ภาคเหนือ ของไทย ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน ช่วงที่อาณาจักรแห่งนี้เรืองอำนาจ ได้แผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และมีผู้คนจากดินแดนต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปางจังหวัดลำพูน จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงมีความพิเศษตรงที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมการกินจากหลายกลุ่มชน เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ ไทลื้อ และคนพื้นบ้าน มีสำรับอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลายวัฒนธรรมจากชนชาติต่างๆ เข้ามาผสมผสานในชีวิตประจำวันรวมทั้งวิถีอาหารการกิน
อาหารของภาคเหนือ ประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก กินกับน้ำพริกหลายชนิด เช่น น้ำพริกหนุ่มน้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีแหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่างๆ สภาพอากาศมีส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตกต่างจากภาคอื่น คือการที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นเหตุผลให้อาหารส่วนใหญ่มีไขมันมาก เช่น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว หมูทอด ไก่ทอด เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่ในหุบเขาและ ใกล้กับป่าสูงอยู่ ลักษณะทางภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน จึงรู้จักนำพืชพันธุ์จากป่าอันหลากหลายมาปรุงอาหาร เช่น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน จึงทำให้เกิดเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะตัว
เนื่องจากชาวเหนือมีนิสัยอ่อนโยนอ่อนช้อยอ่อนหวาน ทั้งยังเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งอดีต เคยเป็นอาณาจักรแห่งประวัติศาสตร์ มีลักษณะศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมอันประเพณีงดงาม อาหารจึงสวยงามตามบุคลิก เน้นการบริโภคผัก กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก อาหารภาคเหนือมีจำนวนมากมาย โดยมีชื่อเรียกแตกต่างไปกันตามภูมิภาค มีสูตรอาหารหลากหลายมากมาย ทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด นึ่ง ปิ้งย่าง
ปัจจุบันหากคิดถึงอาหารล้านนา ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปกินไกลถึงภาคเหนือ ในกรุงเทพฯ ก็มีร้านอาหารเหนือบรรยากาศดีรสชาติแบบเมืองเหนือแท้ ให้สามารถอร่อยได้แบบล้านนา ร้านรวงตกแต่งด้วยเก้าอี้โต๊ะสีขาวดูสะอาดตา ร้านโปร่งสบายบรรยากาศดีมีให้เลือกหลายร้าน จะขอแนะนำร้านหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีอาหารเหนือแบบครบครัน เจ้าของร้านซึ่งเป็นคนเมืองเหนือจะลงมือเป็นแม่ครัวเอง
ประเดิมด้วยออร์เดิร์ฟถาดใหญ่ ประกอบด้วยน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ผักอีกหลายชนิด ไข่ต้ม แคบหมู ไส้อั่ว แหนม จิ๊นทอด (เนื้อหมูทอด) ถาดเดียวมีเกือบครบ นัยว่าให้เรียกน้ำย่อยลองชิมเป็นตัวอย่าง ที่พิเศษคือน้ำพริกอ่องและน้ำพริกหนุ่มที่ทำใหม่ๆ ให้ความหอมกินกับผักลวกข้าวเหนียวจิ้มกับน้ำพริกหนุ่มหรือน้ำพริกอ่อง เป็นการปรับลิ้นให้คุ้นเคยการเริ่มต้นบรรยากาศกินอาหารเหนือแสนอร่อย
น้ำพริกอ่อง(ซ้าย) น้ำพริกหนุ่ม (ขวา)
น้ำพริกอ่อง เป็นน้ำพริกพื้นบ้านล้านนาที่คนภาคอื่นๆ โดยมากจะรู้จักกันอย่างแพร่หลายพอๆ กับน้ำพริกหนุ่มลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่อง คือมีสีส้มของสีมะเขือเทศและพริกแห้ง ที่เคี่ยวให้เหลวขลุกขลิก น้ำมันลอยหน้าเล็กน้อย มีสามรส คือ เปรี้ยว เค็ม แกมเผ็ดเล็กน้อย รสหวานตามมาห่างๆ นิยมกินกับผักสดหรือผักต้ม น้ำพริกอ่องบางสูตรผัดหมูก่อนแล้วจึงผสมด้วยเครื่องปรุงและมะเขือเทศภายหลัง บางทีก็โขลกเนื้อหมูพร้อมเครื่องปรุงและมะเขือเทศให้เข้ากันก่อน แล้วจึงนำไปผัดกับน้ำมัน บ้างใส่ถั่วเน่าหรือใส่เต้าเจี้ยวเพื่อปรุงรส
พริกหนุ่ม คือพริกสดที่ยังไม่แก่จัด เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้น เป็นอาหารพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันทั่วไปมีจำหน่ายแพร่หลายแก่นักท่องเที่ยว นิยมซื้อเป็นของฝาก โดยกินกับแคบหมู บางตำราใส่ปลาร้าสับและกะปิห่อใบตองย่างบางสูตรก็ใส่น้ำปลากับเกลือตามแต่รสนิยม
น้ำพริกทั้งสองถ้วยมีมาครบครันในถาดออร์เดิร์ฟเมืองกินกับผักและเครื่องประกอบต่างๆ เหมือนนั่งกินอยู่เมืองเหนือ
แกงฮังเล มี 2 ชนิด คือ แกงฮังเลม่านและแกงฮังเลเชียงแสน สำหรับแกงฮังเลเชียงแสนจะแตกต่างตรงที่เพิ่มถั่วฝักยาว มะเขือยาว พริกสด หน่อไม้ดองงาขาวคั่ว และใช้เป็นส่วนผสมของแกงโฮะ เนื้อหมูสามชั้นจะถูกเคี่ยวจนเปื่อยแทบละลายในปาก หอมเครื่องแกง ผงฮังเลหรือผงมัสล่า มีกระเทียมดอง ขิงอ่อนซอยกลิ่นอ่อน ถั่วลิสง รสแซมเปรี้ยวจากน้ำมะขาม ถ้าเป็นฤดูกระท้อนใส่กระท้อนด้วยจะยิ่งครบสูตร บางคนเปรียบเทียบคล้ายแกงมัสมั่น
แกงฮังเลจัดว่าเป็นอาหารยอดนิยมอันดับต้นๆ ของชาวล้านนา ถือว่าเป็นอาหารมงคลชนิดหนึ่ง ชาวบ้านมักจะทำไปถวายพระเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน นับว่าเป็นแกงที่คนจากภาคอื่นคุ้นเคย สามารถกินได้โดยไม่ขัดเขิน
ลาบคั่ว ลาบคั่วบางครั้งก็เรียกลาบเหนือ ต่างจากลาบอีสานที่ใช้เครื่องเทศมากกว่าไม่มีรสเปรี้ยว หมูสับผสมเลือดแล้วเติมเกลือเล็กน้อยเอาเคล้าน้ำพริกลาบได้แก่พริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ (ตามแต่สูตรของแต่ละเมือง มีเครื่องเพิ่ม เช่น เม็ดผักชี มะแขว่น เทียนข้าวเปลือก มะแหลบ ดีปลี พริกไทย เม็ดผักชี กานพลู อบเชย กระวาน โป้ยกั๊ก ลูกจันทน์เทศ เปราะหอม เป็นต้น) แล้วใส่เครื่องในหมูต้ม ไส้อ่อน ตับ กระเพาะฯลฯ เอาไปคั่วให้สุก บ้างก็เอาไส้อ่อนไปทอดกรอบมาโรยพองาม เติมตะไคร้ซอย หอมแดงซอยผักไผ่ซอย ผักชีซอย สะระแหน่ซอย ผักชีฝรั่งซอยมีกระเทียมเจียว ไส้อ่อนทอดโรยหน้า เบื้องหลังเหมือนได้กินสมุนไพรหมดป่า เคล็ดความอร่อยอยู่ที่พริกลาบต้องใส่กระเทียมให้มาก ใส่น้ำปลาดีปรุงรส
ใครที่ชอบลาบดิบก็ไม่ต้องคั่ว เรียก หลู้ ถึงพริกถึงขิงกินกันดิบๆ เคล้าเลือดสดแดงๆ กินแนมกับผักต่างๆ ได้เข้ากันเป็นอย่างดี
ไส้อั่ว คำว่า อั่ว หมายถึง แทรก หรือยัดไว้ตรงกลางไส้อั่ว จึงหมายถึงไส้ที่มีการนำเครื่องปรุงยัดไว้ การทำไส้อั่วนิยมใช้เนื้อหมูบดผสมเครื่องปรุงเครื่องสมุนไพรจำพวกข่าตะไคร้หอมแดง ต้นหอมผักชี กระเทียม ใบมะกรูดซอย ขมิ้น พริกแห้ง เคล้าให้เข้ากันแล้วบรรจุในไส้หมู มักจะขดเป็นม้วนแล้วเอาไปนึ่ง นับว่าเป็นวิธีการทำไส้กรอกอีกชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นการถนอมอาหารให้เก็บได้นานขึ้นอีกประมาณ 1-2 วัน แต่ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะเก็บได้นานขึ้น ปัจจุบันมีการบรรจุถุงแบบสุญญากาศก็สามารถเก็บได้นานยิ่งกว่าและไม่เสียรส ส่วนการทำไส้อั่วให้สุก ใช้วิธีปิ้ง อบ หรือทอดก็ได้ หากจะให้หอมยิ่งขึ้นจะใช้วิธีรมควันกากมะพร้าว
ไส้อั่วร้านนี้ไม่มันเยิ้ม ประการสำคัญไม่ชืดแบบไส้กรอกภาคกลาง แต่ก็ไม่เปรี้ยวเหมือนแหนม นิยมกินกับข้าวเหนียว แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม แนมผักสดจำพวกขิงอ่อน พริกขี้หนูสด แตงกวา ผักชี ผักสลัด ผักชีฝรั่ง ฯลฯ
ข้าวซอย คืออีกหนึ่งอาหารพื้นเมืองยอดนิยมของภาคเหนือ มีต้นกำเนิดจากชาวจีนมุสลิมเดิมเรียกว่า “ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ” มีเส้นทอดคล้ายเส้นบะหมี่ ในน้ำซุปใส่เครื่องแกงรสหอมจัด กินกับเครื่องเคียงอันได้แก่ ผักกาดดองหอมหัวแดง และมีเครื่องปรุงรส เช่น พริกผัดน้ำมัน น้ำมะนาวน้ำปลา น้ำตาล ตำรับดั้งเดิมใช้เนื้อไก่หรือเนื้อวัว แต่ในปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งได้ดัดแปลงใช้เนื้อหมูแทน บางแห่งอาจเพิ่มอาหารทะเลหรือเต้าหู้เป็นส่วนประกอบอีกด้วย
แต่เดิมข้าวซอยไม่มีกะทิ เรียกว่าข้าวซอยน้ำใสต่อมามีการเพิ่มกะทิเข้าไปจนเป็นที่นิยมกันทั่วและกลายมาเป็นลักษณะข้าวซอยที่รู้จักกันในปัจจุบัน ข้าวซอยจึงเป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานระหว่างอาหารจีน อาหารตะวันออกกลาง และอาหารเอเชียอาคเนย์
แกงโฮะ คำว่า โฮะ แปลว่ารวม คือการนำเอาอาหารหลายๆ อย่างมารวมกัน สมัยก่อนแกงโฮะจะทำกันที่วัด เพราะว่าเมื่อมีเทศกาลงานบุญต่างๆ ชาวบ้านจะเอากับข้าวกับปลามาถวายทานทำบุญที่วัดเยอะมาก จนพระฉันไม่หมด พระและชาวบ้านจึงเอาแกงต่างๆ มาผัดรวมกันเพื่อเป็นการถนอมอาหาร มีการปรุงรสตามใจชอบ หรือเติมบางอย่าง เช่น หน่อส้มหรือหน่อไม้ดอง วุ้นเส้น ตะไคร้ ใบมะกรูดใบโกสน ปัจจุบันนิยมใช้ของสดในการปรุง และใช้แกงฮังเลเป็นเครื่องปรุงรส ที่ขาดไม่ได้ก็คือแกงฮังเล อันเป็นหัวใจของแกงโฮะ
เฮือนแม่วรณ์มีฝีมือแกงฮังเลอยู่ในระดับแนวหน้า จึงไม่สงสัยเมื่อเอามาผสมเป็นแกงโฮะจึงได้เปรียบในกลิ่นหอมของแกง โดยปรุงผสมกับเครื่องสด ได้รสได้ชาติสมกับเป็นเรือธงของร้าน
หน่อไม้น้ำปู๋ แกงหน่อไม้ มักเรียกกันว่า แกงหน่อ ใช้หน่อไม้สดในการปรุง หน่อไม้ที่นิยมนำมาแกง ได้แก่หน่อไม้ไผ่ตง หน่อไม้บง หน่อไม้ไร่ หน่อไม้ไผ่สีสุก บางแห่งเอามาแกงใส่กระดูกหมู ปลาดุก ปลาช่อน ปลาย่าง หรือแคบหมู และบางแห่งนิยมใส่น้ำปู๋(น้ำปู)ลงไปด้วย เพื่อเติมกลิ่นอายความเป็นอาหารเหนือ
เทคนิคการต้มหน่อไม้ให้ใส่ในขณะที่เริ่มตั้งหม้อ เมื่อหน่อไม้สุกแล้ว จะช่วยลดความเฝื่อนของหน่อไม้ได้ส่วนการใส่น้ำใบย่านาง จะช่วยให้แกงมีรสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น
ไก่เมืองนึ่งสมุนไพร ไก่เมืองคือไก่บ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงให้คุ้ยเขี่ยหากินตามธรรมชาติ เนื้อไก่จะมีรสชาติมีความหอมเหนียวสู้ฟันเล็กน้อย หมักกับเหล่าพืชผักสมุนไพรตามกลิ่นอายของกับข้าวเมืองเหนือ เพียงในเครื่องหมกจะเน้นขมิ้นจนหอมละไม สับไก่ทั้งกระดูกเป็นชิ้นใหญ่ ใส่ในกะละมังนึ่งนานราวหนึ่งชั่วโมงจนเนื้อไก่ค่อนมาทางนุ่ม น้ำตกในกะละมังแบ่งทำน้ำจิ้ม เพียงได้กลิ่นก็น้ำลายสอ
หมูทอด ในบรรดากับข้าวอร่อยๆ ที่เป็นเนื้อหมูติดมันเอามาหมักแล้วทอด คำเมืองเรียก “จิ๊นทอด” ทำง่ายๆ เพียงล้างหมูให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นหนาประมาณ 1.5 ซม. แล้วเอากระเทียม ดินปะสิวทุบละเอียด เกลือป่นนิดหน่อยตำให้ละเอียด ตักใส่กะละมังหมูคลุกเคล้าให้เข้ากันหมักทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงเอาไปทอดในน้ำมันให้ท่วม ทอดด้วยไฟอ่อนปานกลางจนกระทั่งหมูสุกได้ที่จะเหลืองหอมน่ากิน อาหารเรียบง่ายแต่แปลกที่อร่อยยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน
สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้หลายวัน ถ้าได้ข้าวเหนียวร้อนๆ สักหนึ่งปั้น กับ “จิ๊นทอด” เพียง 1 ชิ้น ก็อร่อยอิ่มท้องไปหนึ่งอิ่ม
ขนมจีนน้ำเงี้ยว มีนักวิชาการสองท่าน* พบข้อมูลและหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่า “ขนมจีน” ไม่ใช่คำยืมจากภาษามอญ และ “ขนม” ชนิดนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารเส้นแบบ “จีน” ตรงตามตัวอักษรด้วยจุดอ่อนของนักรามัญวิทยาเพียงแค่พิจารณาคำ “ขนมจีน” ในเชิงนิรุกติศาสตร์เพียงอย่างเดียว โดยมิได้พิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ (ยุคสมัยที่คำนี้ถือกำเนิดขึ้น) อีกทั้งมีความเป็นไปได้มากว่าเรื่องนี้อาจกลับตาลปัตร คือแทนที่ไทยจะยืมคำจากมอญ แต่มอญนั่นแหละที่ยืมไทยไป ไม่ใช่แต่เฉพาะดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่กินเส้นแบบนี้ หากชุมชนไทลื้อแถบจีนตอนใต้เองก็มี “ข้าวนมบีบ” กินมิหนำซ้ำยังมีลักษณะรูปร่าง และขนาดเส้นหลากหลายมากมายด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงดินแดนอื่นๆ ที่เขาก็มีข้าวเส้น/ขนมเส้น (ล้านนา) ข้าวปุ้น(ลาวอีสาน) นมปั่นเจ๊าะ (เขมรอีสานใต้/กัมพูชา) บุ๋น (เวียดนาม) ที่หน้าตาเหมือนขนมจีนกินกันมานานแล้วเช่นกัน *(อาจารย์ปวิทย์ วงศ์วีระ และอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล)
ส่วนขนมจีนในไทยก็เป็นอาหารจานโปรดของหลายคนมีการดัดแปลงขนมจีนตามแต่ละภาคแตกต่างกันไป เช่น ขนมจีนน้ำยาปลาช่อนของภาคกลาง ขนมจีนน้ำยาป่าภาคอีสาน ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ของภาคใต้ ถ้าเป็นภาคเหนือก็จะปรุงเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยวซึ่งแตกต่างจากการทำน้ำยาของภาคอื่นๆ แทนที่จะใช้เนื้อปลา ก็จะใช้เป็นเนื้อสัตว์อื่นมาปรุงแทน เช่น เนื้อหมู ซี่โครงหมู เลือดหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว และส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ต้องใส่ดอกงิ้ว ให้มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของขนมจีนน้ำเงี้ยว โดยโรยกระเทียมเจียว พริกทอด กินแกล้มกับผักกาดดอง ผักสด ถั่วงอก ฯลฯ
แกงขนุน หรือ แกงบ่าหนุน ถือว่าเป็นแกงที่มีชื่อเป็นมงคล มักจะแกงกินในงานแต่งงาน เพื่อเป็นเคล็ดให้คู่แต่งงานนั้นมีความเกื้อหนุนจุนเจือต่อกัน และในวันปากปีคือหลังวันเถลิงศก (วันพญาวัน) หนึ่งวัน บางแห่งนิยมใส่ข่า ตะไคร้ทุบ และอาจมีจักข่าน (สะค้าน) บ่าแขว่น (ผลกำจัด)โขลกใส่ลงไปในแกงด้วย สำหรับผู้เพิ่งเคยกินเนื้อขนุนในอาหาร จะรู้สึกแปลกดีเพราะเป็นสีขาว ไม่ใช่สีเหลืองเหมือนกินขนุนสุก
แหนมผัดไข่ แหนมหรือหมูส้มที่ทำเองเมื่อชิมจากออร์เดิร์ฟ ได้รับรสของแหนมที่คุ้นเคย เอามาผัดไข่ใส่พริกหนุ่ม ต้นหอม หน่อไม้ กับไข่ ผัดให้เข้ากันจนเคลือบแหนมได้ความหวานจากผักและความมันจากไข่ยิ่งเพิ่มความอร่อย บางร้านในกรุงเทพฯ เอาแหนมผัดไข่มาทำข้าวผัดปรุงรสคล้ายๆ กัน กลายเป็นข้าวผัดที่เป็นสูตรลูกครึ่งที่เข้ากันเป็นดิบดี
จอผักกาด คือ ผักกาดกวางตุ้งที่กำลังออกดอกซึ่งเรียกว่า ผักกาดจ้อน หรือ ผักกาดดอก ซึ่งปรุงด้วย เกลือ ปลาร้าหรือกะปิ ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียกหรือมะขามสด ใส่กระดูกหมูด้วยก็ได้ ซึ่งบางแห่งนิยมใส่น้ำอ้อยลงไปด้วย บางสูตรใส่ถั่วเน่าแข็บ หรือถั่วเน่าแผ่นย่างไฟ นิยมกินกับพริกแห้งทอดตัดท่อโรยหน้าแกง จอผักกาดของแม่วรณ์มีรสชาติเข้มข้นกลมกล่อม
แกงอ่อม เป็นแกงประเภทที่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมหลัก เช่น ปลา เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อไก่ นอกจากเนื้อแล้ว นิยมใส่เครื่องในสัตว์เป็นส่วนผสมด้วย เรียกชื่อตามส่วนผสมหลัก ได้แก่ แกงอ่อมไก่ แกงอ่อมปลา แกงอ่อมเนื้อควาย แกงอ่อมหมู บางทีก็แกงอ่อมเฉพาะเครื่องใน เช่น แกงอ่อมเครื่องในวัว แกงอ่อมเครื่องในควาย
นับว่าเป็นร้านอาหารเมืองที่มีอาหารเหนือหลากหลายครบครัน อีกหลายๆ รายการยังไม่ได้กล่าวถึงเช่น น้ำพริกข่า เห็ดนึ่ง แกงอ่อม แกงแค แกงเห็ดถอบส้า แอ๊บหมู แจ่วบอง รสชาติอาหารแบบเหนือแท้ อร่อยมากทีเดียวไม่เผ็ดจัด คุ้มราคา บรรยากาศดี มีเสียงเพลงเมืองเหนือเพราะๆ คลอเบาๆ ได้บรรยากาศเพิ่มรสชาติของอาหาร
เฮือนแม่วรณ์
211 หมู่บ้านเสรี 6 ซอยพระรามเก้า 51 แยก 5
(ใกล้ซอยยอดลาบเป็ด และเฝอตี้นาย)
แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง
กรุงเทพมหานคร 10250
โทร.095-6688551, 091-0910901
เปิด : 11 AM-9 PM
แผนที่โดย มูฮัมหมัด พันธ์โพธิ์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี