อันยองฮาเซโย รอบนี้พังเดือน ขาประจำสัญจรลูกทีมเถ่าชิ่วสุทัศน์ แห่งคอลัมน์ตู้กับข้าว จะพาไปเยือน ประเทศเกาหลีใต้ สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เกาหลีใต้
ในภาษาเกาหลี ชื่อประเทศว่า แทฮันมินกุก เรียกสั้นๆ ว่า ฮันกุก ซึ่งหมายถึงเกาหลี และบางครั้งจะใช้ชื่อว่า นัมฮัน ที่แปลว่า เกาหลีทางใต้ ส่วนชาวเกาหลีเหนือจะเรียกเกาหลีใต้ว่า นัมโชซ็อน ว่าเป็นประเทศที่ขี้โกงกีฬามากที่สุดในโลกนี้ (วิกิพีเดีย กล่าวไว้)
ครั้งนี้ เราจะไปเยือนเมืองปูซาน ของประเทศเกาหลีใต้ ปูซานหรือพูซานเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเกาหลี รองจากกรุงโซล มีประชากรเกือบ 4 ล้านคน ตั้งอยู่บนทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีใต้ และเป็นเมืองท่าหลักสำหรับการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศเช่นเดียวกับเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ที่ขนส่งผู้โดยสารไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาะเจจู (เชจู)
การเดินทางครั้งนี้ เราร่วมเดินทางไปกับบริษัทนำเที่ยว ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนถึงเวลาเดินทาง ได้ใช้บริการเล้านจ์ ตามสิทธิพิเศษของการเป็นสมาชิกของบัตรร้านค้าปลอดภาษี ที่เลื่องลือกันว่าโจ๊กอร่อยมากคือเคี่ยวได้เนียนคล่องคอเป็นที่สุด ต้องลองไปชิมกันนะคะ นอกจากโจ๊ก เค้กชิ้นขนาดพอดีคำ คุกกี้ ชา กาแฟ น้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบก็มีให้ชิม รองท้อง ถ้ามีเด็กเล็ก คอร์นเฟลคกับนมก็ตอบโจทย์ นอกจากนั้นเรายังใช้สิทธิพิเศษของสมาชิกค่ายบัตรเครดิต หรือค่ายมือถือต่างๆ แลกรับ แซนด์วิช หรือกาแฟจากร้านค้าในสนามบินที่ร่วมรายการ ลองตรวจสอบดูนะคะว่าบัตรเครดิต หรือโทรศัพท์มือถือที่คุณเป็นสมาชิก รับสิทธิพิเศษอะไรได้บ้าง เนื่องจากสายการบินที่เราเดินทาง เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost) จะไม่มีบริการอาหารใดๆ บนเครื่อง หากใช้สิทธิพิเศษต่างๆก็จะได้รองท้อง 1 มื้อ สบายๆ ค่ะ
เราเรียก ไก่ต้มซีอิ๊ว
ก่อนจะเดินทาง ทำการบ้านเรื่องอาหารเกาหลีกันสักนิด อาหารเกาหลี (Korean Food) จะมีเอกลักษณ์ที่สำคัญ แบบ หยิน-หยาง หลักคิดตามคติการแพทย์แผนจีน ที่หมายถึง ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้จะประกอบไปด้วยสองด้าน ซึ่งจะอยู่ตรงข้ามกัน โดยต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับร่างกาย เช่น ชาวเกาหลีนิยมรับประทาน ซัมเกทัง หรือ ซุปโสมไก่ เพื่อเรียกกำลังในช่วงฤดูร้อน หรือหากอากาศหนาวเย็น ร่างกายต้องการอาหารเพื่อทำให้อบอุ่น ต้องกินหม้อร้อน ชาบู ที่ประกอบด้วยผัก หรือเต้าหู้ เป็นต้น
อาหารเกาหลี หากจะว่าไปแล้วเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของฤดูหนาวที่กินเวลายาวนาน อาหารเกาหลีจึงมีเทคนิคการถนอมอาหารพิเศษที่พัฒนาขึ้นเพื่อเก็บรักษาวิตามินในสูตรอาหารประเภทผัก “กิมจิ”อันเป็นสัญลักษณ์ของอาหารหมักดอง และชาวเกาหลีมีการเพาะปลูกข้าวเป็นอาหารหลัก จึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมประเทศหนึ่ง อาหารเกาหลีในปัจจุบันมักจะประกอบด้วย เนื้อสัตว์นานาชนิด พร้อมด้วยพืชสีเขียว และผักสดต่างๆ อาหารหมักดองต่างๆ เช่น กิมจิ จอทกอล (Jeotgal) คืออาหารทะเลหมักเกลือ และ ดนจัง (Deonjang) หรือถั่วเหลืองหมักเหลว ซึ่งขึ้นชื่อในรสชาติโดยเฉพาะ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
นมกล้วย
กล่าวถึงอาหารเกาหลีโดยทั่วไปเราจะนึกถึงรสชาติเผ็ดร้อนของพริกแดงและกลิ่นกระเทียม อันที่จริงอาหารเกาหลี มีหลากหลายรสชาติ ส่วนใหญ่จะมีรสจืดกว่าที่คนไทยกินกันปกติแต่ละมื้อจะมีอาหารตั้งแต่ 3 ชนิด ไปจนถึง 12 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวหรือโจ๊กหุงพร้อมกับถั่วต่างๆ ฟักทอง โสม เห็ด ธัญพืชอื่นๆ อาจเติมเนื้อสัตว์อย่างเช่น ไก่ หรือหอย จานถัดมา จะเป็นซุป สตู ผัก และเนื้อสัตว์ ซึ่งปรุงด้วยวิธีการต่างๆ จึงขอเชิญชวนกันไปลองชิมอาหารเกาหลีกัน
6 โมงเช้า เราถึงสนามบินนานาชาติ กิมแฮ (Gimhae International Airport) ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองปูซาน เวลาของประเทศเกาหลีใต้ เร็วกว่าประเทศไทยเราประมาณ 2 ชั่วโมง พอสัก 6-7 โมงเช้า ที่ปูซานแดดจ้าแล้ว แต่มีลมพัดเย็นๆ ตลอดเวลา อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส เราผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองอย่างง่ายดาย ไม่ต้องตอบปัญหาอะไรสักคำ ตามที่หวั่นเกรงจากข่าวว่าตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีเข้มงวดมากก็คลายไป และที่ประทับใจเพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทางของกลุ่มเรา แตกเสียหาย 1 ใบ เจ้าหน้าที่ของสนามบินหรือสายการบิน ไม่แน่ใจ (เนื่องจากความแตกต่างด้านภาษา) จึงให้ยืนรอและเปลี่ยนกระเป๋าเดินทางใบใหม่ให้เรา โดยใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที พวกเราเอ่ยขอบคุณ พร้อมกล่าวชมว่าเขาหล่อเหมือน ซงจุงกิ ก็ทำให้ เขายิ้มแก้มแทบปริไม่ต่างจากพวกเราที่ได้กระเป๋าใบใหม่เลย
เราเริ่มมื้อเช้าเบาๆ ด้วยนมกล้วย อีก 1 กล่อง นมยอดฮิตที่ใครมาเกาหลี ต้องลองชิม รสชาติหวานมัน นอกเหนือจากรสชาติแล้ว บรรจุภัณฑ์เขาก็ทำน่ารัก น่าเก็บ จนเราแทบจะกวาดชั้นเลือกซื้อก็เพราะบรรจุภัณฑ์อย่างเดียว
หม้อไฟทะเล
มื้อกลางวัน ของวันแรก เป็นเมนู พลุโกกิ (Bulgogi) อาหารขึ้นชื่อของเกาหลีอีกอย่างหนึ่ง ส่วนผสมประกอบด้วยเนื้อวัว (หรือเนื้อหมู) น้ำลูกแพร์ หรือน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง กระเทียมสับ หัวหอมหั่นลูกเต๋า และน้ำมันงา วิธีทำคือ หั่นเนื้อหรือหมูเป็นชิ้นบางๆ แล้วหมักกับเครื่องปรุงต่างๆ ก่อนนำไปย่าง พลุโกกินั้นจะกินได้สองแบบคือแบบย่างและต้ม วันนี้เรากินแบบต้ม และเป็นเนื้อไก่ รสชาติคล้ายๆ ไก่ต้มซีอิ๊ว ในหม้อไฟ มีผักกะหล่ำ หัวไชเท้า ถั่วงอก และวุ้นเส้นเกาหลี วุ้นเส้นเกาหลีทำจากแป้งมันหวาน เส้นจะใหญ่และเหนียวนุ่มกว่าของไทยค่ะ และที่ขาดไม่ได้แน่นอนคือ กิมจิ เครื่องเคียงต่างๆ ครบทั้งไชเท้าดองโอเด้ง พริกดอง กินกับข้าวสวย อร่อยไปอีกแบบ เหมือนเรากินก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋น กับข้าวสวยที่บ้านเราเลย
กลับจากเดินช็อปปิ้ง ที่ Outlet มื้อเย็นวันนี้ ทัวร์เสิร์ฟพวกเราด้วยเมนู แฮมุลทัง ซุปทะเล หรือซีฟู้ดหม้อไฟ ใส่สารพัดอาหารทะเล ผักต่างๆ และเห็ด มีรสชาติจัดจ้าน สำหรับกลุ่มพวกเราคิดว่ามันเผ็ดอย่างเดียว ไม่มีเปรี้ยว หวาน เค็มมาตัดแบบต้มยำบ้านเรา และปลาย่าง เป็นปลาซาบะย่างเกลือ เมนูปลาย่างนี้ เราชอบมาก ปลาสด หวาน มีรสเค็มๆ ของเกลือ หรือซีอิ๊ว กินกับข้าวสวย ซดแฮมุลทัง เผ็ดๆ ร้อนๆ ก็กินข้าวหมดถ้วยแบบสบายๆ ที่ผิดหวังนิดๆ ตรงเนื้อปู เนื้อกุ้งไม่สด แบบที่เราคาดว่า มาเที่ยวเมืองชายทะเลจะต้องได้กินอาหารทะเลสดๆ
ปลาตัวนี้ แบ่งกันกิน 2 คน
มื้อเช้า วันที่ 2 ของการมาเยือนปูซาน เป็นอาหารเช้าแบบบริการตนเอง ขนมปัง กาแฟ นม คอร์นเฟลค ไข่คน ไส้กรอกทอด สลัดผลไม้ มีกล้วย ส้ม อิ่มแล้วพร้อมเดินทาง
ก่อนจะถึงมื้อกลางวัน คนนำทางพาเราไปร้านน้ำมันสนเข็มแดง ได้ฟังการบรรยายสรรพคุณจากพนักงานขาย จนเราคิดในใจเอง ว่าอีกหน่อย คนเกาหลีคงสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ซึ่งราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ เรียกว่า สูงเลยทีเดียว นี่ขนาดราคาลดลงมากกว่าก่อนมากแล้ว เนื่องจากรัฐบาลเห็นความสำคัญจึงลดภาษีให้ จนเราต้องไปค้นหาข้อมูลมาได้พอสังเขปดังนี้ น้ำมันสนเข็มแดงผลิตจากใบสนเข็มแดงของประเทศเกาหลี ซึ่งจะใช้ต้นสนเข็มแดงจากประเทศเกาหลีเหนือมาผลิต โดยต้นสนเข็มแดง จะมีลักษณะคล้ายกับต้น bunpoji ซึ่งเป็นพืชที่พบได้ตามบริเวณชายทะเล การเจริญเติบโตของต้นสนเข็มแดงจะเติบโตในพื้นที่สูงบนภูเขา พบได้มากในประเทศ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ เวลาที่สกัดน้ำมันสนเข็มแดงออกมาจะได้ส่วนประกอบหลักอันได้แก่ สารโพลิฟีนอล และสารเทอร์พีนส์ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตามรายงานการศึกษาวิจัยของนักพฤกษศาสตร์ พบว่า คาบสมุทรทั้งหมดโดยเฉพาะในแถบหุบเขา Taebaek Mountains ของประเทศเกาหลีใต้ เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ตามการยืนยันของงานศึกษาวิจัยจำนวนมาก น้ำมันสนเข็มแดง เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พบว่าเมื่อมีคนเจ็บป่วยให้เคี้ยวใบสนเข็มแดง แล้วมีสุขภาพที่ดีขึ้น จนมีการนำมาศึกษาและวิจัยมาอย่างยาวนาน จนสามารถสกัดออกมาเป็นน้ำมันสนเข็มแดง ในห้องไม่อนุญาตให้บันทึกภาพใดๆ ทั้งสิ้นนะคะ
บิงซูมะม่วง
มาต่อที่มื้อกลางวันของเราดีกว่า เมนูคาลบิ (Kalbi) หมูปรุงรสย่าง อาหารเกาหลีแบบปิ้งย่างอันมีชื่อเสียงของเขา เป็นการนำเนื้อวัวหรือเนื้อหมูมาหมักกับเครื่องปรุงจนเนื้อนุ่มได้ที่ แล้วจึงนำไปย่างบนแผ่นโลหะที่ถูกเผาจนร้อน เนื้อสำหรับย่างนั้นจะหั่นเป็นชิ้นโตพอสมควร พอใกล้สุกแล้วก็ต้องใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นพอดีคำ กินกับเครื่องเคียงจำพวกผัก ที่ขาดไม่ได้ คือ กิมจิ และมื้อนี้มีหนวดปลาหมึกกิมจิด้วย เราสังเกตว่าแม้คนเกาหลีนิยมกินหมูตรงส่วนมันๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้เห็นคนอ้วนที่นี่เลย
ก่อนจะถึงมื้อเย็นของเรา ทัวร์ได้พาเราไปชม Nurimaru Apec House ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดการประชุม Apec (Asia-Pacific Economic Cooperation) เมื่อปี 2005 หรือ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก” จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เพื่อตอบสนองการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวมากขึ้นในหมู่ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก โดยเริ่มต้นจากกลุ่มประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก เพียงไม่กี่ประเทศมารวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Dialogue Group) จนกลายเป็นเวทีหลักในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าเสรีอย่างจริงจังในที่สุด ทั้งนี้ไม่มีความเกี่ยวของกับการเมือง จุดมุ่งหมายหลักของ APEC คือ เสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ก้าวไปข้างหน้า และสร้างจิตสำนึกที่จะรวมกันเป็นรูปกลุ่มความร่วมมือขึ้น โดยจะไม่จัดตั้งเป็นรูปแบบองค์กรถาวร เหมือนกลุ่มประเทศอาเซียน หรือสหภาพยุโรป สมาชิก APEC ทั้งหมด ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันทั้งสิ้นกว่า US$ 19,293 พันล้านเหรียญสหรัฐ (US$ billion) หรือ 47.5% ของการค้าโลกในปี พ.ศ.2544 ประเทศไทยของเราก็เข้าร่วมในการประชุมครั้งนั้นด้วย ใครเป็นผู้นำของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น ไปค้นดูกันเองนะคะ
ย่างสุกแล้วค่อยตัดเป็นชิ้นพอดีคำ
มื้อเย็นของเรา เมนูโอรีจูมุลล็อก จะมีส่วนผสมของเนื้อเป็ด ซอสถั่วเหลือง กระเทียมสับ น้ำมันงา หัวหอมเห็ด ต้นหอม และเครื่องเทศ แต่โอรีจูมุลล็อกของเราวันนี้ เป็นเนื้อไก่นำมาผัดกับซอสดังกล่าว พร้อมผักต่างๆ กินกับข้าวสวย รสชาติเหมือนกินไก่ผัดน้ำมันหอยบ้านเรามีรสเผ็ดปะแล่มๆ จากซอสที่คลุกเคล้ามาในกระทะ
เนื่องจากอาหารเย็นของเราเริ่มเร็วมากๆ6 โมงเย็น ท้องฟ้ายังสว่างจ้า พวกเราจึงพร้อมเพรียงกันมาเดินที่ ถนนสายอาหาร street food แถวย่าน แฮอึนแด เห็นอาหารละลานตา มีทั้งโอเด้งเสียบไม้ให้ยืนกินกันหน้าร้าน ที่ลูกค้าหนาแน่นต่อแถวยาวมากเห็นจะเป็นร้าน ซาลาเปา และเกี๊ยวนึ่ง จึงลองซื้อซาลาเปามาชิม 4 ลูก ในราคา 5,000 วอน หรือประมาณ 150 บาท 2 ลูกที่เราแบ่งชิม คล้ายๆ ไส้หมูสับกับไส้หมูแดงของบ้านเรา ใส่ถั่วงอกมาด้วย แต่รสชาติไม่ถูกปาก ส่วนเกี๊ยวนึ่งที่เรากินเป็นไส้กุ้ง รสชาติพอใช้ได้ แต่ของบ้านเราอร่อยกว่า ถัดมาเป็นซาลาเปาทอดแถวต่อยาวอีกร้านหนึ่ง ชิมแล้วรสอร่อย แป้งนุ่มไม่เหม็นหืนน้ำมัน มีรสหวานของไอซ์ซิ่งที่เคลือบมา ไก่ทอดเกาหลี ไก่ชิ้นพอคำทอดกรอบคลุกเคล้าซอสแดง หวานๆ เผ็ดๆ ถูกใจ ยังมีถั่วแดงต้มเละๆ ข้นๆ มีถั่วเหลืองอีกด้วย แต่เราไม่ได้ชิม เพราะดูออกจะหนักไป และยังมีร้านขายอาหารทะเลปู ปลาหมึกแบบที่เห็นหนวดยาวๆ จับกลืนลงคอแบบเป็นๆ มีปลาไหลที่แม่ค้าลอกหนังทั้งตัวจะเห็นเนื้อแดงแม้ถูกหั่นเป็นท่อนๆ ก็ยังดิ้นได้อยู่ และเห็นหนอนใบหม่อน แต่ไม่แน่ใจเขาเอามาทำอะไรกิน ที่ขาดไม่ได้ เมื่อมาเกาหลี คือ บิงซู หรือน้ำแข็งใสบ้านเรา และที่ติดใจอีกหนึ่งอย่าง คือ มันเผา ด้วยว่ามันหวาน นุ่ม กินมันเผาตามด้วยน้ำแข็งใส เข้ากันอย่างที่สุด และเป็นที่น่าเสียดายอีกอย่างคือ ไม่ได้ชิมสตรอเบอร์รี่เกาหลี ที่เคยเห็นลูกโตๆ และว่ากันว่าหวาน อร่อย
โอเด้ง ยืนกินกันหน้าร้านเลย
มื้อสุดท้าย ก่อนกลับกรุงเทพฯ เป็นเมนูชาบู ชาบู หรือสุกี้ เหมือนที่เรากินที่ประเทศไทย อาหารเกาหลีทุกมื้อที่ได้ชิมจะประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งกับผักสด และที่ขาดไม่ได้ คือ กิมจิ จึงมีข้อสันนิษฐานกันว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ชิมเช” ที่แปลว่าผักดองเค็ม กิมจิ เป็นอาหารประเภทผักดองที่อาศัยภูมิปัญญาก้นครัวของชาวเกาหลี ด้วยการหมักพริกแดงและผักต่างๆ ทั่วไปมักจะเป็นผักกาดขาว ชาวเกาหลีนิยมกินกิมจิเกือบทุกมื้อ และยังนำไปปรุงเป็นส่วนประกอบอาหารอีกหลายอย่าง เช่น ข้าวต้ม ข้าวสวย ซุป ข้าวผัด สตู บะหมี่ จนถึงพิซซ่าและเบอร์เกอร์ ปัจจุบันกิมจิมีมากกว่า 187 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีรสเผ็ด เปรี้ยว และมีกลิ่นฉุน แม้จะมีบริษัทอาหารผลิตกิมจิสำเร็จรูปหรือแบบสดขายตามห้างสรรพสินค้าก็ตาม แต่ชาวเกาหลีก็ยังนิยมทำกิมจิกินเองที่บ้าน กิมจิยังมีชื่อเรียกไปแต่ละประเภท เช่น แพชู คิมชี (กิมจิผักกาดขาว) กักดูคี คิมชี (กิมจิหัวไชเท้า) โออิชูบักกี คิมชี (กิมจิแตงกวา) เป็นต้น
ปล. อาหารต่างๆ ที่ได้ไปชิมมา เป็นร้านข้างทาง ธรรมดาๆ ตามที่ทัวร์จัดให้ คนที่เดินดินกินข้าวแกงเป็นประจำ สามารถลองลิ้มชิมรสได้ทุกมื้อ เป็นความคิดเห็น และรสนิยมส่วนตัว ไม่มีแสตนอิน ไม่มีสลิง ใดๆ นะคะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี