จากความเดิมในฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงคำศัพท์ที่ใช้กันในโรงพยาบาล ซึ่งคงทำให้ท่านกระจ่างในคำเรียกของหน่วยงานต่างๆ หากท่านต้องเข้าไปประสานเพื่อรับบริการได้มากขึ้น ในสัปดาห์นี้จะขอยกคำศัพท์เพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับห้องฉุกเฉินและหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลมาเล่าสู่กันฟัง
หากท่านได้รับอุบัติเหตุหรือมีความเจ็บป่วยฉุกเฉิน จนต้องพึ่งโรงหมอนอกเวลาราชการ หน่วยงานที่ท่านต้องเข้าติดต่อ คือ “ห้องฉุกเฉิน” ซึ่งมักเรียกว่า “อีอา” (มาจาก ER ใน Emergency Room) ที่แผนกนี้ จะมีบริการ“ทำแผล” ซึ่งหมายถึง การทำความสะอาดบาดแผล รวมถึงบริการฉีดยา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ “ฉีดยาเข้ากล้าม” หมายถึงการฉีดยาเข้าสู่กล้ามเนื้อ บริเวณหัวไหล่หรือสะโพก ขึ้นอยู่กับขนาดหรือชนิดของยาที่ผู้ป่วยจะได้รับ ส่วนการฉีดยาอีกแบบ คือ “ฉีดยาเข้าหลอดเลือด” หมายถึงการฉีดยาเข้าสู่ “หลอดเลือดดำ” ซึ่งมักฉีดตรงบริเวณหลอดเลือดดำบริเวณหลังมือหรือปลายแขน (ควรเรียกว่าหลอดเลือด มากกว่าเส้นเลือด เนื่องจากหลอดเลือดภายในมีลักษณะกลวง ให้โลหิตวิ่งไหลผ่าน ท่านลองนึกภาพถึงหลอดดูดน้ำคงนึกภาพตามได้ ถึงลักษณะสิ่งของที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง
หากเป็นท่อตันจึงเรียก “เส้น” เช่น เส้นเอ็น เส้นประสาท เป็นต้น) ยังมีการให้ยาทางหลอดเลือดดำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะเรียกว่า “การหยดยาเข้าหลอดเลือด” คำนี้เป็นคำไทยที่แพทย์หรือพยาบาลใช้อธิบายผู้ป่วย ถึงการให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ ในอัตราช้าๆ เช่น นานครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมง แต่ที่คำนี้ฟังเข้าใจความได้ยาก เพราะแพทย์ได้แปลความจากคำในภาษาอังกฤษ “Intravenous Drip” ซึ่งต่างจากวิธีแรกที่เป็นการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง อย่างรวดเร็ว
หากแพทย์มีคำสั่งให้ท่านตรวจปัสสาวะ ตรวจเสมหะ หรือตรวจเลือด ท่านต้องไปตรวจยังหน่วยงานที่ถูกเรียกว่า “ห้องแลป” (มาจากคำว่า LAB ใน Laboratory Room) แผนกนี้อาจถูกเรียกชื่อได้ในหลายคำ เช่น “ห้องปฏิบัติการ” หากเป็นการตรวจหาเชื้อโรคต่างๆในร่างกาย จะมีคำต่อท้ายเพื่อขยายให้ชัดเจนเป็น “ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา” แต่ถ้าเป็นการตรวจหาเคมีหรือสารต่างๆในเลือด จะเรียก “ห้องปฏิบัติการชีวเคมี” ในบางโรงพยาบาล อาจเรียกเป็นชื่อกลุ่มงานรวมๆ เช่น “ห้องปฏิบัติการทางคลินิก” หรือ “หน่วยพยาธิวิทยาทางคลินิก” หรือ “ห้องชันสูตรโรค” เป็นต้น ซึ่งทุกคำล้วนหมายถึงหน่วยงานเดียวกัน โรงพยาบาลที่ใช้คำว่า หน่วยชันสูตรโรค อาจนับรวมแผนกเอกซเรย์เข้าไว้ด้วย (แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักแยกหน่วยงานออกจากกัน)
สำหรับชื่อที่เป็นทางการของแผนกเอกซเรย์ คือ “แผนกรังสีวิทยา” ซึ่งจะให้บริการการตรวจหาโรคด้วยภาพถ่ายทางรังสี ที่เราคุ้นชินว่า เอกซเรย์ ( X-ray ; เนื่องจากใช้รังสี X ในการถ่ายภาพ) การตรวจอุลตราซาวน์ (Ultrasound), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (มักถูกเรียกย่อๆ ว่า CT scanมากจากคำว่า Computed Tomography scan) รวมถึงการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI (มาจากคำว่า Magnetic Resonance Imaging) ในบางโรงพยาบาลที่เปิดให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี จะมีหน่วยงานที่แยกให้บริการเฉพาะ ชื่อ “หน่วยรังสีรักษา” โดยหน่วยงานนี้จะให้บริการฝังแร่ กลืนแร่ และฉายแสง บริเวณที่เป็นมะเร็ง รวมถึงการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา เป็นต้น
กรณีที่ท่านต้องนอนโรงพยาบาลหน่วยงานที่รับตัวท่านไว้ เรียกว่า “แผนกผู้ป่วยใน” คำนี้เป็นคำไทยที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับคำในภาษาอังกฤษว่า “InPatient Department” หรือเรียกย่อว่า “ไอพีดี (I.P.D.) ” ส่วนห้องนอนที่ท่านเข้าไปนอนพัก เรียกว่า “หอผู้ป่วยใน” แต่แพทย์และพยาบาลมักเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Ward” หากเป็นหอผู้ป่วยที่นอนรวมกันหลายๆคน ก็เรียกให้ไพเราะว่า “หอผู้ป่วยสามัญ” แต่หากเป็นการนอนแยกเป็นรายๆ คล้ายห้องพักในโรงแรมก็เรียก “หอผู้ป่วยพิเศษ” หรือไม่ก็เรียกให้ดูสุดวิเศษยิ่งขึ้นว่า “ห้อง V.I.P.”
การที่แพทย์มาตรวจอาการท่านขณะที่ท่านนอนในโรงพยาบาลนี้ เรียกว่า “การเยี่ยมไข้” ซึ่งแพทย์มักเรียกทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า “Ward Round” ส่วนการที่พยาบาลมาดูแลผู้ป่วยนั้น เรียกว่า “การเฝ้าไข้” ซึ่งหมายถึงการดูแลตลอดเวลาที่นอนโรงพยาบาล ท่านคงเคยได้ยินพยาบาลมาขอตรวจร่างกายท่านโดยกล่าวคำว่า “ ขอตรวจสัญญาณชีพ ค่ะ”คำว่าสัญญาณชีพ นี้ หมายถึง การวัดความดันโลหิต, การจับชีพจรหรืออัตราการเต้นของหัวใจ, การวัดอัตราการหายใจ และการวัดอุณหภูมิร่างกาย บางครั้งพยาบาลอาจพูดว่า วัดไข้หน่อยคะ หรือ วัดความดัน(โลหิต) หน่อยค่ะ แต่พยาบาลก็จะทำการตรวจวัดทุกอย่างดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากเป็นคำที่สั้นกระชับกว่าและเป็นการบอกเพื่อขออนุญาตในการวัดสัญญาณชีพ
คงเริ่มมึนงงกับคำศัพท์ สุดพิสดาร พิศวง กันบ้างแล้ว (ผมตั้งใจทิ้งท้ายด้วย สองคำ ที่คนไทยอย่างเราท่านมักเขียนผิดกันคือพิสดาร กับ พิศวง) เนื้อหาอีกมากมายไว้ต่อฉบับหน้าครับ
นพ.ฉัตรชัย กรีพละ
อายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มศว
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ ผ่าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ มศว
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 283-212990-9
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี