ปลายเดือนเมษายน ต่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นช่วงที่อินเดียมีการเลือกตั้งผู้บริหารของรัฐต่างๆเกือบทั่วประเทศ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับผู้บริหารประเทศ หรือ รัฐบาล
ถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะอินเดียมีประชากรกว่า 1300 ล้านคน
ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ จนถึงปัจจุบันนาน 74 ปี ประเทศอินเดียไม่เคยเกิดการปฎิวัติรัฐประหารโดยทหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ทั้งๆที่ อินเดียมีกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากอเมริกา และ จีน
ต่างกับไทยราวฟ้ากับเหว เพราะประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย 89 ปีแล้ว แต่กฌล้มลุกคลุกคลานถูกปฎิวัติรัฐประหารมานับครั้งไม่ถ้วน
อินเดียปกครองด้วยระบบสาธารณรัฐ(THE REPUBLIC OF INDIA) หมายถึง รัฐต่างๆมารวมตัวกัน แล้วมอบอำนาจสำคัญบางส่วน เช่น อำนาจอธิปไตย อำนาจในการติดต่อต่างประเทศ อำนาจในการประกาศสงคราม ฯลฯ ให้แก่รัฐบาลกลางซึ่งอยู่ที่ กรุงเดลี เมืองหลวง
ในขณะที่รัฐต่างๆจะยังคงมีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการภายในของตนเอง เช่น ระบบการออกกฎหมายของรัฐ เก็บภาษีท้องถิ่น จัดการระบบการสาธารณสุข จัดการระบบการศึกษา และ มีศาลพิพากษาคดีในอาณาเขตของรัฐตัวเอง เป็นต้น
ซึ่งการมีระบบสาธารณสุขของรัฐใครรัฐมัน ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่อินเดียสามารถปราบโควิด19 ลงได้อย่างราบคาบ
อินเดียปกครองโดยระบบรัฐสภา ผู้นำประเทศมาจากรัฐสภาที่ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และผู้นำของประเทศมีตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
(แผนที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย 6 เท่าเศษ)
แม้ว่า อินเดีย จะมีระบบการเลือกตั้งแบบรัฐสภา ที่เลือกนายกฯจากรัฐสภา แต่อินเดีย ก็มีตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วย เพียงแต่มีที่มาคนละแบบกัน
อินเดียประกอบด้วยรัฐต่างๆ 28 รัฐ (ก่อนหน้านี้เคยมี 29 รัฐ) ซึ่งทำให้ต้องมีตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารรัฐ ที่เรียกว่า CHIEF MINISTER คล้ายกับผู้ว่าการรัฐฯของอเมริกา จำนวน 28 คนด้วย
เพียงแต่วิธีการที่จะให้ได้มาของ หัวหน้าผู้บริหารรัฐ ของอินเดีย แตกต่างจากการได้มาของ ผู้ว่าการรัฐของอเมริกา อย่างสิ้นเชิง ซึ่งผมจะค่อยๆเล่าไปเป็นลำดับ
ในการเลือกตั้งระดับรัฐที่เพิ่งผ่านไป เริ่มจากการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ (MEMBER OF LEGISLATIVE ASSEMBLY)ก่อน ผมขอยกตัวอย่างของรัฐ เบงกอลตะวันตก(WEST BENGAL STATE) ที่มีหลัการโดยรวมในการเลือกตั้งเหมือนกับรัฐอื่นๆ จะแตกต่างกันก็เพียงจำนวนสมาชิกเท่านั้น
รัฐเบงกอล มีสมาชิกสภานิติบัญญัติ 294 คน แต่บังเอิญในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัคร 2 คนเกิดติดโควิดเสียชีวิต จึงเหลือตำแหน่งให้เลือกตั้งเพียง 292 คนเท่านั้น
(นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรค BJP)
ในรัฐเบงกอล ผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรค TMC (ALL INDIA TRINAMOOL CONGRESS) ของนาง มามตา บาเนอร์จี(MAMATA BANERGEE) ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้บริหารรัฐคนก่อนเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายคือได้ 217 ที่นั่ง ในขณะที่พรรค BJP (BHARATIYA JANATA PARTY) ของ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี(NARENDRA MODI)ได้มา 75 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เพียง 3 ที่นั่งเท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์มาร์กซิส(COMMUNIST PARTY OF INDIA(MARXIST) ซึ่งเคยมี 50 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ไม่ได้รับเลือกเข้ามาเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว
(ช่วงหนึ่ง ตั้งแต่ปีค.ศ. 1982 ถึง ปีค.ศ. 2011 พรรคคอมมิวนิสต์มาร์กซิส ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารรัฐ ติดต่อกันยาวนาน 29 ปี)
สมาชิกทั้งหมด 292 คน จะประชุมร่วมกันแล้วเลือกบุคคลหนึ่งมาดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารรัฐ แน่นอนว่า ผู้ได้รับเลือกก็คือ หัวหน้าพรรค TMC คือ นางมามตา บาเนอร์จี
จากนั้น นางมามตา บาเนอร์จี ก็จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาทำงานบริหารกิจการของรัฐเบงกอล คณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีจำนวน 44 คน ทั้งหมดเป็นผู้มาจากการเลือกตั้ง
จึงถือว่า รัฐเบงกอล มีคณะรัฐมนตรีที่จะบริหารรัฐเบงกอลแล้ว โดยมีนางมามตา บาเนอร์จี เป็นเหมือนนายกรัฐมนตรีของรัฐ
(นาง มามตา บาเนอร์จี)
แต่มีเรื่องตลกในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ นางมามตา บาเนอร์จี หัวหน้าพรรคบังเอิญสอบตกจากการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของตนเอง นางจึงไม่ได้เป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐในครั้งนี้
แล้วจะทำอย่างไร
กฎหมายอินเดีย เปิดทางในเรื่องนี้เอาไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารรัฐ ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภานิติบัญญัติของรัฐ เขา หรือ เธอผู้นั้น จะมีเวลาอีก 6 เดือนนับจากวันเลือกตั้ง ที่จะต้องหาทางให้ตัวเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐให้ได้ เพื่อจะได้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารรัฐ
ในกรณีนี้ จะต้องมีสมาชิกคนหนึ่งคนใดของพรรค TMC ลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้เธอลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง และต้องมั่นใจว่า เธอจะต้องชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
ภายใน 6 เดือนนี้ นางมามตา บาเนอร์จี จะต้องทำให้ตัวเองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐเบงกอลให้ได้ มิใช่นั้น เธอจะหมดสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารรัฐไปเลยในสมัยนี้
นี่คือการเมืองระดับรัฐของอินเดียครับ
ยังมีเรื่องสนุกๆอีกเยอะ โปรดติดตามตอนต่อไป
ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th แล้วไปที่ blog “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี