มีคำอธิบายที่แตกต่างกันมากมายระหว่าง ศรัทธา กับ ปัญญา
คำอธิบายที่แตกต่างกันนี้ ไม่เพียงมาจากมุมมองที่ต่างกันระหว่างมุมมองทางศาสนากับมุมมองทางปรัชญา หากภายในมุมมองทางศาสนาด้วยกันเอง หรือภายในมุมมองทางปรัชญาด้วยกันเอง ก็ยังมีคำอธิบายที่แตกต่างกันออกไป
นักการศาสนาฝ่ายเทวนิยมทั้งคริสต์ อิสลามพราหมณ์ฮินดู เห็นว่า การจะเข้าถึงความจริงสูงสุดได้ต้องอาศัยศรัทธาเท่านั้น คือเชื่ออย่างไม่มีเงื่อนไขก่อนแล้วผลที่เกิดจากความเชื่อก็จะปรากฏให้เห็นเอง ฝ่ายนี้เห็นว่าทางที่จะได้รับความสุขจากพระเจ้าก็คือต้องเชื่อและศรัทธาในพระเจ้าเท่านั้น
ส่วนฝ่ายอเทวนิยมอย่างพระพุทธศาสนานั้น เห็นว่า ศรัทธาคือความเชื่อกับปัญญาคือเหตุผลจะต้องไปด้วยกันเพราะศรัทธากับปัญญาเปรียบเหมือนตัวรถ ศรัทธาจะไปสู่จุดหมายได้หรือไม่ จะต้องมีคนขับคือปัญญาที่ดีที่จะทำให้รถไปสู่จุดหมายที่ดีได้ และจุดหมายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการเข้าถึงพระเจ้าเสมอไปแต่อาจเป็นการดำรงชีพที่ดี การประสบผลสำเร็จที่วาดหวังไว้ หรือการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้ทั้งนั้น
ในส่วนของปรัชญานักปรัชญาบางสำนักเห็นว่าศรัทธาไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด ปัญญาหรือเหตุผลเท่านั้นที่สำคัญเพราะความรู้ทางด้านเหตุผลทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง ส่วนความรู้แบบศรัทธานั้นเป็นความรู้ที่นำไปสู่ความลุ่มหลงและความงมงาย
กล่าวสำหรับพุทธปรัชญา จะมอง ศรัทธา กับ ปัญญา ต่างกันออกไป พุทธปรัชญา เห็นว่าศรัทธา กับ ปัญญา เป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เมื่อมีศรัทธาแล้วจะต้องมีปัญญาเป็นตัวคอยกำกับเพื่อไม่ให้ศรัทธาเกินเลยหรือไปสู่จุดหมายที่ไม่ควรมีควรเป็น พุทธปรัชญาเห็นว่าปัญญาคือ หลักยึดที่จะทำให้ศรัทธามีที่มีอยู่นั้นมีที่กั้นไม่ล่วงเลยความเป็นธรรมไปได้ เมื่อมีปัญญาเป็นหลักยึดศรัทธาก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทาได้ นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับปัญญาในทัศนะของพุทธปรัชญา
ที่นำเรื่อง ศรัทธา กับ ปัญญา มาพูดวันนี้ ก็เพื่อหวังให้ท่านผู้อ่าน ร่วมกันขบคิดหาทางออกให้กับสังคม ดึงสติผู้คนจำนวนมากในสังคมที่มีความเห็นต่างและกำลังขับเคลื่อนประเทศชาติไปตามศรัทธาของตนโดยมิได้นำปัญญามากำกับดูแลศรัทธาที่ว่านั้น จนทำให้เกิดการกระทำที่สุดโต่งในทั้งสองฟากฝั่ง ที่ยึดมั่นศรัทธาไม่เหมือนกัน ปรากฏออกมาเป็นข่าวให้เห็นทุกวี่ทุกวัน
ตามหลักและความเชื่อของพระพุทธศาสนาแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยของมัน ส่วนเหตุปัจจัยนั้นจะเกิดจากชาติหนึ่งภพไหน เราไม่อาจจะรู้ได้
ศรัทธาความเชื่อก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ศรัทธาต่อประชาธิปไตย หรือ ศรัทธาต่อสถาบัน แบบที่เคลื่อนไหวกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนมีเหตุปัจจัยของการเกิดศรัทธาของแต่ละฝ่ายทั้งสิ้น
แต่สุดท้าย ศรัทธาก็มิใช่สิ่งจีรัง เกิดได้ ดับได้ แตะต้องได้ และถูกท้าทายได้
มีแต่ ปัญญา เท่านั้น ที่จะช่วยประคับประคองขับเคลื่อนศรัทธาไปสู่จุดหมายที่เหมาะที่ควรของมันได้
ณรงค์ฤทธิ์ ศรีรัตโนภาส
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี