พอถึงฤดูสอบ เทศกาลประกาศคะแนน พ่อแม่หลายบ้านเครียดมากจริงๆ กับเรื่องที่ครูฝากมาบอกว่า นักเรียนไม่ส่งงานหลายชิ้น คะแนนจวนเจียนๆ จะไม่ผ่านอยู่แล้ว ขอให้ผู้ปกครองกวดขันหน่อยนะคะ ช่วงเวลาอย่างนี้ล่ะ ที่พ่อแม่อยากนัดเจอหมอ แต่คิวหมอแต่ละท่านก็ย้าว ยาว ไม่ค่อยทันการณ์เอาเสียเลย
จากประสบการณ์ทำงานกับเด็กนักเรียนมานาน ต้องบอกว่า 100% ของเด็กที่มีปัญหาลักษณะนี้ เกิดจาก พ่อแม่ประกบเรื่องการเรียนของลูก “น้อยเกินไป” พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกรับผิดชอบเรื่องเรียนด้วยตัวเอง นั่นเป็นเป้าหมายที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว และไม่มีเหตุผลอะไร ที่พ่อแม่จะต้องไม่ทำอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม การมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่ขาดหนทางเดินไปเพื่อให้บรรลุ ชีวิตการเรียนของลูก ก็ไม่สามารถไปถึงไหนได้เลย
วิธีที่ถูกต้อง ช่วยส่งเสริมให้ลูกสามารถดูแลรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับการเรียนด้วยตัวเอง มีอยู่จริงและหนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือ พ่อแม่ต้องตรวจตรา และช่วยเหลือลูก ให้มีงานส่งครู ตรงตามกติกาของชั้นเรียน สิ่งนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ลูกเข้าประถม และทำต่อเนื่องไปนานเพียงพอ จึงค่อยถอยความช่วยเหลือออก อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ใช้วิธีเก็บคะแนนตั้งแต่เริ่มเปิดเทอม โดยประเมินนักเรียนในหลายๆ ด้าน สัดส่วนของงาน ชิ้นงาน โครงงานต่างๆ ต่อ การทำข้อสอบในกระดาษ เป็นได้ตั้งแต่ 7 : 3, 8 : 2 จนถึง 9 : 1 ดังนั้น นักเรียนคนไหนมีคะแนนในส่วน 7-9 ที่ว่านี้ น้อยเกินไป ไม่มีทางที่เกรดตอนปลายภาคจะออกมาดีได้ ในทางตรงข้าม นักเรียนที่ตั้งใจทำงาน ส่งงานครบถ้วน ถึงแม้ว่าคะแนนที่ได้จากการทำข้อสอบ จะไม่สวยหรูมากนัก แต่เกรดที่ได้รับตอนจบเทอม จะไม่ขี้ริ้วขี้เหร่อย่างแน่นอน
วิธีการจัดการศึกษาดังกล่าว แตกต่างอย่างมากกับการเรียนในสมัยพวกเราเด็กๆ และหมอมองไม่เห็นความจำเป็น ที่ใครๆ ต้องมานั่งถกกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ว่าที่ถูกแล้วมันควรจะเป็นแบบไหน ขอให้เชื่อใจ และให้เครดิตกับทีมที่จัดการศึกษาของประเทศนะคะ พวกเขาทั้งหลายล้วนแต่หวังดีกับประเทศชาติด้วยกันทั้งนั้น ยุคสมัยเปลี่ยน ความคิดความอ่านของผู้คนเปลี่ยน มันก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เป็นหน้าที่โดยตรงของพวกเราพ่อแม่ ที่ต้องช่วยลูกจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับกติกาในยุคสมัยของพวกเขา
หมอเคยไปประชุมผู้ปกครองที่โรงเรียนลูกชายคนโต หมอชอบประโยคหนึ่งของอาจารย์ประจำชั้นมากๆ ท่านบอกกับพ่อแม่ว่า “งานที่ครูให้นักเรียนเอากลับไปทำที่บ้าน มีความหมายแฝงว่า พ่อแม่สามารถช่วยลูกทำได้นะคะ” พ่อแม่ท่านใดมีลูกเรียนหนังสือมาสักพัก คงเห็นด้วยตัวเองแล้วว่า ชิ้นงานบางชิ้นดูเหมือน “เกินกำลัง” ของเด็กวัยนั้นไปมากอยู่เหมือนกัน ถึงตอนนี้พ่อแม่คงเข้าใจขึ้นอีกหน่อยว่า ครูที่โรงเรียนเขามี “นโยบาย” ให้พ่อแม่ลงมามีบทบาทกับงานของลูกๆ ด้วย
การช่วยลูกจัดแจงให้มีงานส่งอย่างสม่ำเสมอ ตลอดปีการศึกษา มีผลดีหลายประการดังนี้
1. ลูกได้รับการสื่อสารอย่างชัดเจนว่า พ่อแม่ลูกเป็น “ทีมเดียวกัน” ในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องยากๆ ในชีวิตของเขา
2. ลูกรู้สึกดี รู้สึกเป็นที่รักของพ่อแม่ และสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการทำให้ลูกเชื่อฟัง และร่วมมือในการอบรม เลี้ยงดูของพ่อแม่
3. เกรดตอนสิ้นเทอมจะออกมาดีอย่างที่ควรจะเป็น ผลการเรียนนี้เป็นรูปธรรม เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับเด็ก ในการยืนยันว่าเขาสามารถเรียนหนังสือได้ดี สิ่งนี้จะทำให้เขาภูมิใจในตนเอง และมั่นใจว่าเขาไม่แพ้ใครๆ ในโลก
4. พ่อแม่ได้ฝึกฝนตัวเองในการจัดการศึกษาให้ลูก การจะทำเรื่องนี้ให้เก่ง พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกฝน มีพ่อแม่ไม่กี่คนหรอก ที่ทำอะไรเกี่ยวกับลูกได้ดีมาตั้งแต่เกิด ประเด็นสำคัญที่อยากสื่อคือ พ่อแม่อย่ารังเกียจการช่วยลูกให้มีงานส่งเลย
หมอไม่ได้บอกว่า พ่อแม่ต้องทำทุกวิถีทาง เพียงเพื่อให้ลูกมีคะแนนเก็บ โดยเด็กไม่ต้องทำอะไร หลักๆ ที่พ่อแม่ต้องทำ มีเพียง ฝึกให้ลูกกลับมาสื่อสารกับพ่อแม่ให้ได้ว่า ครูสั่งงานอะไร พ่อแม่ต้อง “ไม่ใช้ line” ตามงานให้ลูก นั่นเขาไม่เรียกว่าฝึกนะคะ
ในเด็กประถม ยังไงคุณครูก็ต้องให้นักเรียนจดงาน หรือมีจดหมายแจ้งผู้ปกครอง ช่องทางเหล่านั้น “มากเกินพอ” ที่จะฝึกเด็กให้รับผิดชอบแล้ว ต่อมา ให้พ่อแม่ลงมือช่วยเหลือลูกให้ทำงานจนเสร็จ และตรวจสอบว่าลูกส่งงานครบถ้วน ตามกำหนดเวลา เพียงเท่านี้ คุณครูของลูกจะไม่มากวนใจท่านตอนปลายปีการศึกษาอีกเลย
เด็กประถมต้น พ่อแม่คงต้องเอาตัวเองลงไปคลุกกับงานของลูกมากหน่อย จนประถมปลาย ท่านจะเหนื่อยน้อยลง โดยที่ลูกทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อล่วงเลยเข้ามัธยม พ่อแม่ต้อง “ถอนความช่วยเหลือ” ออกมาจนเกือบเป็นศูนย์ วันนั้น ไม่ใช่เวลาที่พ่อแม่ควรจะเข้าไปยุ่มย่ามกับลูก ปล่อยเขารับผิดชอบด้วยตัวเองได้แล้ว
ปัญหาที่หมอเจอทุกวี่ทุกวัน คือ เมื่อลูกยังเด็ก พ่อแม่ไม่ทำอย่างที่หมอแนะนำ
พอลูกเข้ามัธยม แทบจะไม่มีคะแนนให้ครูกรอก พูดเตือนกันวัยรุ่นเขาก็ไม่ฟัง แถมยังโดนศอกกลับ ด้วยประโยคสุดคลาสสิคว่า พ่อแม่จุกจิกเกินไป บ้านไหนมีลูกวัยรุ่น ที่กำลังเจอปัญหาอย่างนี้ พ่อแม่คงต้องยอมรับ ยอมถ่อมใจ พาลูกไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญสักหนแล้ว ยังไงก็แล้วแต่ มันต้องมีทางออกสักทางสองทางให้เลือกบ้างล่ะ
สำหรับพ่อแม่ที่ลูกยังเล็ก ขอให้ท่านปรับทัศนคติเรื่องนี้ ให้สำเร็จก่อนลูกเข้าประถมนะคะ เพราะเมื่อถึงวันนั้น ถ้าพ่อแม่สามารถเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้ลูก ได้อย่างเหมาะสม
เพียงเท่านี้ ลูกๆ ทุกคนของท่าน ก็จะสามารถประสบความสำเร็จทางการศึกษา ได้โดยไม่ยากเลยค่ะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี