- โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร มีกี่ชนิด สาเหตุเกิดจากอะไร?
- คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลายการทำงานของสมองส่วนนั้นหยุดชะงัก จึงเกิดโรคอัมพาต
- โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักได้แก่
1). หลอดเลือดสมองตีบตัน
- 1.1). การตีบแคบของหลอดเลือดสมอง จากผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว และมีการเกาะของเกร็ดเลือดไขมัน เป็นมากขึ้นจนเลือดไหลไม่ได้จึงเกิดโรคอัมพาต โดยสาเหตุดังกล่าวเกิดจาก ภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย
- 1.2). การอุดตันของหลอดเลือดสมอง จากก้อนเลือดที่หลุดจากหัวใจออกไป จึงเกิดโรคอัมพาต โดยสาเหตุดังกล่าวเกิดได้จาก โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะที่ไม่ได้รับการตรวจที่เหมาะสม หรือไม่ได้ทานยาละลายลิ่มเลือดป้องกัน
2). การแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดในสมอง
อาการของหลอดเลือดสมองตีบ กับอาการของหลอดเลือดสมองแตกต่างกันอย่างไร ?อาการในทั้ง 2 ภาวะนี้แสดงออกคล้ายกันได้ขึ้นกับบริเวณส่วนที่สมองขาดเลือด แต่อาการของหลอดเลือดสมองแตก อาจมีภาวะปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่ง ความดันโลหิตสูงมาก หรือซึมหมดสติ ได้ โดยทั้งนี้ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเช่น เอกเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อแยก 2 ภาวะดังกล่าวนี้
- อาการของโรคหลอดเลือดสมอง?
- ส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะเป็นฉับพลันทันที เช่น เป็นขณะนั่งทำงาน ขณะทานอาหาร มีอาการอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีกทันที
- เพื่อให้ประชาชนจำได้ง่ายจึงมีการประยุกต์ใช้คำ“ FAST” ที่แปลว่าเร็ว
F Face :หมายถึง ภาวะที่มีหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ฉับพลัน โดยอาจสังเกตเห็นลักษณะมุมปากตก น้ำลายไหลออกจากมุมปากข้างที่ตกได้
A Arm :หมายถึง แขนขาอ่อนแรงหรือชา โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นลักษณะอ่อนแรงหรือชา ครึ่งซีกด้านใดด้านหนึ่งฉับพลันรวมถึงอาการอ่อนแรงเพียงเล็กน้อย เช่น การหยิบจับไม่ถนัด กำมือไม่แน่น หรือรุนแรงจนเคลื่อนไหวไม่ได้ ( ยกแขน 2 ข้างประกอบ และทำท่าประกอบถ้าเวลาอ่อนแรงน้อยๆ จะเห็นมีลักษณะแขนข้างที่อ่อนแรงตกเล็กน้อยได้)
S Speech :กล่าวรวมถึง พูดไม่ชัด พูดติดขัด พูดไม่เป็นประโยค นึกคำพูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจความมายของผู้ที่สื่อสารมา ทำตามสั่งไม่ได้ รวมถึงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้
T Time :เพื่อให้ตระหนักว่า เวลาหลังเกิดอาการเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษา เพราะจากระยะเวลาที่มีอาการ ต้องรีบไป รพ. เพื่อให้ได้รับการรักษาโดยได้รับยาสลายลิ่มเลือด (หากเป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบ) ภายใน 4.5 ชั่วโมง ถึงจะมีประโยชน์ในการลดอัตราการเกิดอัมพาตได้ โดยจากรายงานทางการแพทย์ก่อนหน้านี้หากไปถึง รพ. และได้รับยาภายใน 90 นาที สามารถลดอัตราการเกิดอัมพาตได้เมื่อเทียบกับไม่ได้รับยาถึง 3 เท่า และหลังจาก 90 นาทีโอกาสดังกล่าวจะลดลงเรื่อยๆ และหลังจาก 4.5 ชั่วโมงไปแล้วจะพบว่าแทบไม่สามารถลดได้แล้วและพบผลข้างเคียงหลังได้รับยาคือหลอดเลือดสมองแตกเพิ่มขึ้นแทน
อาการอื่นๆ ที่พบได้ : ปวดศีรษะมาก เวียนศีรษะเดินเซ ตามองไม่เห็นหรือเห็นภาพซ้อน ชาครึ่งซีก พดสับสน ไม่รู้ซ้ายขวา คิดเลขไม่ได้
ปัจจุบันประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้บริการสายด่วย โทร “ 1669 ” ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง หากสงสัยว่าตนเองมีอาการดังกล่าว หรือญาติมีอาการดังกล่าวให้รีบโทรติดต่อ เรียกรถพยาบาล “ 1669 ” ทันที โดยจะได้รับการประสานให้มีรถพยาบาลไปรับที่บ้านเร็วที่สุดเพื่อรีบนำส่ง รพ. ที่ใกล้บ้านที่สามารถให้การรักษาได้ไวที่สุด (ภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ)
- ผลกระทบจากโรคดังกล่าว (เช่น เป็นอัมพาต ป่วย ขาดคนดูแล)
- ในคนไข้ที่่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตกและตีบ คนไข้ส่วนหนึ่งสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้
- ส่วนหนึ่งอาจยังมีอาการอ่อนแรง ชา พูดไม่ชัด หรือกลืนลำบากไปตลอดชีวิต แต่ยังพอช่วยเหลือตนเองได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้
- ส่วนหนึ่งอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีคนช่วยป้อนอาหาร อาบน้ำหรือแต่งตัว
- และที่แย่ที่สุดในกรณีที่มีสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมองเป็นบริเวณกว้างหรือโดนสมองส่วนที่สำคัญ คนไข้อาจจะเป็นคนไข้ที่ติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรืออาจจะไม่สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม หรือไม่มีผู้ดูแลที่ดี มักจะเกิด การติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบต่างๆ เช่น ทางเดินหายใจ(จากการสำลัก) ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อจากแผลกดทับ ทำให้ถึงเสียชีวิตได้
- โดยอาจส่งผลต่อญาติใกล้ชิด ต้องจ้างคนดูแลผู้ป่วย 24 ชั่วโมง หรือ คนเองต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ เกิดปัญหาครอบครัวตามมา
- สถานการณ์เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองของไทยในปัจจุบัน
- โรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก องค์การอัมพาตโลก ( World Stroke Organization : WSO ) รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก(รองจากโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน)โดยมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก 17 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 6.5 ล้านคน
- สำหรับประเทศไทย โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากการตายก่อนวัยอันควรสูงเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง และสูงเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย จากรายงานสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคน ในภาพรวมปี พ.ศ.2557-2559 เท่ากับ 38.63 , 43.28 , 43.54 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพบว่า โรคหลอดเลือดสมองมีอัตราตายมากกว่าโรคเบาหวานและโรคหัวใจขาดเลือดเป็น 1.5-2 เท่าตัว
- เชื่อหรือไม่ว่า “ ทุกๆ 4 นาที มีคนไทยเป็นอัมพาต 1 คน ”
- จากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยคุกคามประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และผู้ที่รอดชีวิตจากโรคนี้ ยังอาจได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม บางรายเกิดความพิการทำให้เป็นภาระต่อครอบครัว เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
- ในปี พ.ศ. 2560 องค์การอัมพาตโลก ได้กำหนดประเด็นสำคัญในการรณรงค์แก่ประชาชน ครอบครัว ชุมชน รวมทั้งภาครัฐ ให้มีความตระหนกและร่วมกันป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโดยเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง การสังเกตอาการเตือน แนวทางการรับบริการเมื่อพบอาการของโรค และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อไปใช้ในการดูแล ป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยง ลดความพิการและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองต่อไป
- การดูแลรักษาผู้ป่วยและการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย
- ในช่วงที่เริ่มมีอาการ (ภายใน 4.5 ชั่วโมง) ที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบพาผู้ป่วยไป รพ. ที่ใกล้ที่สุด หรือโทรเรียกรถพยาบาล “ 1669 ” ดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้เร็วที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้อาการกลับคืนมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด และลดการเกิดเป็นอัมพาตได้ (แต่ต้องได้รับยาภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการหากไม่มีข้อห้าม)
- เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉิน และถ้าจากประวัติหรืออาการสงสัยโรคหลอดเลือดสมองฉับพลัน(ภายใน 4.5 ชั่วโมง) ผู้ป่วยจะได้รับการลัดคิวเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และเอกเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หากไม่พบลักษณะเลือดออกจากเอกเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และจากประวัติตรวจร่างกายสงสัยโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดฉับพลัน แพทย์จะอธิบายผลดี/ผลเสียหรือผลข้างเคียงในการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางกระแสเลือดเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจ และหากตัดสินใจรับยาสลายลิ่มเลือด แพทย์จะสั่งให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำทันที ( ภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ) {โดยประมาณมีโอกาสหายอัมพาตร้อยละ 50 และมีโอกาสเลือดออกในสมองร้อยละ 6} และผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเข้าเป็นผู้ป่วยในในหอผู้ป่วยในโรคหลอดเลือดสมอง
- หากไปห้องฉุกเฉินไม่ทันภายใน4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยเป็นการป้องกันไม่ให้สมองขาดเลือดเพิ่มเติมเป็นหลัก เช่น การให้ยาต้านเกล็ดเลือดที่เรารู้จักคือแอสไพรินเริ่มภายใน 48 ชั่วโมงแรก ให้น้ำเกลือ ประเมินสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบ รวมถึงปัจจัยเสี่ยง และเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน
- ส่วนในกรณีโรคหลอดเลือดสมองแตก จะได้รับการประเมินใกล้ชิดโดยแพทย์ศัลยกรรมระบบประสาท ถ้ามีเลือดออกในสมองขนาดใหญ่หรือมีอาการรุนแรงบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด
- ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการตรวจประเมิน เพื่อหาสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโดยแพทย์ และรับประทานยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด และรักษาหรือป้องกันสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อีก เช่น โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และอาการของโรคจะได้ฟื้นฟูให้ดีขึ้น
- การจะฟื้นฟูร่างกายต้องอาศัยทั้งการทานยาให้ถูกต้องสม่ำเสมอ การกายภาพบำบัด การควบคุมโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และการดูแลด้านจิตใจไม่ให้ผู้ป่วยเครียด
- ข้อแนะนำอื่นๆต่อผู้ป่วย และญาติผู้ดูแลผู้ป่วย
- การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองดีกว่า การรอให้เกิดโรคแล้วมาแก้ไขทีหลัง
- สามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้โดยการ ลดอาหารเค็ม มัน หวาน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หากเกิดอาการให้รีบพาผู้ป่วยมา รพ. หรือรีบติดต่อเรียกรถพยาบาล “ 1669 ” ให้ไวที่สุด ภายใน 4.5 ชั่วโมง
- ทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และแนะนำพาผู้ป่วยไปประเมินและเจาะเลือดตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี