อาจฟังดูแปลกในความรู้สึกของใครหลายคน ถ้าเด็กมันไม่ดื้อ แล้วใครที่ไหนจะไปดุมันล่ะ ที่ต้องดุ ก็เพราะมันดื้อน่ะสิ
ยังจำช่วงชีวิตตอนเป็นนักเรียนกันได้ไหม ที่ในห้องเรียนของพวกเรามีหัวโจก ตัวป่วน ประจำห้อง เพื่อนคนนี้จะถูกครูดุทุกวัน วันละหลายหน และแทบจะทุกคาบเรียน แล้วก็เป็นแบบนี้ตลอดมา และตลอดไป
ธรรมชาติของมนุษย์ เราจะจัดการเด็กดื้อด้วยความรู้สึกลบๆ คิดกับเขาลบๆ และใช้พฤติกรรมลบๆ โต้ตอบแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าวิธีการเหล่านี้ใช้ได้ผล แล้วทำไมนักเรียนตัวป่วนจึงยังประพฤติตัวอย่างคงเส้นคงวาตลอดปีการศึกษา น่าคิดนะคะ และถ้าใครช่างสังเกตขึ้นมาอีกหน่อยจะพบเลยว่า เด็กยิ่งถูกดุบ่อย โดนดุแรง เป็นระยะเวลานานๆ ต่อเนื่อง มักจะดื้อด้านขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
การที่เด็กทำพฤติกรรมไม่น่ารัก ไม่เชื่อฟัง ไม่ร่วมมือ เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไปเสมอ แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากไม่พยายามสืบหาให้เจอ กลับใช้วิธีสำเร็จรูปและทางลัด ด้วยการดุ ด่า คาดโทษ ลงไม้ลงมือ ต้นตอที่เป็นสาเหตุของความดื้อ ยังไม่มีการรับรู้ และได้รับความช่วยเหลือเลย เด็กก็ถูกจัดการเชิงลบในแบบที่ผู้ใหญ่คุ้นเคยเสียแล้ว
สิ่งที่ตามมาคือ เด็กรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของเขา ไม่มีใครรู้ว่าเขาทำอย่างนั้นเพราะอะไร ที่สำคัญ ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนคิดจะ “ช่วยแก้ปัญหา” ให้เขาเลยสักคน ถึงจุดหนึ่ง ขอใช้คำว่าจุดหมดหวัง จุดท้อแท้ เพราะเขาเองก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ไหว เมื่อนั้น ผู้ใหญ่อยากทำอะไรกับเขาก็ทำไปเถิด เขาก็แค่ขออยู่ไปวันๆ อย่างนั้น มันคงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว ทำอะไรก็ผิดไปหมด
อ่านมาถึงตรงนี้เริ่มหมดอาลัยตายอยากกันบ้างหรือยัง ความรู้สึกประมาณนี้ล่ะค่ะ ที่อยู่ในสมองของเด็กที่จัดอยู่ในประเภทถูกดุบ่อยเกินไป
เด็กยิ่งเล็ก ยิ่งทำความผิดพลาดได้มาก เพราะเขามีข้อจำกัดไปเสียทุกอย่าง ถ้าทุกความพลาดพลั้ง ต้องถูกดุ ถูกว่า ในหนึ่งวันเด็กจะถูกดุหลักหลายสิบครั้งเลยทีเดียว เป็นอย่างนี้สักระยะ ทุกอย่างมันจะสับสนปนเปจนเกิดอาการมึนงง อะไรผิดจริง และสมควรโดนดุ อะไรเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ ด้วยความอ่อนด้อยต่อประสบการณ์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนกันไปหมด จนแยกแยะไม่ออก
ถ้าผิดนิดพลาดหน่อยก็ถูกดุเสียแล้ว เด็กจะทำตัวราวกับคุมตัวเองไม่ได้เลย เขาจะไม่พยายามทำให้ความผิดพลาดลดน้อยลง เขาจะไม่ตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพราะจำนวนครั้งที่ถูกดุมันมีมากเกินกว่าจะลดจำนวนลงมาได้ด้วยความสามารถระดับเขา
เมื่อพ่อแม่เข้าใจสิ่งนี้แล้ว ก็ขออย่าทำให้ลูกสิ้นหวังกับการทำตัวดีๆ ด้วยการดุว่าลูกอยู่ตลอดเวลาเลยนะคะ
มีหลักปฏิบัติที่พอจะเป็นแนวทางให้พ่อแม่ได้ดังนี้
1. หาสมุดบันทึกสัก 1 เล่ม จดลงไปทุกครั้งที่ท่านดุลูก นับยอดทุกวัน ในหนึ่งวัน 24 ชั่วโมง ท่านดุลูกไปทั้งหมดกี่ครั้ง และด้วยเรื่องอะไรบ้าง
2. นำรายการที่บันทึกมาวิเคราะห์ดูว่า ลูกทำผิดเพราะอะไร ตัวอย่าง ลูกวิ่งหกล้ม แล้วถูกแม่ดุ ในกรณีนี้ลูกทำผิดเพราะลูกเป็นเด็ก และมีข้อจำกัดทางร่างกาย กล้ามเนื้อ การทรงตัว ความระมัดระวัง ยังมีไม่มากเท่าผู้ใหญ่
3. ที่ต้องให้จดบันทึก เพราะในชีวิตจริงพวกเรามักคิดไม่ทัน ยั้งตัวเองไม่ได้ สมองเราคุ้นเคยกับการดุเด็กเป็นอัตโนมัติมานาน เมื่อนำสิ่งที่จดไว้ มาไตร่ตรองดูทีหลัง พ้นจากความรู้สึกโกรธ ความหงุดหงิดลูกอันตรธานไปหมดแล้ว เมื่อนั้นพ่อแม่จะมองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นมาก ว่ามีตั้งหลายเรื่องที่ลูกไม่สมควรโดนดุเลยสักนิดเดียว
4. ต่อมาให้ตั้งเป้าดุลูก ลดลงเหลือวันละ “ไม่เกิน 2 เรื่อง” เท่านั้น ให้ใช้โควต้าเพียงเท่านี้ ไม่มากกว่านี้เด็ดขาด ถ้าใช้สิทธิจนหมดแล้ว ยังไม่หมดวัน ลูกทำผิดอีกก็ห้ามดุ บอกลูกว่าแม่ใช้โควต้าจนหมดไปก่อนหน้านี้ ลูกอดโดนดุแล้วนะ (อย่าลืมยิ้มกับลูกหลังพูดจบด้วย)
สำหรับเด็กดื้อ ถูกดุ ถูกลงโทษเรื้อรังมานาน ด้วยวิธีการอย่างนี้ลูกจะดื้อน้อยลง ด้วยเหตุผลสองข้อ
หนึ่ง ความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็ก ได้รับการเยียวยาจากร้ายกลายเป็นดี ได้สำเร็จ เด็กจะเชื่อฟังและร่วมมือกับพ่อแม่ที่เขารัก และเขามั่นใจว่าคนคนนั้นรักเขามาก
สอง เด็กจะแยกแยะออกในที่สุดว่า อะไรคือความผิดของจริง และอะไรที่เขาผิดพลาดเพียงเพราะความเป็นเด็ก เมื่อเด็กเข้าใจแล้ว และพ่อแม่บอกเขาว่าที่ถูกต้องควรปฏิบัติอย่างไร เมื่อนั้น เขาจะพยายามทำในสิ่งที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เพราะเขารักพ่อแม่เขามาก และอยากเป็นที่รักของพ่อแม่มากๆ เช่นเดียวกัน
ลงมือพิสูจน์กันวันนี้เลยนะคะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี