ช่วงนี้กระแสกัญชากำลังมาแรงในเมืองไทย แม้ว่าหมอหนูจะยืนยันว่ากัญชานั้นมีประโยชน์มหาศาลทางการแพทย์ แต่บรรดาสายควันก็ฝันถึงกัญชาเพื่อนันทนาการหรือสามารถปลูกได้บ้านละ 6 ต้น คงกะว่าจะพี้กันให้เพลิดเพลินเจริญใจ
ว่าตอนนี้นโยบายกัญชาเสรีจะยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการที่เพิ่งเตาะแตะ แต่เรารู้จักกัญชามานานแล้ว คนสมัยก่อนสูบกัญชากันเป็นบ้องที่ทำมาจากไม้ไผ่ประดับเหรียญตราเหรียญกล้าหาญมากมาย สูบแล้วตาเยิ้มเลิ้มหาของหวานอย่างถั่วตัด มันเชื่อม หรือนมเย็นหวานจัดๆ ใครที่ไม่มีบ้องกัญชาก็ใช้ขวดแชมพูอย่างแฟซ่ามาดัดแปลงทำบ้อง แต่ต้องล้างฟองออกให้หมดก่อน ไม่งั้นสูบแล้วหงายหลังตึง เพราะเต็มไปด้วยฟอง ขาพี้สายควันจะมีเขียงน้อยไว้ซอยกัญชา ซึ่งต้องแยกใบออกจากเมล็ด ยิ่งพวกที่สูบพันลำยิ่งต้องซอยระมัดระวัง เพราะเมื่อเมล็ดประทุไฟ อาจพุ่งใส่หน้าใส่เสื้อผ้าได้
จริงๆ แล้ว ชาวโลกรู้จักกัญชามานานกว่าสามพันปี ย้อนไปถึงสามพันปีก่อนคริสตกาลนั่นเลยทีเดียว เพราะนักสำรวจพบเถ้าเมล็ดกัญชาในหลุมฝังศพที่ไซบีเรีย คนจีนเองก็ใช้กัญชาเป็นยามานานนับพันปี ไอ้พืชตัวนี้จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษนั่นแหละ ถึงทำให้ผู้คนยุคโบราณรู้จักและนำมาใช้ แม้ว่าปัจจุบัน สถานภาพของกัญชาในหลายประเทศคือสิ่งเสพติดประเภทหนึ่งก็ตาม
หลายประเทศกำลังทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เช่น ในอุรุกวัยมีการลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ขณะที่ในอิสราเอล แคนาดา และเนเธอร์แลนด์มีโครงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศออกฎหมายอนุญาตให้ครอบครองกัญชาได้
ส่วนในอเมริกานั้น มีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายถึง 23 รัฐ เรียกว่าเกือบครึ่ง เพราะอเมริกามีทั้งหมด 50 รัฐ แต่ละรัฐมีกฎหมายและรายละเอียดแตกต่างกันออกไป บางรัฐอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ บางรัฐอนุญาตให้สูบได้โดยเสรี ส่วนบางรัฐนั้นไม่อนุญาตเลยทั้งสองแบบ
รัฐที่อนุมัติให้สูบกัญชาเพื่อหย่อนใจได้มี 9 รัฐ โดยไม่ต้องมีเหตุผลทางการแพทย์รองรับ คือ รัฐอะแลสกา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, เมน, แมสซาชูเซตส์, เนวาดา, ออริกอน, วอชิงตัน และวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนรัฐอินเดียน่าที่ฉันอยู่นั้นไม่อนุญาตทั้งการนำมาใช้ทางการแพทย์และสันทนาการ
ในอเมริกา กัญชามีชื่อเล่นหลายชื่อ มะริกันชนเรียก “เมรี่เจน” บ้าง กราสบ้าง หรือบางทีก็เรียกว่าพอตที่แปลว่าหม้อ แล้วเรียกบ้องกัญชาว่า “บอง” เลยอดคิดไม่ได้ว่า ฝรั่งอเมริกันคงไปพี้เนื้อในไทยแล้วหยิบเอาคำว่า “บ้อง” มาใช้เรียกอุปกรณ์แสนบันเทิง
ส่วนบรรดาขาพี้นั้นเรียกชื่อเก๋ไก๋ว่าพวกสโตนเนอร์ และเรียกอาการเคลิ้มได้ที่ว่า “สโตน” จริงๆ ศัพท์พวกนี้ถือว่าโบราณแล้ว สำหรับมะริกันวัยรุ่น แต่ก็ที่เข้าใจอันดี ยังมีศัพท์บางตัวที่เป็นสำนวนเปรียบเทียบ เช่น “ลอยสูงเหมือนว่าว” หากใครบอกว่าตัวเองกำลังลอยสูงเหมือนว่าวคือกำลังได้ที่เลยทีเดียว อีกคำที่ใช้เรียกพวกสายควันคือ “หัวหม้อ” พ็อตเฮด
สแลงยอดฮิตอีกคำเกี่ยวกับกัญชาคือ 420 บรรดาขาพี้ทั่วโลกต่างยิ้มย่องผ่องใสเมื่อเห็นนัมเบอร์นี้ความหมายของ 420 คือการนัดหมายรวมตัวมาสูบกัญชาในวันที่ 20 เดือนเมษายน เวลา 4 โมง 20 นาที สิงห์อมควันมะริกันจะมารวมตัวกันสูบกัญชาในสถานที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นกลางทุ่ง ภูเขาหลังโรงเรียน หรือแม้แต่สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยในอเมริกานั่นเอง นอกจากขาพี้จะมารวมตัวกันตามกำหนดนัดหมายแล้ว ยังมีกิจกรรมมากมาย
รหัสลับฉบับควันนี้มีที่มา เรื่องนี้ย้อนกลับไปในปี 1971 เพื่อนซี้ไฮสกูล 5 คน คือสตีฟ แคปเปอร์, เดฟ เรดดิซ, เจฟฟี่ โนเอล, ลาลี่ ชวาทซ์, และมาร์ก กราวิช โรงเรียนมัธยมซานราฟาเอล รัฐแคลิฟอร์เนีย ไอ้กลุ่มเด็กเกรียนพวกนี้เรียกตัวเองว่า “ วอลโดส์” (Waldos) เ พราะมักนัดพบกันตรงกำแพง เรียกแบบบ้านๆ คือ “ไอ้เด็กริมกำแพง” นั่นแหละ แนวๆ เด็กหลังห้อง ทำนองนี้
วันหนึ่ง ทั้งกลุ่มได้ข่าวลับข่าวลือว่ามีไร่กัญชาร้างอยู่แถวในเมือง พอดีได้จังหวะเหมาะเจอกะลาสีคนหนึ่งสมอ้างว่าตนนั้นเป็นคนดูแลกัญชาพวกนั้น แต่คงไม่มีโอกาสได้ดูแลแล้ว เพราะต้องออกเรือไปไกล เด็กหนุ่มทั้งห้าอาสาว่าจะไปดูแลต้นกัญชาพวกนั้นให้ เพราะหวังจะได้พี้เนื้อฟรีเป็นค่าจ้างในการรดน้ำพรวนดิน กะลาสีพยักหน้าหงึกแล้วยื่นกระดาษแผ่นเล็กๆ จดตำแหน่งที่ตั้งไร่กัญชาให้
ทั้งกลุ่มนัดสุมหัวประชุมทุกวันเพื่อวางแผนตามหาต้นหญ้ามหัศจรรย์ โดยนัดกันแถวกำแพงโรงเรียน ตรงรูปปั้นของ หลุยส์ ปาสเตอร์ เวลาสี่โมงยี่สิบทุกเย็น โดยกำหนดรหัสลับว่า 420 หลุยส์ ทั้งกลุ่มตามหากัญชาที่กะลาสีปลูกวันแล้ววันเล่าก็ไม่พบ แต่ก็ยังไม่ย่อท้อ เมื่อพบหน้ากันตอนพักเที่ยงจะนัดแนะกันว่า
“เฮ้ย เย็นนี้ที่เก่าเวลาเดิมนะเว้ย 420 หลุยส์”
หลังจากหากันจนอ่อนใจก็ไม่เจอ สงสัยว่ากะลาสีจะอำเล่นนั่นแหละ ใครจะปล่อยให้กัญชาลอยนวล ยุคนั้นเป็นยุคบุปผาชนเบ่งบาน กัญชามีค่ายังกะทองคำ แม้จะหาไม่เจอแต่เพื่อนๆ ก็ยังนัดเจอกันพี้เนื้อ โดยใช้รหัส 420 เป็นการนัดหมายเหมือนเดิม เพียงแต่ตัดคำว่า “หลุยส์” ออกไป
การที่รหัส 420 กลายเป็นคำสแลงของกัญชา เพราะพี่ชายของเด็กหนุ่มกลุ่มนี้เป็นผู้จัดการวงดนตรีที่เล่นคู่กับวงเดอะ เกรทฟูล เดด ซึ่งช่วงนั้นได้รับความนิยมอย่างสูงและเริ่มเดินสายทั่วประเทศ คืนหนึ่งมาเล่นที่เมืองที่พวกกลุ่มวอลโดส์อยู่ เลยถือโอกาสไปสุมหัวดูดกัญชากับพวกนักดนตรี เวลาใครส่งพันลำวนในวง หนึ่งในกลุ่มวอลโดส์ก็จะบอกว่า “420”
จากนั้นเป็นต้นมา 420 เลยกลายเป็นรหัสลับในวงเดอะ เกรทฟูล เดด บรรดามิตรรักแฟนเพลงต่างเอาไปขยายใช้กันจนแพร่หลาย ในปี 1990 สตีเฟ่น บลูม บก. ของ High Times นิตยสารรายเดือนเกี่ยวกับกัญชาในแคลิฟอร์เนียมาชมคอนเสิร์ตของเดอะ เกรทฟูล เดด เลยได้รับเชื้อรหัส 420 ไปด้วย
พอเอาไปเขียนในนิตยสาร ปรากฎว่า High Times ฉบับ 420 ขายดีสุดๆ ทำให้รหัสลับที่ไม่ลับแพร่กระจายไปทั้งโลก เรื่องนี้ยิ่งดังเป็นพลุแตก ทำให้ทุกคนในโลกรู้จักรหัส 420 กันทั่วหน้า จนนำไปสู่การรวมกลุ่มสูบกัญชาทุกวันที่ 20 เมษายนของทุกปี เวลา 4 โมง 20 นาที จนถึงปัจจุบัน
ผลพวงของ 420 ยังทำให้ป้ายไม่ว่าจะเป็นเลขที่บ้านหรือป้ายถนนถูกขโมยเป็นประจำ เพราะถือเป็นของสะสมของบรรดาสิงห์อมควัน กระทรวงคมนาคมเลยต้องหาทางแก้ไขปัญหา เช่น เปลี่ยนป้ายบอกระยะทาง 420 บนถนน I-70 ทางตะวันออกของเดนเวอร์ด้วยป้าย 419.99 แทน ส่วนในรัฐไอดาโฮก็จะเปลี่ยนป้ายบอกไมล์ 420 บนถนนสาย 95 เป็นป้าย 419.9 แทน เช่นเดียวกับรัฐมินนิโซตา ที่ได้เปลี่ยนป้ายชื่อถนนจาก "420 St" มาเป็น"42x St" แทน เพื่อป้องกันการขโมยไปสะสม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี