" ภาพนี้เป็นภาพพระพุทธเจ้าหลวงที่เรามักจะเห็นกันจนเจนตา ถ่าย ณ พระตำหนักเรือนต้นพระที่นั่งวิมานเมฆ และอาหารที่ท่านกำลังตั้งพระหทัยทำอยู่นั้นคือ ทอดปลาทู นั่นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นปลาทูจัดได้ว่าเป็นของหรู เวลาเสด็จฯเมืองเพชรบุรีคราวใดก็มักจะเอ่ยถึงปลาทูเสมอ ได้มีการบันทึกไว้ว่า ท่านไม่โปรดปลาทูทอดที่เหม็นคาว ส่วนผู้ที่ทอดปลาทูได้ถูกพระราชหฤทัยมากที่สุดก็คือ เจ้าจอมเอิบ ซึ่งรับหน้าที่ทอดปลาทูถวายมาตลอด ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งไว้ว่า
“เรื่องทอดปลาทู ข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบ ออกไปทอด เตรียมเตาและกระทะให้พร้อม”
และสำหรับผู้ที่ถ่ายภาพนี้คือ เจ้าจอมเอิบ บุนนาค ท่านหญิงผู้นี้ มีความสามารถในการใช้กล้องถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพ และล้างรูปได้ด้วยตัวเอง เป็นช่างภาพสมัครเล่นในราชสำนัก ซึ่งได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายหลายพระองค์"
เมื่อก่อนเคยมีความเข้าใจผิดมาแต่เดิมว่าวงจรของฝูงปลาทูอันมากมายในท้องทะเลอ่าวไทยนั้น เริ่มต้นจากแม่ปลาทูโตเต็มวัยผสมพันธุ์ไปวางไข่จากอ่าวตังเกี๋ย ละแวกเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วว่ายเป็นปลาฝูงลงใต้มาเรื่อยๆ มาโตกำลังกินที่ก้นอ่าวไทยรูปตัว ก. แต่ต่อมามีการพิสูจน์ใหม่ พบว่าต้นทางการกำเนิดลูกปลาทูนั้นอยู่ในอ่าวไทยนี้เอง เป็นปลาผิวน้ำอยู่ใกล้ชายฝั่งในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร วางไข่ลอยตามผิวน้ำที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 17 องศาเซนติเกรด จากแถบหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม (เป็นระยะเวลาที่ปิดอ่าวห้ามจับปลาทู) แล้วว่ายเดินทางเจริญเติบโตมาได้ขนาดกำลังกินที่ก้นอ่าวไทยบริเวณอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จนถึงก้นอ่าวแม่กลองที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เมื่อไม่นานปีมานั้นตอนยังไม่มีเรืออวนลาก จะเห็นชายฝั่งเพชรบุรีถึงแม่กลองเรียงรายไปด้วยโป๊ะดักปลาทูเรียงรายเป็นร้อยๆ ลูกนับไม่ถ้วน ปลาทูที่ถูกจับจากโป๊ะถือว่าเป็นปลาทูที่รสดีกว่าการจับโดยเรืออวนลาก เพราะปลาโป๊ะหลังจากจับได้ ด้วยระยะทางการเอาเข้าฝั่งไม่ไกลนัก ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง จึงได้ปลาที่ค่อยๆ ตายอย่างละมุนละม่อมและเป็นการจับแบบวันต่อวัน ตัวปลาสดไม่ช้ำชอก เนื้อจึงหอมมันเนียนผิดจากปลาทูจากเรืออวนที่ระยะการเดินทางไกลกว่ามาก พอจับได้จึงต้องดองน้ำแข็ง จึงทำให้เนื้อปลากระด้างกว่า ปัจจุบันโป๊ะปลาทูเหล่านั้น หายไปจากฝั่งทะเลบางตะบูนและแม่กลอง เพราะฝูงปลาถูกดักจับเกือบหมดด้วยสารพัดอุปกรณ์ก่อนถึงโป๊ะ เสาโป๊ะเดี๋ยวนี้จึงเป็นเสมือนหลักให้บรรดาหอยมาเกาะอาศัย
ปลาทูเป็นปลาในวงศ์ตระกูลเดียวกับปลาโอปลาอินทรีและปลาทูน่า มีพฤติกรรมเป็นปลาฝูง หากินตามผิวน้ำพบปลาทูจากแหล่งต่างๆ ทั่วทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เลยไปถึงเกาะบอร์เนียว มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ปลาที่จับได้จากแหล่งอื่นๆ แม้จะตัวโต รสชาติเนื้อปลาจะกระด้างไม่เนียนมันเหมือนจากก้นอ่าวไทย ด้วยที่บริเวณนี้เป็นทะเลโคลนมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแพลงก์ตอนอาหารปลา แม้แต่คนอินโดนีเซียยังรู้จักปลาทูหอมหรือปลาทูเค็มของไทยเราว่าอร่อยกว่าของตัวเองจนมีการสั่งไปกินที่บ้านเขา
วงจรชีวิตของปลาทู ปลาทูอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปลาคู่เคียงของวิถีชีวิตของคนไทยทุกรูปนาม เป็นเรียกได้ว่าเป็นปลาที่ใช้ประกอบอาหารแทนปลาอื่นๆ ได้แทบทุกอย่าง
ตามปกติตลาดจะมีการขายปลาทู 2 ประเภท คือปลาทูสดและปลาทูนึ่งหรือปลาทูเข่ง การเลือกซื้อขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะนำไปประกอบอาหารชนิดใด เช่น ต้ม ย่าง แกง ผัด หมก งบ ใช้ปลาทูสด หากทอดกินกับน้ำพริก ยำ พล่า ใช้ปลาทูนึ่งหน้างอคอหัก เป็นต้น
ปลาทูนับเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในอาหารไทย มีการนำปลาทูมาปรุงเป็นอาหารมาช้านานแล้ว เนื้อปลาทูมีคุณค่าทางอาหารมาก
ทั้งกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นตัวควบคุมระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด และกรดโดโคซาเฮกซาโนอิก
(ดีเอชเอ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์สมอง
ปลาทูแดดเดียว
ปลาทูสด ในประเทศไทย แหล่งที่ได้ชื่อว่ามีปลาทูชุกชุมและรสชาติอร่อยแห่งหนึ่งคืออำเภอเมืองสมุทรสงคราม ปลาทูจากที่นี่มีชื่อเรียกว่า “ปลาทูแม่กลอง” ส่วนหน้ามีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ลำตัวสั้นแบน สีเงินหรืออมเขียว ตาดำ เนื้อแน่นแต่นุ่ม พบมากในอ่าวไทย บริเวณบางตะบูน เพชรบุรี มหาชัย กับแม่กลอง ถือว่าเป็นถิ่นที่ล้ำค่าเพราะเป็นตำแหน่งที่ อุดมไปด้วยตะกอนดินโคลน แร่ธาตุต่างๆ ที่ถูกพัดผ่านจาก ต้นน้ำจืด คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี มารวมกันที่ปากแม่น้ำแม่กลอง เกิดตะกอนฟุ้งไปไกลกว่า 30 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น สัตว์ทะเลที่ได้รับสารอาหารในทะเลช่วงนี้สมบูรณ์จนมีฝูงวาฬบรูด้ามาประจำถิ่น
ร้านไสว แม่กลอง เมื่อพูดถึงเรื่องของปลาทู ทำให้นึกถึง “ร้านไสว” ที่แม่กลอง เป็นร้านเก่าแก่ของเมืองรุ่นที่สองสืบทอดฝีมือและเข้าใจเรื่องของปลาทูมากที่สุดร้านหนึ่งของเมืองนี้ เมื่อถึงฤดูปลาทู จะต้องมาที่ร้านนี้ทุกครั้ง ปกติจะมีรายการอาหารเกี่ยวกับปลาทูมากกว่า 15 รายการ เช่น ปลาทูทอดกับน้ำพริกกะปิ ปลาทูย่างกับสะเดาน้ำปลาหวาน,ปลาทูต้มมะดันหรือมะนาว, ปลาทูตาเตี๊ยะ, ปลาทูแดดเดียว,ปลาทูผัดฉ่า, ปลาทูฉู่ฉี่, ปลาทูคั่วกลิ้ง, ปลาทูต้มส้ม, ปลาทูแกงส้มกับยอดมะพร้าว, ปลาทูเค็ม, ปลาทูผัดพริกไทยดำ, ทอดมันปลาทู, ข้าวเกรียบปลาทู, ส้มตำปลาทู และอีกหลายเมนู โดยทั่วไปหากจะนับกันให้ละเอียดจะได้มากกว่า 30 เมนู
เมี่ยงปลาทู
ปลาทูย่าง วิธีการกินปลาทูดั้งเดิมอันเรียบง่ายที่สุด มีรสชาติเป็นธรรมชาติด้วยการห่อใบตองปิ้ง ในอดีตถือว่าเป็นอาหารของคนจนจำเป็นต้องกินให้เอร็ดอร่อยแบบจนๆ เพียงแค่ราดน้ำจิ้ม มีพริก น้ำปลา มะนาว หอมแดงซอย ใบผักชีหั่นละเอียดๆ ลอยหน้า ในปัจจุบันกลายเป็นเมนูแย่งคนจนจากอาหารราคาถูก สมัยก่อนซื้อกันทีละเป็นถัง เคยมีบางบ้านเอาไปเลี้ยงแมวก็มี ไม่มีใครคาดคิดว่าอีกไม่กี่ปีต่อมาจะได้ขึ้นโต๊ะตามภัตตาคารร้านอาหาร
วิธีการย่างปลาทูแทนการทอด เช่น ปลาทูย่างกินกับน้ำพริกต่างๆ ใช้ทำเมี่ยงหรือพล่า ซึ่งจะปลอดไขมันดีกว่าแบบทอด วิธีการย่างปลาทูสดนั้น จะหอมกลิ่นใบตองไหม้ถ่าน ต้องห่อใบตองให้มิดตัวปลา กลัดด้วยไม้กลัดหากไม่มีก็ใช้ไม้จิ้มฟันกลัดแทน ย่างไฟอ่อนรุมๆ สักซีกละประมาณ 15 นาที หรือถ้าไม่สะดวกย่างด้วยเตาถ่านเพราะอยู่แฟลตอยู่คอนโด ก็หุ้มด้วยแผ่นฟอยล์อีกชั้นหนึ่งแล้วย่างด้วยเตาไฟฟ้า ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็เอาไปเข้าเตาอบ โดยใช้ไฟ 200 องศา อบซีกละ 15 นาที
ปลาทูตาเตี๊ยะหรือซาเตี๊ยะ
ปลาทูแดดเดียว ใช้ปลาเล็กที่ตกขนาด แล่ผ่าซีกแบะออก แดดดีๆ ตากไว้สักหนึ่งแดด ทอดจนกรอบเคี้ยวได้ทั้งตัวจนถึงหัวปลา กรอบมันเหมาะใช้มือหยิบกินแกล้มน้ำอมฤทธิ์ หากจิ้มกินกับน้ำพริกก็เข้ากันได้ดี
ปลาทูเข่งหรือปลาทูนึ่ง เป็นการถนอมอาหารเพื่อให้มีปลาทูกินได้นานขึ้น เพราะเมื่อก่อนนี้ไม่มีตู้เย็น ทำให้สามารถส่งไปขายทั่วประเทศตามจังหวัดไกลๆ อีกทั้งปลาทูนึ่งนั้นทำบางเมนูได้เหมาะกว่าปลาสด ฉายาของปลาทูแม่กลองว่า “หน้างอคอหัก” นั้นเกิดจากขนาดของปลาล้นเข่งจนต้องบิดคอปลาให้สวยงอจนใส่เข่งได้ อีกประการหนึ่งนั้นปัจจุบันโรงงานไม่มัวนึ่งให้เสียเวลา จึงต้มในน้ำเกลือทั้งเข่ง ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่นึ่งในหม้อความดันสูงที่ร้อนจัดเพียงผ่านเข้าเครื่องออกมาก็สุกสวยงามไม่มีหนังปลาถลอก
ทอดมันปลาทู
หลายๆ รายการอาหารจะใช้ปลาทูนึ่ง เช่นทอดกินกับน้ำพริก ต้มสายบัว พล่า ยำ เป็นต้น
เมี่ยงปลาทู สูตรทำเมี่ยงปลาทูของร้านไสวติดข้างฝาเห็นชัดเจน พร้อมคุณค่าทางโภชนาการโดยไม่หวงสูตรใครจะทำได้อร่อยมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับรสมือการปรุง สูตรนี้ทางร้านมีประสบการณ์ทำขายมามากกว่า 60 ปี
พล่าปลาทู พล่าปลาทูรสชาติคล้ายกับยำปลาทู เครื่องปรุงไม่พ้นกับหอมแดงซอย ขิงซอย ตะไคร้ซอย กระเทียมหั่นแผ่น ถั่วป่น ปรุงน้ำยำให้รสจัดเปรี้ยวเค็มหวาน รสเปรี้ยวอาจจะใช้มะดันซอย มะกอก มะม่วงซอยคลุกเคล้ากับปลาย่างที่แกะเอาแต่เนื้อและบรรดาสมุนไพรที่เตรียมไว้ โรยหน้าด้วยสะระแหน่เด็ดใบ
ปลาทูฉู่ฉี่
ปลาทูต้มมะดัน รสเปรี้ยวของลูกมะดันพืชที่มีเฉพาะฤดูฝน ให้ความเปรี้ยวอมตะ เปรี้ยวอย่างมีศิลปะ ไม่ได้เปรี้ยวแบบฉูดฉาดไม่ลืมหูลืมตา ไม่เปรี้ยวดุดันเหมือนรสเปรี้ยวจากผลไม้อื่นๆ แค่ได้คิดก็รู้สึกน้ำลายสอจนกรามร้าว
ต้มกับลูกมะดันและเครื่องสมุนไพร ทุบพริกขี้หนูลอยหน้าอีกหนึ่งกำมือ ตักมาซดร้อนๆ ให้เหงื่อกาฬไหล ใครที่เป็นไข้หัวลมกินแล้วหัวหูจมูกโล่งหายหวัด ส่วนขี้เมาที่กำลังได้ที่ ซดสักโฮกสร่างเป็นปลิดทิ้ง มีผู้สงสัยว่าลูกมะดันนั้นออกเฉพาะฤดูฝนทำไมร้านนี้จึงมีให้กินทั้งปี ได้คำตอบว่าเขาแช่แข็งไว้เป็นจำนวนมากให้พอใช้ได้ตลอดปี
ปลาทูเผาสะเดาลวก หน้าหนาวสะเดาออกดอกพราว เด็ดยอดติดเม็ดดอกอ่อนใบอ่อน ฟาดกับไฟพอสุกหรือจะลวกเร็วๆ ก็ได้ กินกับปลาทูย่างราดน้ำปลาหวานหอมแดงเจียว เมื่อก่อนมักกินกับปลาดุกย่างหรือปลาดุกฟู แต่เมื่อใช้ปลาทูย่างแทน ก็ได้รสคมคายไปอีกแบบ
ยำปลาทูต้มเค็ม
ปลาทูตาเตี๊ยะหรือซาเตี๊ยะ ปลาทูซาเตี๊ยะ หรือปลาทูตาเตี๊ยะ อาหารพื้นเมืองของจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ประวัติของอาหารจานนี้ เล่าสืบขานกันมาว่า ครั้งแรกทำกินกันในเรือประมงที่ออกหาปลา ในเรือมีบรรดาของแห้ง กระเทียม หัวหอม พริกแห้ง มะขามเปียก เมื่อเรือจับปลาทูได้มากมายก็ลองเอามาต้มแบบรวมๆ ในกระทะเคี่ยวกับเครื่องปรุงประดามีในเรือ จนน้ำขลุกขลิก เนื้อปลาแข็งรสเข้าเนื้อสามรส ออกเค็มๆ เปรี้ยวหน่อยๆ หวานตามแบบของคนโบราณชอบ ส่วนสาเหตุที่เรียกชื่อ“ปลาทูตาเตี๊ยะ” เป็นคำจีนแต้จิ๋ว “ตา” แปลว่าแห้ง “เตี๊ยะ” แปลว่ากระทะ รวมสองคำหมายถึงว่าต้มจนแห้งขลุกขลิกในกระทะ ต่อมาเรียกแปร่งไปเรียกเป็น “ปลาทูซาเซี้ยะ” จัดว่าเป็นจานฮิตของร้านบรรดาอาหารต่างๆ ในแม่กลองและมหาชัย
ทอดมันปลาทู ปกติเราจะคุ้นเคยกับทอดมันปลากรายหรือปลาอินทรี เมื่อใช้เนื้อปลาทูมานวดแทนอาจจะไม่เหนียวหนึบเท่าปลากราย แต่จะได้ความเหนียวแบบละมุนละไม ไม่เหนียวหนับจนเหมือนเคี้ยวยาง
ปลาทูฉู่ฉี่ เมื่อก่อนนี้รายการอาหารประเภทฉู่ฉี่ถ้าไม่ใช้ปลาน้ำจืดเนื้อละเอียดจำพวกปลาเค้า ปลากดคังปลาเนื้ออ่อน ฯลฯ ก็จะใช้ปลาทูสดมาปรุงแทน เนื้อละเอียดไม่แพ้บรรดาปลาน้ำจืดที่กล่าวถึง เครื่องแกงฉู่ฉี่ร้านทำเอง รสจึงออกมาหอมสดและเข้มข้นตามแบบฉบับเดิมๆ ประการสำคัญต้องซอยใบมะกรูดละเอียดโรยหน้าให้หอมฟุ้งไปทั่วร้าน
ต้มกระทิสายบัวปลาทู
ตับปลาทูผัดฉ่า ตับปลาทูค่อนข้างมีคนทำน้อย เพราะปลาทูหนึ่งตัวย่อมมีตับเพียงหนึ่งตับ ขนาดของตับแต่ละตับนั้นมีขนาดย่อมกว่าปลายนิ้วก้อย กว่าจะรวบรวมให้พอทำอาหารสักจานต้องสะสมตับปลาจากปลาเป็นฝูงดังนั้นหากอยากจะลองชิมตับที่มีรสหอมมันจึงต้องสั่งล่วงหน้าให้เวลาทางร้านรวบรวมตับให้พอทำได้สักจานสองจาน
ไข่เจียวปู ไข่เจียวปูนั้นกำลังโด่งดังด้วยว่ามีร้านทอดไข่เจียวปูราคาจานละ 800-1,000 บาท ได้หนึ่งดาวจากบริษัททำยางรถยนต์ จนเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วบ้านทั่วเมือง
แต่ไข่เจียวปูร้านนี้ราคาเพียงจานละ 80 บาท ด้วยฝีมือที่ไม่ยิ่งหย่อนกัน ต่างกันเพียงปริมาณเนื้อปูที่น้อยกว่ากันไม่มากนัก
นอกจากรายการอาหารปลาทูที่กล่าวถึงแล้ว ยังมีอาหารจำพวกปู เช่น หลนปูทะเลทั้งตัว, แกงเขียวหวานปลาหมึกสดสอดไส้, แกงคั่วปูหน่อไม้ดอง, ขนมจีนน้ำยาปลาทู, แกงส้มปูไข่ ฯลฯ ทุกรายการล้วนแต่เป็นอาหารสร้างชื่อเสียงมาเป็นนานปี โดยเฉพาะอาหารเกี่ยวกับปลาทูนั้นนับได้ถึง 15 รายการ
งานปลาทูประจำปีของแม่กลองจัดกันมา 20 กว่าปีจนเป็นเทศกาลที่คนรู้จักกันทั้งประเทศ รวบรวมร้านค้าภัตตาคารในจังหวัดนอกเหนือที่ได้รายงานของร้านไสวแล้ว มีเมนูปลาทูให้เลือกกว่า 24 รายการ เช่น ปลาทูทอด, ปลาทูย่าง,ปลาทูสามรส, ปลาทูแดดเดียว, น้ำพริกปลาทู, ปลาทูต้มมะดัน,ปลาทูต้มมะนาว, ปลาทูผัดฉ่า, ปลาทูฉู่ฉี่, ปลาทูผัดพริกไทยดำ, ปลาทูผัดผงกะหรี่, ปลาทูชุบแป้งทอด, ห่อหมกปลาทู ฯลฯ จึงขอนำบางรายการที่นอกเหนือจากข้างต้นมารายงานพอหอมปากหอมคอดังต่อไปนี้
ต้มกะทิสายบัวปลาทู ภูมิปัญญาคนไทยโบราณ รู้จักสรรค์สร้างของในสวนครัว ปอกมะพร้าวแก่คั้นน้ำกะทิดึงสายบัวในบ่อหรือในคลองมาลอกเปลือกสาวใย หักสายบัวเป็นท่อนสั้น โขลกพริกไทยเม็ด หอมแดง กะปิให้พอหยาบ ละลายเครื่องที่โขลกกับกะทิตั้งไฟพอเดือดแล้วใส่เนื้อปลาทูนึ่งแกะก้าง รอจนเดือดอีกครั้งจึงใส่สายบัว พอสายบัวนิ่ม ปรุงรสด้วย เกลือ น้ำปลา น้ำมะขามเปียก คนให้ละลายชิมรสเปรี้ยว เค็ม หวาน
ปลาทูต้มเค็ม คือการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งของคนโบราณ มักจะต้มใส่ปี๊บปิดผนึกแน่นสำหรับกินได้นาน การต้มเค็มนี้ถ้าเป็นปลาทะเลใช้ปลาทู หรือปลาคก (ตะเพียนทะเล) ปลาซาบะ ปลาตะลุมพุก (ฉิกคัก) หากปลาน้ำจืดก็ต้องใช้ตะเพียนต้มเค็ม ท่อนอ้อยทุบรองก้นหม้อ บางทีก็ฝานสับปะรดเป็นแว่นๆ ใส่ลงไปด้วย แล้วใส่พริกไทยบุบ น้ำตาลทรายแดง ตัดรสด้วยเกลือ จากท่อนอ้อยผ่าซีกทั้งเปลือกวางเรียงไว้ก้นหม้อจนเต็ม แล้วจัดเรียงปลาทูตัวอ้วนๆ เนื้อมันๆ ลงไป เติมส้มมะขาม น้ำเคย น้ำตาลปึก โรยมันหมูลงไปสัก 1 กำมือ ตั้งไฟอ่อนเคี่ยว 3 วัน ต้มจนก้างนุ่ม (ถ้าเป็นปลาตะเพียนต้มจนเกล็ดนุ่มกินได้ทั้งเกล็ดทั้งก้างละเอียด)
ยำปลาทูต้มเค็ม ใช้ปลาทูต้มเค็มผ่านการต้มเคี่ยวจนรสชาติเข้มข้นถึงเครื่อง เนื้อปลาแน่นแข็ง แต่ก้างปลาเปื่อยนุ่มตักใส่จานยำกับขิงฝอย หอมซอย ต้นหอม ผักชี พริกแดงฝอย ซอยผิวส้มซ่า ด้วยถ้าหาได้ หอม...ชื่นใจ
ปลาทูทอดเครื่องแกง อีกวิธีหนึ่งของความหลากหลายของเมนูปลาทู โดยการควักเหงือกดึงไส้ปลาออกล้างจนสะอาดหมดเลือด ผึ่งบนกระชอนพักให้หมาด โขลกเครื่องแกงกระเทียม หอมแดง ขมิ้นชัน พริกไทย พริกขี้หนูแห้ง ตะไคร้ซอยกะปิ เกลือ เอามาหมักคลุกกับปลาผึ่งหมาดรวมทั้งยัดใส่พุงปลาแล้วหมักทิ้งไว้สัก 1 ชั่วโมง เอาไปทอดในไฟกลางจนกรอบสวยตักขึ้นพักในจาน น้ำมันในกระทะที่เหลือจากการหมักปลาลงผัดปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลให้ถูกปาก แล้วราดบนปลาที่พักไว้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี