เมื่อวันอาทิตย์ 12 พ.ค.ที่ผ่านมาแฟนฟุตบอลทั่วโลกคงเกิดอาการสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง เฉยเมยไปบ้าง เพราะการแข่งขันฟุตบอลลีกสโมสรสำคัญของโลกในหลายประเทศในทวีปยุโรปได้ทราบกันแล้วว่าใครได้รับชัยชนะจนเป็นแชมป์ ใครบ้างทีต้องลงไปเริ่มต้นใหม่ในลีกสโมสรระดับรองลงมาเพื่อก้าวขึ้นไปสู่ลีกสโมสรที่ใหญ่กว่าสร้างรายได้ให้มากกว่า อย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกขวัญใจมหาชนของแฟนบอลทั่วโลกที่สุดท้ายทีมชวัญใจมหาชนอย่าง เป็ดย่าง “ลิเวอร์พูล” ก็แค่สร้างสีสันปล่อยให้แฟนบอลพันธุ์แท้พันธุ์ทางที่ตามเชียร์ฝันค้างกับตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษที่ใกล้เคียงที่สุดเป็น ครั้งแรกในรอบ 29 ปีด้วยการปิดฤดูกาลแข่งขัน 2018/2019 แค่รองแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เหลือแค่ลุ้นการปิดฤดูกาลนี้ด้วยการวัดฝีเท้ากับทีมคู่ปรับร่วมลีกอย่าง “ไก่เดือยทอง “-ท็อตแน่มฮอสเปอร์ส ในการชิงชัยถ้วยบิ๊กเอียร์ “ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก” เพื่อความเป็นจ้าวสโมสรยุโรปในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ที่สนามวันดาเมโตรโปลีตาโนในเมืองมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งเป็น ครั้งที่ 64 แล้ว
ค่อยมาลุ้นกันว่าเป็ดย่าง-หงส์แดงจะคว้าแชมป์สมัยที่ 6 หรือ ไก่จะตามหลอนแฟนบอลเป็ดย่าง คว้าแชมป์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรกันแน่
โอเครล่ะ นั่นมันเรื่องของฟุตบอลสโมสรในประเทศอังกฤษ
หันกลับมาศึกษาและจับตาการเมือง-เศรษฐกิจประเทศไทยหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้วเกือบ 60 วันแล้ว การเมืองไทยยังไม่มีทีท่าว่าพรรคการเมืองไหนจะได้โอกาสกุมบังเหียนรัฐนาวาไทยผ่ามรสุมสงครามเศรษฐกิจโลก เพราะความที่ประชาชนคนไทย สังคมไทยลังเลหลงใหลได้ปลื้มกับวาทกรรมการเมืองของบรรดาตลกบนหลังคารถผลการลงคะแนนเลือกตั้งเลยออกมากั๊กๆแบบบอกไม่ถูกพรรคการเมืองหนึ่งก็อ้างความชอบธรรมในวาทกรรมอ้างความเป็นฝ่ายประชาธิปไตยผู้สมัครของพรรคได้รับเลือกตั้งเข้าสภามามากที่สุด
เป็นโจรใส่สูทในคราบนักการเมืองน้ำดี
ขณะที่นักการเมืองในซีกที่ถูกกล่าวหายัดเยียดให้เป็นฝ่ายเผด็จการสืบทอดอำนาจ คสช. ก็ยืนยันความถูกต้องชอบธรรมที่ได้เสียงกระแสนิยมหรือที่เรียกว่าคะแนนเสียงมหาชน(ป็อปปูลาร์โหวต)มากที่สุดคือ 8.43 ล้านเสียงจากจำนวนผู้มาใช้เสียงทั้งสิ้น 35.532 ล้านเสียงทิ้งพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตที่เมื่อรวมคะแนนเป็นคะแนนเสียงมหาชนแล้ว ได้เพียง7.920 ล้านเสียงเท่านั้น
ใครคือผู้ชนะก็แล้วแต่มุมมองแล้วแต่มุมที่จะอ้าง
เรียกว่า “ลิงแก้แหแถสีข้างถลอก”ว่างั้นเถอะ!!
แต่จนถึงวันนี้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านไปตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ตามความอยากของนักการเมืองผู้อดอยากกระสันที่จะหากินกับงบประมาณประเทศไทย
ต่างฝ่ายต่างหาวาทกรรมหาความชอบธรรม ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาล ไม่สามารถกำหนดชี้ชัดได้ว่า ใครจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กุมบังเหียนรัฐนาวาลำนี้ให้ล่องลอยไปข้างหน้าอย่างมีอนาคตและจุดหมายได้
จนถึงวันนี้นาทีวินาทีนี้ยังไม่มีใครชี้ชัดลงไปได้ว่า กลุ่มก๊วนไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งน่าจะเป็นรัฐบาลที่เป็นที่พึ่งของประชาชน
กระทั่งล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองปัจจุบัน กับ ความสุขของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,295 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง วันที่ 1 – 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 ระบุ การเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 10.1 ระบุไม่ทำลาย และที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 42.6 ระบุ ระดับความขัดแย้งทางการเมืองเปรียบเทียบกับช่วงเวลาการชุมนุมประท้วงในปี 2557 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 17.9 ระบุลดลง
หากจะพูดถึงกรณีความขัดแย้งที่ผลสำรวจถูกระบุว่าจำนวนตัวอย่างการสำรวจในหัวข้อที่ว่าการเมืองปัจจุบันกับความสุขของประชาชนส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 89.9 รู้สึกว่าการเมืองปัจจุบันส่งผลกระทบทำลายความสุขของประชาชน ทั้งผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ตัวอย่างข้อมูลกว่าร้อยละ 42.6 เห็นว่าระดับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อช่วงการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส.และหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย และช่วงก่อนการทำรัฐประหารของคสช.โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 แน่นอน เรื่องนี้มีผลมาจากการประกาศแบ่งฝักแบ่งฝ่ายว่า ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายนิยมเผด็จการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร (คสช.) มาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กระทั่งหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล
สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตที่สรุปผลว่า ข้อมูลตัวอย่างการสำรวจจำนวน 50.12% ต้องการให้นักการเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นนักการเมืองที่ดี ทำตามหน้าที่ รักษาสัญญา ขณะที่ร้อยละ 31.43 อยากให้ทุกฝ่ายยุติการทะเลาะเบาะแว้ง ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีกันไปมาและ21.48% ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้า ขณะที่ 17.51% ต้องการเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ดูแลเอาใจใส่ประชาชน ส่วน9.35 % เคารพกฏหมาย ยึดหลักประชาธิปไตย
ในการเมืองปัจจุบันนี้ฝ่ายที่พยายามเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ยังจับมือกันแน่นและพยายามเจราจาหว่านล้อมพรรคการเมืองอื่นๆให้มาสนับสนุนตนเองให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซีกนี้ต้องยอมรับว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติศิริ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่มีใครได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เลยสักคน
จึงเกิดคำถามว่า อย่างนี้คือการเอาคนที่ไม่ได้เป็นส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่
เรียกกันง่ายๆก็คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก
หากย้อนไปดูการเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 หรือเมื่อ 27 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ยุคทมิฬทางการเมืองที่มีประชาชนผู้บริสุทธิ์สังเวยความตระบัดสัตย์ของนักการเมืองกับวาทกรรมทหารใหญ่รหัส 0413 "เสียสัตย์เพื่อชาติ"
ตั้งแต่ยุครัฐประหารรสช.ที่มี บิ๊กสุ-พลเอกสุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.บิ๊กจ๊อด-พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. บิ๊กเต้-พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ.และ บิ๊กตุ๋ย-พลเอกอิสรพงษ์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทบ.นายทหารจปร.5 รุ่นรหัส 0413 เป็นผู้นำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาซึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี 2534ได้บัญญัติเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ ทำให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ต้องตระบัดสัตย์สร้างวาทกรรมการเมืองเสียสัตย์เพื่อชาติ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีกระแสเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น ซึ่งพรรคการเมืองและนักการเมืองที่สนับสนุน พลเอกสุจินดา ตระบัดสัตย์เพื่อชาติก็ร่วมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.ด้วยเช่นกัน
5 พรรคการเมืองที่เป็น "พรรคมาร"สนับสนุนให้พลเอกสุจินดาคราประยูร ตระบัดสัตย์เพื่อชาติประกอบด้วยพรรคสามัคคีธรรมของเสี่ยโอน-พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ พรรค ชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปะอาชา พรรคกิจสังคมของนายมนตรี พงษ์พานิช พรรคประชากรไทนของนายสมัคร สุนทรเวช และพรรคราษฎรของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธุ์ ซึ่งหัวหน้าพรรคมารทั้ง 5 พรรคนี้ ส่วนใหญ่ถึงแก่อสัญกรรมหมดแล้ว ยกเว้นพลเอกเทียนชัยเท่านั้น ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายเทพครั้งนั้นประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคประชาธิปัตย์ของนายชวน หลีกภัยพรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง และพรรคเอกภาพของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ส่วนส.ส.ในครั้งนั้น ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายเทพและฝ่ายมารที่ยังคงเล่นการเมืองมาจนถึงการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีใครบ้างนั้นคงต้องหารายชื่อส่ำสัตว์เหล่านั้นในกูเกิ้ลแหละถึงจะทราบทั้งหมด
สำหรับสาเหตุที่พลเอกสุจินดาต้องตระบัดสัตย์เพื่อชาติ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนั้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 เสี่ยโอน—พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมที่ชนะการเลือกตั้งโดยลูกพรรคสามารถกวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 79 ที่นั่งเหนือ พรรคชาติไทยของนายบรรหารที่ได้ 74 ที่นั่งชนะ พรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธที่ได้ 74 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ของนายชวน หลีกภัยที่ได้ 44 ที่นั่งสามารถรวบรวมผู้สนับสนุนในสภาได้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง (จากพรรคสามัคคีธรรม 79 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 74 ที่นั่ง พรรคกิจสังคม 31 ที่นั่งพรรคประชากรไทย 7 ที่นั่ง พรรคราษฏร 4 ที่นั่งพรรคมวลชนของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และพรรคปวงชนชาวไทย ของพ.ต.พล เริงประเสริฐวิทย์อีกพรรคละ 1 คนรวมแล้ว 197 เสียง)ซึ่งขณะนั้นจำนวนส.ส.ในสภามีทั้งสิ้น 360 คนตั้งรัฐบาลได้
แต่เสี่ยโอน-พ่อเลี้ยงณรงค์ ติดปัญหาส่วนตัวเนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำจากความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติดทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ จึงได้ทำการขัดหลักการประชาธิปไตยโดยเอาพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ได้ลงสมัตรส.ส.ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการต่อต้านของประชาชน นิสิตนักศึกษา นำโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม , ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร อดีตส.ส.ตราด พรรคประชาธิปัตย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เลขาธิการสนนท.(สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ) นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งปฏิบัติงานช่วยเหลือเด็กยากไร้ในชุมชนคลองเคย และผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป นายแพทย์เหวง โตจิราการหรือ"สหายเข้ม" เมื่อครั้งเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มูลนิธิหมอชาวบ้าน นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำสมาพันธุ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธุ์ เริ่มต้นด้วยการอดข้าวอดน้ำประท้วงอยู่หน้าอาคารรัฐสภา จากนั้นนับจากวันที่ 16 พฤษภาคม 2535การชุมนุมประท้วงได้ขยายตัวเพิ่มจำนวนผู้ต่อต้านการตระบัดสัตย์เพื่อชาติของพลเอกสุจินดา คราประยูรมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง จึงมีการให้ฉายาม็อบนี้ว่าม็อบมือถือ เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไปเช้า-เย็นกลับและติดต่อสื่อสารรวมตัวกันผ่านทางมือถือที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทด้านการสื่อสารในประเทศไทย เหตุการณ์ชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกสุจินดาเริ่มเคลื่อนทหารเข้ามาประจำในกรุงเทพมหานครมากขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งมีการเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจบริเวณถนนราชดำเนินกลางจนรัฐบาลต้องสั่งให้มีการสลายการชุมนุมทำให้ประชาชนเกิดการบาดเจ็บล้มตาย เกิดการจลาจลในกรุงเทพมหานคร กระทั่งค่ำคืนของวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 พลเอกสุจินดาได้ออกแถลงการณ์ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบไว้ได้หมดแล้ว แต่ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมประท้วง
จำได้ว่านักการเมืองหลายคนที่ปัจจุบันที่อยู่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนั้นสวมสูทนักการเมืองพรรคเทพเคยขึ้นเวทีปราศรัยคัดค้านการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูรที่เป็นคนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งร่วมกับนักการเมืองพรรคมารที่เคยทรยศต่ออุดมการณ์นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยสนับสนุนคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนักการเมืองเหล่านั้นหลายคนมีโอกาสเข้าไปนั่งในรัฐสภาอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ผ่านไป และกำลังสนับสนุนบุคคลที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแข่งกับนายทหารที่ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนที่คอร์รัปชั่นผลาญงบประมาณประเทศอย่างย่อยยับมากมาย จนถูกประชาชน เกษตรกรชาวนาเดินขบวนครั้งใหญ่ขับไล่ออกจากตำแหน่ง แต่คนเหล่านั้นหามีสามัญสำนึกกับการสร้างหายนะทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติขัดขืนต่อสู้ยื้อเวลาอยู่ในตำแหน่งกระทั่งทหารต้องมายึดอำนาจการปกครอง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่ำสัตว์เหล่านั้นส่วนหนึ่งก็ได้กลับเข้ามารัฐสภาและกำลังจะสนับสนุนให้เกิดนายกรัฐมนตรีคนนอก ทั้งที่ในเวลานี้นักการเมืองอีกซีกที่ถูกยัดเยียดว่านิยมเผด็จการและต้องการสืบทอดอำนาจคสช.แต่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นส.ส.กลับถูกกีดกันและโจมตีตลอดเวลากระทั่งคนในชาติจากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ ไม่มีความสุข และเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งจนอาจเลยเถิดไปสู่ความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อหลังการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535 จนได้นายกรัฐมนตรีคนนอกที่ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ ซึ่งข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นจำนวน ร้อยละ 89.9 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันกระทบความสุขของประชาชน
จนถึงเวลานี้การแย่งชิงจ่าฝูงเพื่อก้าวไปสู่แกนนำการจัดตั้งรัฐบาลคงคล้ายกับการชิงแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษที่จบสิ้นไปแล้ว ระหว่างฝ่ายที่พยายามบอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช.คณะนายทหารที่เข้ามายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2557 ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่แต่ผลักดันให้คนนอกสภาแต่อยู้ใต้อุ้งกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมาชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาล กับกลุ่มที่ถูกอีกฟากตราหน้าว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจทหารฝ่ายเผด็จการภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐและพรรคการเมืองน้อยใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี หรือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือเสนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยขึ้นมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาก็ยังได้ผู้นำประเทศในหลักการประชาธิปไตยอยู่ดี
ฉะนั้นอย่าแปลกใจกับผลการสำรวจความคิดเห็นกรณีความสุขประชาชนกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเลย เพราะทุกคนย้อนวันเวลาไปสู่อดีตจากพฤติกรรมการแบ่งแยกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
บังเอิญใกล้จะถึงวันรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เลยต้องนำมาย้อนความทรงจำนักการเมืองบางคนอีกครั้ง
ย้อนพฤติกรรมเจ้าเล่ห์ส่ำสัตว์ที่แต่งตัวใส่สูทผูกไทค์เป็นผู้ดีทั้งที่จิตใจโสมมไม่ต่างจากโจร
เพราะนักการเมืองในยุคนั้นก็เป็นนักการเมืองในยุคนี้แถมบางคนยังเป็นแกนนำอีกต่างหาก
แต่ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าโจรใส่สูทที่เป็นักการเมืองคงตระบัดสัตย์เพื่อตัวเองมากกว่า
หรือบางทีตระบัดสัตย์เพื่อไม่ต้องอดอยากไปเป็นฝ่ายค้าน
อย่างนักการเมืองอาวุโสในพรรคเพื่อไทยเคยลั่นวาจาไว้...อย่างแน่นอน!!!
แม้การเมืองไทยขณะนี้ยังไม่ถึทางตันไม่ถึงจุดเดือดอย่างเหตุการณ์หลังการเลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535ก็ตาม แต่การยื้อแย่งการแข็งกร้าวเพื่อชิงอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินถึงขนาดประกาศชัดของนายธนาทร จึงรุ่งเรืองกิจและพรรคอนาคตใหม่ที่ระบุชัดเจนว่า "ไม่มีวันยอมแพ้เผด็จการ"ก็น่าจะทำให้การเมืองเกมนี้ดูจะอึมครึมและรอเวลาระเบิดออกมาเท่านั้น
วรพจน์ แสนประเสริฐ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี