ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเทศกาลงานฉลองและการซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กันในวันคริสต์มาส การเมืองฝั่งอเมริกาเลยค่อนข้างเงียบเหงา เพราะมะริกันต่างวุ่นกับการจับจ่ายใช้สอยช้อปสินค้าลดราคาในวันแบล็คฟรายเดย์ ข่าวที่ออกมาจากสำนักข่าวต่างๆ จึงไม่มากเหมือนช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น
ช่วงใกล้สิ้นเดือนพฤศจิกายนเข้ารอบต่อเดือนสุดท้ายของปีแบบนี้ อดคิดถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ ใครจะคิดว่าการลุกขึ้นยืนนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกาและสืบสาวไปถึงต้นตอกฎหมายอันไม่เป็นธรรม
วันนั้นเป็นวันที่ 1 ธันวาคม คศ.1955 โรซ่า พาร์กส์ สตรีผิวดำวัยสี่สิบสอง ถูกตำรวจจับขังด้วยเหตุที่ไม่ลุกจากเก้าอี้ในรถเมล์ให้แก่ชายผิวขาวคนหนึ่งนั่ง..!!
โรซ่า พาร์กส์เป็นหญิงผิวดำวัย 42 ปี หลังเลิกงานก็เดินมาขึ้นรถประจำทางสายถนนครีฟแลนด์ (Cliveland Avenue) หมายเลข 2857 ของรัฐอลาบามาเพื่อที่จะกลับบ้าน เธอได้ที่นั่งและทรุดตัวลงอย่างอ่อนล้า จากนั้นชายผิวขาวคนหนึ่งขึ้นมาบนรถโดยสาร แต่ปรากฏว่าวันนั้นที่นั่งในฝั่งคนผิวขาวเต็มหมดทุกที่นั่ง ตามกฎหมายของรัฐ คนผิวดำจะต้องลุกขึ้นให้คนผิวขาวนั่ง คนขับรถจึงเอ่ยปากให้เธอสละที่นั่งให้คนผิวขาว แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะทำตาม
เพียงคำปฎิเสธที่จะลุกให้คนผิวขาวนั่ง ได้สั่นสะเทือนสิทธิพลเมืองของอเมริกาอย่างถึงรากถึงโคน คนขับจึงหันมาใช้วิธีข่มขู่เพื่อให้เธอลุกขึ้นให้คนผิวขาวนั่ง แต่เธอยังคงปฎิเสธ คนขับจึงสำทับว่า
“ถ้าไม่ลุก จะเรียกตำรวจมาจับ"
"คุณจะทำอย่างนั้นก็ได้"
โรซ่า พาร์กส์ตอบกลับอย่างสงบ หลังจากนั้นโรซ่า พาร์กส์ก็ถูกตำรวจจับก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงมากในยุคนั้น หลังจากได้รับการประกันตัว โรซ่าตัดสินใจทำใบปลิว 35,000 ใบกระจายไปทั่วเมือง โดยในใบปลิวมีใจความว่า
“คนผิวดำทุกคนจะไม่ขึ้นรถเมล์ทุก ๆ คันในวันจันทร์ที่จะถึง แต่จะเดินแทนการนั่งรถประจำทาง”
เมื่อถึงเช้าวันจันทร์ ไม่มีคนผิวดำคนไหนขึ้นรถเมล์เลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนพร้อมใจกันเดินไปทำงานแม้ว่าสายฝนจะกระหน่ำลงมาตลอดทั้งวัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันที่เรียกว่า Montgomery Bus Boycott
ผลที่ตามมาคือการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมของคนผิวดำจนนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในที่สุด แต่ที่อยากเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือ เรื่องของกฎหมายอันไม่เป็นธรรมที่กดสิทธิและความเป็นอยู่คนผิวดำให้ต่ำกว่าคนผิวขาวที่เรียกว่า “กฎหมายจิมโครว์”
ความเป็นมาของกฎหมายอันแสนอยุติธรรมนี้ย้อนกลับไปถึงช่วงหลังสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว หลังสงครามกลางเมือง รัฐบาลกลางพยายามฟื้นฟูประเทศโดยนำรัฐทางใต้ผนวกเข้าเป็นสหรัฐอเมริกาอีกครั้งด้วยความมุ่งหวังให้กลมเกลียว มีการออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก่ทาสผิวดำในฐานะพลเมืองอเมริกันให้เท่าเทียมกับคนผิวขาวด้วย
แต่รัฐทางใต้นั้นใช้กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของทาสผิวดำ กฎหมายฉบับนี้เรียกว่ากฎหมายคนผิวดำ (Black Codes) การที่รัฐทางใต้ยังมีกฎหมายที่กดขี่คนผิวดำทำให้สมาชิกพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาคองเกรสไม่พอใจ จึงปฏิเสธไม่ยอมให้ผู้แทนจากรัฐใต้กลับเข้าร่วมสภาคองเกรส
จากสถิติในปี ค.ศ.1860 คนผิวขาวทั้งหมดในรัฐที่มีทาสทางใต้มีประมาณแปดล้านคน และมีทาสผิวดำถึงสี่ล้านคน สำหรับเจ้าของที่ดินและนายทาสแล้ว ทาสถือเป็นทรัพย์สมบัติอย่างหนึ่ง ไม่ใช่มนุษย์ นายทาสสามารถกระทำการใดๆ กับทาสของตนได้ทั้งสิ้นโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะทาสมีฐานะเป็นเพียงทรัพย์สมบัติของนายทาสเท่านั้น โดยห้ามพวกทาสเรียนหนังสือและเมื่อแต่งงานก็ไม่มีการรับรองทางกฎหมายใดๆ อีกทั้งห้ามคนผิวขาวแต่งงานกับคนผิวดำด้วย
ในสมัยนั้นชาวอเมริกันในรัฐทางใต้มองว่าการค้าทาสเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากเป็นยุคแผ่ขยายอาณานิคม ทาสจึงเป็นแรงงานสำคัญในการสร้างผลผลิต จึงไม่ได้ถูกมองอย่างให้ค่าในฐานะ “มนุษย์” หากแต่เป็นสิ่งของที่สามารถซื้อขายหรือยกให้ใครก็ได้ ทาสจึงถูกกดขี่จากเจ้าของไร่อย่างทารุณ
ความคิดเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของการเหยียดผิว โดยมองคนที่มีสีผิวต่างจากตนเองเป็นพวกที่ต่ำกว่า หากเจ้าของไร่ไม่พอใจทาสคนใดมักลงโทษทาสคนนั้นอย่างทรมานจนตาย ส่วนทาสที่เป็นผู้หญิงก็ถูกข่มขืน และเป็นเรื่องที่ไม่มีใครมองว่าคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ทั้งๆที่การค้าทาสเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างน่าเศร้าที่สุด
สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายออกมาเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูณข้อที่ 14 (Fourteenth Amendment) ในค.ศ. 1868 ใจความสำคัญคือการให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวผิวดำเป็นพลเมืองอเมริกัน และบังคับให้รัฐทางใต้ยอมรับบทบัญญัติข้อนี้เข้าไปในธรรมนูญไม่เช่นนั้นจะไม่รับกลับเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับสหรัฐอเมริกา
ผลของการให้สิทธิเสรีภาพแก่คนผิวดำมีสิทธิเท่าเทียมคนผิวขาวสร้างความไม่พอใจอย่างใหญ่หลวงแก่ชาวอเมริกันในรัฐทางใต้ เมื่อมีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1877 เกิดความคลุมเครือในผลการเลือกตั้งจึงทำให้พรรคใหญ่สองพรรคคือรีพับลิกันและเดโมแครตหันมาจับมือกันโดยทางพรรคเดโมแครตยอมให้รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์จากพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี เพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อตกลงว่ารัฐบาลกลางจะต้องถอนกองกำลังทหารทั้งหมดออกจากรัฐทุกรัฐในภาคใต้
ผลของการยื่นหมูยื่นแมวในครั้งนั้นทำให้พรรคเดโมแครตมีอำนาจอีกครั้งในรัฐภาคใต้ และออกกฎหมายกีดกันริดรอนสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำอีกครั้งในชื่อกฎหมายจิมโครว์ (Jim Crow Laws) โดยมีการแบ่งแยกคนผิวขาวและคนผิวดำอย่างชัดเจนในเรื่องการใช้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภค เช่น การโดยสารรถประจำทาง คนผิวดำจะต้องไปนั่งข้างหลัง ส่วนคนผิวขาวได้นั่งข้างหน้า หากคนผิวดำได้ที่นั่งแล้วคนผิวขาวขึ้นมาบนรถโดยสาร คนผิวดำจะต้องลุกให้คนผิวขาวนั่ง หรือการใช้ห้องน้ำสาธารณะก็ห้ามใช้ปะปนกัน ก๊อกน้ำดื่มสาธารณะก็แยกออกจากกันโดยชัดเจน แม้แต่ประตูทางเข้า-ออกของอาคารแต่ละแห่ง
นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายแบ่งแยกโรงเรียนระหว่างเด็กผิวขาวและผิวดำอีกด้วย ที่สำคัญคือห้ามแต่งงานข้ามสีผิวอย่างเด็ดขาด ทั้งหมดนี้ภายใต้นโยบาย "แบ่งแยกอย่างเท่าเทียม" ("Seperate but equal") ส่งผลให้คนผิวดำในรัฐทางตอนใต้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง มีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าคนผิวขาวและไม่ได้รับความเสมอภาคทางกฎหมาย
การที่โรซ่า พาร์กส์ ไม่ยอมลุกให้คนผิวขาวนั่ง ถือว่าทำผิดกฎหมายจิมโครว์ จึงต้องถูกจับไปดำเนินคดี และนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของคนผิวดำในเวลาต่อมา บางทีเมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์แล้วอดเศร้าใจไม่ได้ เพราะเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แทบทุกชาติ ทำให้ตระหนักว่าความเสมอภาคและความเท่าเทียมไม่เคยมีอยู่อย่างแท้จริง แม้ในประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเปี่ยมไปด้วยสิทธิและเสรีภาพอย่างอเมริกา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี