรกับผลกำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ที่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1 พันล้านบาท แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังหาทางแก้ไม่ได้...ปี 2567 ที่ผ่านมา ยังดีหน่อยที่ ยสท. มีกำไรกระโดดจาก 219 ล้านบาท มาเป็น 735 ล้านบาท ต้องขอบคุณรายได้จากการส่งออกบุหรี่ไปต่างประเทศที่พุ่งกว่า 200% แตะระดับ 618 ล้านบาท รวมถึงรายได้จากการขายสมบัติบรรพบุรุษ และการรัดเข็มขัดขององค์กร สวนทางกับรายได้จากการขายบุหรี่ในประเทศที่ตกเป้าทั้งที่เป็นธุรกิจหลัก...ยสท. ยอมรับว่าตลาดในประเทศไปต่อยาก เพราะในแต่ละปีอุตสาหกรรมค่อยๆหดตัวลงปีละประมาณ 4% แถมปัญหาโครงสร้างภาษียาสูบยังฉุดรั้งรายได้และกำไรมาตลอด 8 ปี...ก็เลยทำให้ คุณภูมิจิตต์ พงศ์พันธุ์งาม ผู้ว่า ยสท. ติดสินใจว่าจะดันโครงสร้างภาษีใหม่แบบ 3-เทียร์ อย่างเต็มที่!...ด้วยหลักคิดที่ว่า...ไหนๆ ตัวเองก็ขายได้แต่กลุ่มราคาประหยัด ก็ลดราคาสู้บุหรี่เถื่อนไปเลย ..!! ท่านผู้ว่า ยสท.คงลืมบทเรียนไปว่าตอนเสนอปรับโครงสร้างเป็น 2 เทียร์เมื่อคราวที่แล้ว ก็ไม่ทันได้คาดการณ์ว่าคู่แข่งที่เป็นผู้นำเข้าก็พร้อมสู้เต็มที่ ลดราคามาชนกัน จน ยสท. เพลี้ยงพล้ำ ยอดขายหาย รายได้หด...แถมเตรียมเรียกแขกจากฝั่งคุณหมอและกระทรวงสาธารณสุขได้เลยที่จะไม่ยอมให้มีภาษี 3 อัตรา เพื่อให้บุหรี่ราคาถูกลงไปเกือบเท่าตัวอย่างเด็ดขาดและยังสวนทางองค์การอนามัยโลก อีกต่างหาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คงไม่ยอมง่ายๆงานนี้...ท่านผู้ว่า ยสท.ดับเครื่องชนขนาดนี้...ไม่แน่ใจว่าปรึกษา ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต แล้วหรือยัง เพราะสรรพสามิตเองก็ลำบากไม่น้อย...ในปีงบประมาณ 2568 นี้ สรรพสามิตปรับลดเป้าบริหารการจัดเก็บภาษียาสูบลงถึง 20% จากเดิมที่ 61,500 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เหลือ 49,000 ล้านบาท เท่านั้น และไม่รู้ว่าปิดปีจะทำยอดได้ตามเป้าหรือไม่ เพราะ 6 เดือนแรก ปีงบประมาณ 2568 ยังจัดเก็บภาษียาสูบได้ต่ำกว่าเป้าบริหารที่ว่าต่ำแล้ว 3.6 %...สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบไทยตอนนี้เรียกได้ว่า เป็นหนังคนละม้วนกับที่คาดไว้ว่าจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบ แวดวงการเงิน...ยังจำได้แม่น ตอนที่เอาภาษีแบบ 2-เทียร์มาใช้ เพื่อบรรเทาผลกระทบแก่อุตสาหกรรมยาสูบและผู้บริโภคยาสูบที่มีรายได้น้อย ให้มีเวลาปรับตัวมากขึ้น แถมยังคาดว่าจะได้เม็ดภาษีเพิ่ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยอดขายบุหรี่ถูกกฎหมายหด กำไรของผู้ประกอบการหาย รายได้ภาษีลดลง ในขณะที่ผู้บริโภคหันไปสูบของเถื่อนกันทั่วเมือง...อัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่งเผยแพร่จากสถิติแห่งชาติสะท้อนว่า จากปี 2564- 2567 ผู้สูบบุหรี่ลดลงเพียง 1 แสนคน แม้ยังคงสูบบุหรี่มวนโรงงานเป็นหลัก แต่ก็สวนทางกับขนาดตลาดบุหรี่มวนที่หดตัวลงเรื่อยๆ บุหรี่มวนโรงงานที่ว่าคงหนีไม่พ้นบุหรี่เถื่อน คนซื้อบุหรี่เถื่อนไม่ใช่แค่เพราะราคาถูก แต่มันซื้อง่าย ภาพลักษณ์ดี มีลูกเล่น แถมเครือข่ายใต้ดินที่เคยได้ประโยชน์จากบุหรี่เถื่อนไม่มีวันเลิกขายง่ายๆ การลดราคาบุหรี่ไปสู้ ถ้าทำไม่ดีก็มีแต่เจ็บตัวซะเอง...และพาอธิบดีกรมสรรพสามิต... “หัวจะปวด”ไปด้วย ซ้ำรอยหนังม้วนเดิมรอบที่ 2... แวดวงการเงิน.. เตือนแล้วนะ...**
** อนันตเดช พงษ์พันธุ์**
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี