คดีทุจริตสุดอื้อฉาวและเลวร้ายที่สุดคดีหนึ่งก็คือคดีขบวนการโกงเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์(พม.) ซึ่งจากการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบมีการทุจริตในแทบทุกจังหวัดของประเทศ อันสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการทุจริตที่จะต้องมีผู้มีอำนาจในระดับประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สั่งย้ายข้าราชการ พม.ระดับปลัดและรองปลัดกระทรวงและล่าสุดมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อสอบสวนความผิดทางวินัย ขณะที่มีการเตรียมดำเนินคดีกับข้าราชการจำนวนมากที่ร่วมขบวนการทุจริตสุดอื้อฉาวครั้งนี้
จุดเริ่มต้นของขบวนการทุจริตสุดอื้อฉาวระดับชาติครั้งนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเมื่อ น.ส.ปณิตา ยศปัญญา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ไปฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล อดีตเจ้หน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นพบการทุจริตตำตาจึงทนไม่ได้กับพฤติกรรมโกงแม้แต่งบช่วยเหลือคนยากไร้จึงร่วมกันแจ้งข้อมูลมายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เท่านั้นเองมีคำสั่งจากทำเนียบรัฐบาลให้ตรวจสอบการทุจริตเรื่องนี้อย่างจริงจังจนเรื่องบานปลายอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้
หลังป.ป.ท.เข้าตรวจสอบพบขบวนการการทุจริตระดับชาติ กระทรวงพม.ก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคู่ขนาน แต่ผลการสอบสวนของกระทรวงพม.กลับถูกตั้งข้อสังเกตและพบพิรุธที่ถูกตั้งคำถามว่าส่อไปในทางช่วยเหลือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตบางรายหรือไม่ โดยเฉพาะผู้บริหารศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ขอ นแก่น โดยก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ค”ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน”เผยแพร่ข้อมูลพร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีการย้ายหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมของศูนย์คนไร้ที่พึ่งจ.ขอนแก่นซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตโดยตรงให้มาช่วยราชการที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นวันที่ 25 ม.ค. กลับมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น และมีสิทธิเข้าไปใช้งานระบบ “ KTB Corporate Online” ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติงานด้านการรับจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ตำแหน่งสูงขึ้นเท่านั้น ยังเป็นการแต่งตั้งข้ามสายงานจากเดิมที่เป็นพยาบาลมาเป็นเจ้าพนักงานการเงิน
จากข้อสังเกตในประเด็นร้อนดังกล่าวของ “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” ทำให้นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ต้องออกมาชี้แจงว่า ก่อนที่จะเกิดกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้มีรายได้น้อย พส.มีการจัดเตรียมระบบ KTB Corporate Online เพื่อใช้ในการจ่ายและรับเงิน ซึ่งเป็นระบบที่โปร่งใสที่สุด โดยจะเปิดใช้บริการในวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งหลายศูนย์ในสังกัด พส.ได้คัดเลือกและส่งรายชื่อคนที่เหมาะสมมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมาให้ ซึ่งกรมก็รวบรวมรายชื่อทั้งหมดไว้เพื่อดำเนินการต่อ ต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์ทุจริตเกิดขึ้นและมีการสอบสวนพบว่า ผอ.ศูนย์และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการศูนย์คนไร้ที่พึ่งจ.ขอนแก่นมีมูลความผิด ตนจึงได้สั่งย้ายบุคคลทั้ง 2 เข้ามาช่วยราชการส่วนกลาง โดยเซ็นคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ม.ค. แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเวลาที่ใกล้เคียงกัน ในวันที่ 25 ม.ค.ที่มีคำสั่งดังกล่าวออกไป เจ้าหน้าที่พส.อาจจะไม่ได้ดูในรายละเอียดรายชื่อและได้นำรายชื่อเดิมที่ส่งเข้ามาเซ็นคำสั่งเพื่อดำเนินการ ซึ่งมีชื่อหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการฯคนดังกล่าวพ่วงเข้าไปด้วย ทั้งนี้อาจเกิดจากการรีบดำเนินการเปิดระบบอย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนรายชื่อบุคคลที่มาจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามเนื่องจากวันที่ 24 ม.ค. ตนได้มีคำสั่งย้ายเข้ามาช่วยราชการที่ส่วนกลาง ดังนั้นคำสั่งวันที่ 25 ม.ค.จึงไม่มีผล รวมทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ เพราะระบบดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินการ และยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเจตนาที่จะช่วยเหลือแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ กรมพส.ตกเป็นข่าวอื้อฉาวถูกตั้งข้อสังเกตุกรณีที่ นางนภา ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2561 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย”ไม่ร้ายแรง” เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น 3 รายจากการพัวพันการทุจริต จนมีการตั้งคำถามว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ขอนแก่นเป็นจุดเริ่มต้นที่พบการทุจริตและปรากฏหลักฐานชัดเจนจน น.ส.ปณิตา เปิดโปงแจ้งเบาะแสต่อคสช.จนเรื่องบานปลายและนำไปสู่ขบวนการทุจริตในระดับชาติ ถึงขนาดทำให้ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงพม.และนายณรงค์ คงคำ รองปลัดกระทรวงพม. ตลอดจนผู้ตรวจราชการอีก 1 รายถูกตั้งคณะกรรมการสอบ “วินัยร้ายแรง” และถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.ขอนแก่นโดยเฉพาะ นางพวงพะยอม จิตรคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตชัดเจนและเป็นจุดต้นเรื่องกลับถูกสอบทางวินัย “ไม่ร้ายแรง”
จากคำสั่งสอบวินัย “ไม่ร้ายแรง” ซี่งมีโทษแค่ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา นางนภา กลับลำออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นางพวงพะยอม อาจมีความิดทางวินัยร้ายแรงทั้งๆที่ตัวเองเพิ่งมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย “ไม่ร้ายแรง
จากพิรุธการตรวจสอบขบวนการทุจริตระดับชาติโดยกระทรวงพม.ที่เกิดขี้นทำให้มีการตั้งข้อสังเกตและให้จับตา เพราะอาจจะมีการทุจริตซ้อนทุจริตด้วยการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อตัดตอนลบชื่อผู้ที่พัวพันการทุจริตบางคนออกนอกสารระบบหรือพยายามฟอกขาวย้อมแมวย้ายคนที่พัวพันทุจริตเพื่อช่วยพวกเดียวกันเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี