วันนี้ขออนุญาตเขียนเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนตัวที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม
ผมเช่ารถจากบริษัทรถเช่ารายหนึ่งที่สาขาสนามบินดอนเมืองเป็นเวลาหนึ่งเดือน เมื่อถึงกำหนดส่งในวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ผมรีบขับรถออกจากที่พักเพื่อนำรถไปส่งคืนแต่เช้าเนื่องจากต้องขึ้นเครื่องกลับมาที่บ้าน ซึ่งมีกำหนดเวลาขึ้นเครื่อง 09.15 น.
ด้วยความคิดที่ไม่ต้องการเอาเปรียบใคร ผมจึงยังไม่เติมน้ำมันให้เต็มถังระหว่างทาง แต่ตั้งใจจะมาเติมใกล้ ๆ สนามบิน
และด้วยเกรงว่ารถจะติด จึงตัดสินใจขึ้นทางด่วน เพื่อมาลงใกล้ ๆ สนามบิน แต่เมื่อลงมาแล้ว ปรากฏว่าไม่มีปั๊มน้ำมันเลย ผมจึงโทรเข้าไปแจ้งบริษัทรถเช่าที่สาขาดอนเมือง พนักงานตอบกลับมาว่าไม่เป็นไร เขาจะคิดค่าน้ำมันรถที่ขาดไปขีดละ 320 บาท ผมตอบตกลง
จากนั้นอีกไม่ถึงนาที พนักงานโทรมาหาผม บอกว่าต้องคิด 370 บาท เพราะรถที่ผมเช่าเป็นรถขนาดกลางไม่ใช่ขนาดเล็ก (ผมเช่ารถ Toyota Altis) ผมก็ไม่ว่าอะไร และบอกว่ากำลังถึงแล้ว ออกมารับรถคืนได้เลย เพราะผมต้องรีบไปขึ้นเครื่องต่อ
เมื่อรถมาถึงประตูที่ 11 อาคาร 2 พนักงานคนนั้นมารับรถ สตาร์ทเครื่องดูเกจ์น้ำมัน แล้วบอกว่า ผมต้องเสียค่าน้ำมันรถ 1,110 บาท ผมปฏิเสธบอกว่า แจ้งผมว่าจะเก็บขีดละ 320 บ้าง 370 บ้าง พอมาถึงกลับจะเก็บเป็นพันทั้งที่เข็มวัดระดับน้ำมันตกลงไปจากระดับเต็มถังแค่ 20% พนักงานคนนั้นบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ชั้นก็ไม่รับรถคืน ถ้าไม่จ่ายก็ขับออกไปเติมน้ำมันให้เต็มกลับมา” (เป็นพนักงานหญิง) ว่าแล้วก็โยนกุญแจรถไว้บนเบาะ ไม่ปิดเครื่อง ไม่ปิดประตูรถ เดินขึ้นบันไดอาคารเข้าไปข้างใน
ผมรู้สึกไม่พอใจกับกิริยามารยาทเช่นนี้มาก แต่ต้องรีบไปขึ้นเครื่อง จึงจำเป็นต้องปิดรถ ตามไปหาพนักงานคนนั้นที่เคาท์เตอร์ของเขา และบอกว่าผมจะคืนรถ และจะจ่ายค่าน้ำมันให้ 400 บาท ซึ่งมากเกินพอ พร้อมกับยื่นบัตรเครดิตให้เขารูด แต่พนักงานบอกว่าไม่ได้ เป็นเงื่อนไขที่บริษัทเขากำหนดราคาไว้ และว่าเขาโทรไปหาผู้จัดการแล้ว ผู้จัดการลดให้เหลือ 740 บาท แล้วเขาก็รูดบัตรที่ผมส่งให้ไปครั้งแรก แต่ระบุตัวเงิน 740 บาท ส่งมาให้ผมเซ็น
ผมปฏิเสธการเซ็น เพราะไม่ได้อนุญาตให้เก็บค่าน้ำมันในราคานั้น จึงเขียนลงไปในสลิปนั้นว่า "เจ้าของบัตรยังไม่อนุมัติ" พร้อมกับโทรแจ้ง 191
191 ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ตระเวนรักษาความปลอดภัยการท่าอากาศยาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ดอนเมือง มาไกล่เกลี่ย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาไกล่เกลี่ยพอทราบเรื่องราวทั้งหมด และเห็นภาพเกจ์น้ำมันรถที่ผมถ่ายไว้เป็นหลักฐาน ก็กล่าวกับพนักงานหญิงคนนั้นว่า เขาให้ 400 ก็ดีแล้ว รับไปเถอะจะได้จบ ๆ กันไป แต่พนักงานคนนั้นไม่ยอม
เจ้าหน้าที่ตำรวจถามเวลาขึ้นเครื่องของผม และบอกให้ผมรีบไปขึ้นเครื่องเลย ไม่เช่นนั้นจะไม่ทัน ระหว่างผมเดินไปขึ้นเครื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นยังได้กรุณาโทรศัพท์เข้ามาแนะนำให้ผมรีบโทรไปแจ้งธนาคารที่ออกบัตรเพื่อระงับการเรียกเก็บเงินก้อนนี้ และให้ผมไปปรึกษาที่ สน.บ้านผมเพื่อแจ้งความเผื่อไว้เพราะแจ้งความที่ดอนเมืองไม่ทัน
วันนั้น ผมเกือบตกเครื่อง ถ้าไม่ได้เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานที่ทำหน้าที่ตรวจสแกนกระเป๋าเดินทางโทรไปประสานกับพนักงานต้อนรับประจำเครื่องบินให้รอผมเป็นคนสุดท้าย
เครื่องบินออกเดินทางตามเวลากำหนด หลังจากผมก้าวขึ้นเครื่องได้ 10 นาที
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ดอนเมือง เจ้าหน้าที่ตระเวนรักษาความปลอดภัยการท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานที่ทำหน้าที่ตรวจสแกนกระเป๋าเดินทาง พนักงานต้อนรับประจำเครื่องบิน และสายการบินแอร์ เอเชีย
เมื่อกลับถึงบ้าน ผมโทรไปแจ้งธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อให้ระงับการเรียกเก็บเงินของบริษัทรถเช่าดังกล่าวตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. ดอนเมืองแนะนำ แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารแจ้งว่า ไม่สามารถระงับได้ เพราะมีการเรียกเก็บเข้ามาแล้ว ถ้าจะระงับต้องให้ผู้ที่เรียกเก็บเป็นคนแจ้งระงับ แม้ผมจะไม่ได้เซ็นในสลิป และเขียนกำกับในสลิปว่า "เจ้าของบัตรยังไม่อนุมัติ" ก็ตาม
นี่คือสิ่งที่ผมเพิ่งทราบ ตลอดเวลาที่ถือบัตรเครดิตธนาคารนี้มาเป็นเวลากว่าสามสิบปี และผมก็คิดว่า คงมีหลายท่านที่ไม่ทราบเหมือนผมเช่นกันว่า เราไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิ์อะไรเลยจากการถือบัตรเครดิตของธนาคารเท่ากับการที่ธนาคารพร้อมจะรับรองสิทธิ์ของคนที่นำบัตรของเราไปรูดโดยไม่มีสิทธิ์และเราไม่อนุมัติ ทั้งที่เราแสดงเจตจำนงไว้บนสลิปเรียกเก็บเงินอย่างชัดแจ้งว่า “ไม่อนุมัติ” ให้เรียกเก็บเงิน และโทรมาอายัดการเรียกเก็บเงินกับทางธนาคาร !
จบจากธนาคาร ผมโทรไปแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารท่านหนึ่งที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทรถเช่า เจตนารมณ์ของผม เพื่อให้ผู้บริหารทราบว่า น่าจะมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นในองค์กรของตน จากการเรียกเก็บค่าน้ำมันรถ 1,110 บาทในครั้งแรก ทั้งที่น้ำมันลดลงไปแค่ 20% ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าเรื่องที่บริษัทตั้งเงื่อนไขเก็บค่าน้ำมันรถสูงเกินจริง เพราะถ้าแค่เรื่องเล็ก ๆ แบบนี้ ก็ทุจริตกันแล้ว อนาคตเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารท่านนั้นไม่ออกความเห็นอะไรเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียกเก็บค่าน้ำมันรถ 1,110 บาท เพียงแต่บอกจะประสานงานไปทางผู้จัดการสาขาดอนเมือง จากนั้นไม่นาน ผู้จัดการสาขาก็โทรมา ผมพยายามเน้นพฤติกรรมพนักงานที่เรียกเก็บค่าน้ำมันเกินกำหนดที่บริษัทตั้งไว้ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับความสนใจเช่นกัน บอกเพียงว่าได้ตำหนิเด็กไปแล้ว ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการทำงานผิดพลาดทั่วไป แต่เป็นเรื่องของการเจตนาเรียกเก็บเงินเกินราคาอย่างชัดเจน ซึ่งองค์กรที่มีธรรมาภิบาลทั้งหลายถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากมีเบาะแสว่าเกิดการทุจริตขึ้นในองค์กรของตน
หรือว่านี่เป็นเรื่องปกติของบริษัทรถเช่ารายนี้ ที่อนุญาตให้พนักงานของตนทำได้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่เอารถมาคืน ต่างก็รีบจะไปขึ้นเครื่อง ไม่มีเวลามาต่อรองอะไรกับบริษัท ?
เย็นวันรุ่งขึ้น (29 กันยายน) ผมได้รับข้อความจากบริษัทรถเช่าส่งมาทางไลน์ ยืนยันเรียกเก็บค่าน้ำม้นรถ 740 บาท อ้างว่าเป็นไปตามเงื่อนไขบริษัท ผมตรวจสอบรายการเดินบัญชีของบัตรเครดิต ก็พบว่าธนาคารผู้ออกบัตรได้เรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีของผมแล้วเช่นกัน
ผมเสียเวลากับเรื่องนี้ และนำเรื่องนี้มาเขียน เชื่อว่าท่านผู้อ่านเข้าใจดีว่า ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อเงินจำนวน 340 บาท (740 – 400) เพราะในชีวิตเรา ให้เงินขอทานข้างถนนมากกว่านี้มาก แต่ที่ผมยอมเสียเวลาเพราะ
(1) ผมไม่ต้องการทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อพฤติกรรมการทุจริตที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ขนาดทำงานเล็ก ๆ แค่นี้ ยังทุจริต ต่อไปได้ทำงานใหญ่ขึ้น จะทุจริตขนาดไหน ? ยิ่งเมื่อเห็นท่าทีผู้บริหารองค์กร ที่ไม่อินังขังขอบกับเรื่องราวที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตในองค์กรของตน มากกว่าจะเรียกเก็บเงินจากผู้เช่ารถอย่างไม่เป็นธรรมด้วยแล้ว ลองหลับตานึกดูว่า อนาคตเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ?
(2) ผมอยากให้สังคมและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหลาย พิจารณาว่า การที่บริษัทรถเช่าตั้งอัตราค่าน้ำมันรถที่เรียกเก็บจากผู้เช่ารถอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เหมาะสมเป็นธรรมหรือไม่ และแม้จะอ้างว่า อัตราค่าน้ำมันที่ว่า ระบุไว้ในสัญญาที่ให้ผู้เช่าลงนามรับรู้แล้วตอนมาเช่ารถ (แต่ไม่เคยบอกให้รู้และก็ไม่มีผู้เช่ารายไหนนั่งอ่านสัญญาเช่ารถหมดทุกหน้า) คำถามคือ สัญญานี้เป็นสัญญาที่เป็นธรรมหรือไม่ สามารถผูกมัดคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้หรือ ?
รถ Toyota Altis บริษัทรถเช่ารายนี้คิดค่าน้ำมันรถที่เต็มถัง 3,700 บาท ผู้เช่าใช้น้ำมันไปเท่าไร บริษัทรถเช่าก็จะใช้ฐานราคาที่ 3,700 บาทมาคิด (ซึ่งจะตกประมาณ 200 % ของราคาจริง เพราะรถรุ่นนี้ ความจุถังน้ำมันไม่เกิน 50 ลิตร ถ้าเติมแกสโซฮอล 91 ราคาวันนี้ลิตรละ 38.48 บาท เต็มถังเป็นเงินแค่ 1,924 บาท ถ้าเติม E20 ซึ่งบริษัทโตโยต้าระบุว่าเติมได้ จะอยู่ที่ราคาเพียง 36.44 x 50 = 1,822 บาท แต่บริษัทรถเช่ากลับตั้งราคาที่คิดกับผู้เช่ารถถึง 3,700 บาท !)
(3) การที่บริษัทรถเช่า ส่งสลิปไปขึ้นเงินกับทางธนาคาร ทั้งที่เจ้าของบัตรเครดิตไม่ยินยอม บริษัทรถเช่าสามารถทำได้หรือไม่ ? เป็นการละเมิดหรือไม่ ?
(4) การที่ธนาคารผู้ออกบัตรชี้แจงว่า เมื่อมีการรูดบัตรส่งข้อมูลมาถึงธนาคารแล้ว แม้เจ้าของบัตรจะไม่ได้ลงนามในสลิป หรือโทรมาแจ้งว่าไม่ได้ลงนามและไม่อนุมัติการเรียกเก็บ ทางธนาคารก็ทำอะไรให้ไม่ได้ เพราะระบบบัตรเครดิตของธนาคารเป็นเช่นนี้
คำถามคือ ระบบดังกล่าวข้างต้นนี้ ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะแทนที่ธนาคารจะช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือบัตรซึ่งเป็นลูกค้าของตนและมาขอความช่วยเหลือและความคุ้มครองจากตนเนื่องจากกำลังถูกบุคคลภายนอกมาล่วงละเมิดต่อทรัพย์สินที่มีอยู่กับธนาคาร แต่ธนาคารกลับไม่สนใจและพร้อมจะสนองความต้องการของบุคคลภายนอกที่กระทำกับผู้ถือบัตรซึ่งเป็นลูกค้าของตน ซึ่งไม่ต่างกับการปัดภาระความรับผิดชอบที่พึงมีของตน โดยหวังเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนแต่ถ่ายเดียว
ระบบและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับบัตรเครดิตของธนาคารที่กล่าวมาข้างต้นนี้ สมควรจะอนุญาตให้ทำต่อไปหรือไม่ ?
ณรงค์ฤทธิ์ ศรีรัตโนภาส
๔ ตุลาคม ๒๕๖๖
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี