ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสามสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และประสบการณ์ชีวิตนักเรียนนิสิตนักศึกษาแก่ผม ล้วนมีกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างสถาบันด้วยกันทั้งสิ้น
ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 นับจนถึงวันนี้ ก็มีต่อเนื่องกันมา 89 ปีแล้ว
ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระดับมัธยมศึกษาระหว่าง 4 โรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ที่มีอายุกว่าหนึ่งร้อยปีขึ้นไป ประกอบด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม ถึง 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 นับจนถึงวันนี้ ก็มีต่อเนื่องกันมา 59 ปีแล้ว
กิจกรรมภายในงาน นอกจากการแข่งขันฟุตบอลอันเป็นกิจกรรมด้านกีฬาแล้ว ยังมีกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์และกระชับความสามัคคีระหว่างสมาชิกของสถาบัน เช่น การวางแผนเตรียมงานในภาพรวมร่วมกัน การจัดขบวนพาเหรดและการแปรอักษรทั้งแบบสวยงาม ให้แง่คิด และล้อการเมือง การเชียร์ การให้กำลังใจ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ ที่แต่ละสถาบันจะจัดทำกัน
ผมก็เช่นเดียวกับเพื่อนอีกหลายท่านที่โชคดีได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ และงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี อันเป็นงานที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีเวทีให้เยาวชนได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ สามัคคี และมีน้ำใจนักกีฬา
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นงานประเพณีที่งดงามที่สร้างและสืบสานต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นกว่าครึ่งค่อนศตวรรษด้วยความวิริยะอุตสาหะ เหน็ดเหนื่อย แต่ภาคภูมิใจ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีดราม่าก่อกวนการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ซึ่งกำลังจัดอยู่ในขณะนี้ ด้วยการแจกใบปลิวและติดป้าย “เลิกบังคับแปรอักษร” ไปตามเส้นทางที่นักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์เดินไปยังสนามศุภชลาศัย ของกลุ่มที่อ้างว่าเป็นศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของ สส. พรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่งที่ออกมาประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกัน ผมจึงจำต้องออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระแสดราม่าเหล่านั้น
ประเด็นหลัก ๆ ที่พวกนักกิจกรรมที่ชอบดุนหลังเด็กออกมาเคลื่อนไหวแทนตน และ สส.พรรคก้าวไกลกลุ่มนี้ออกมาคัดค้านกิจกรรมการแปรอักษร ก็คือ การอ้างว่ามีการบังคับเด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมแปรอักษรโดยใช้คะแนนในรายวิชาชุมชนหรือชมรมมาบังคับ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 การปล่อยให้เด็กนั่งตากแดดเป็นเวลานานเกินกว่า 8 ชั่วโมง ทำให้สุขภาพผิวเสียหาย นักเรียนเสี่ยงเป็นลมแดดเพราะอากาศที่ร้อน ถูกบังคับห้ามไปเข้าห้องน้ำ ทำให้ต้องฉี่ใส่ขวดน้ำหรืออุจจาระใส่กล่องอาหารที่ทานแล้ว (เขากล่าวหาอย่างนั้นจริง ๆ …!) นักเรียนบนอัฒจันทร์จำเป็นต้องจัดให้มีปัจจัยอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์์บนอัฒจันทร์ เช่น ครีมกันแดดสำหรับใบหน้าและร่างกาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องต่อเติมอัฒจันทร์และเรื่องอื่น ๆ อีกจิปาถะเท่าที่จะโยงกันออกมาได้
ผมอ่านเหตุผลการคัดค้านข้างต้นแล้ว ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การเอาความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมของทางโรงเรียน เช่น กิจกรรมการแปรอักษรในฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี มาเป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนในรายวิชาชุมชนหรือชมรม มันผิดตรงไหน ?
ถ้าในวิชาพลศึกษา เด็กนักเรียนไม่ออกมาเรียนกลางแจ้ง เอาแต่เล่นมือถืออยู่ในห้อง อ้างว่าแดดร้อน เด็กต้องมีสิทธิ์เลือกโดยสมัครใจ ไม่ควรบังคับเด็กให้ออกไปเรียนพลศึกษากลางแจ้ง อย่างนั้นหรือ ?
ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีนั้น จัดกัน 2 ปีครั้ง มันจะหนักหนาอะไรกับการขึ้นไปนั่งแปรอักษรกลางแดด 8 ชั่วโมงในรอบ 2 ปี ?
มันจะทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์์หมดไปเพราะไม่มีครีมกันแดดทาตอนนั่งแปรอักษรอยู่บนอัฒจันทร์เชียวหรือ ?
แล้วทีเวลาหลอกให้เด็กออกไปชุมนุมเดินขบวนกันทั้งวันทั้งคืนจนต้องคดีติดคุกติดตะรางกันอยู่บ่อย ๆ ครีมกันแดดก็ไม่ให้ล่ะ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์์ของเด็กเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ?
เวลาตัวเองตะลอนหาเสียงหลอกชาวบ้าน ไม่ตากแดด ไม่กลัวผิวเสียบ้างหรือ ไม่กลัวศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของตนจะหายไปหรือ ?
ชีวิตจริงของคนเรานั้น มันต้องกัดฟัน มันต้องอดทน ไม่ใช่เอาแต่ใจ เอะอะโวยวายหาแต่ความสะดวกสบาย หาแต่สิทธิเสรีภาพของตนเอง แต่ไม่สนใจความรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่ตนมี ไม่สนใจว่าคนอื่นเขาก็มีสิทธิและเสรีภาพที่จะปกป้องถนอมรักขนบประเพณีของเขาเหมือนกัน
ดูคลิปภาพเด็กนักเรียนที่ลงมาจากอัฒจันทร์แปรอักษรอย่างภาคภูมิใจและมีความสุข อ่านคำให้สัมภาษณ์ของศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจำนวนมากที่มีต่อดราม่าของพวกคุณบ้าง อาจทำให้คุณเข้าใจว่า สังคมของเด็กนักเรียนเหล่านี้ เขาบริสุทธิ์ มีความสามัคคี มีความสุข และใสสะอาดกว่าสังคมการเมืองของพวกคุณมาก
ในฐานะศิษย์เก่าสวนกุหลาบคนหนึ่ง ผมอยากบอกว่า พวกเราดีใจที่ได้เป็นนักเรียนสวนกุหลาบ และผมก็เชื่อว่า สุภาพบุรุษจตุรมิตรอีกสามสถาบันทุกคน ก็ดีใจที่ได้เป็นนักเรียนกรุงเทพคริสเตียน นักเรียนเทพศิรินทร์ และเป็นอัสสัมชนิก
บางที พวกคุณอาจไม่ทราบว่า นอกจากเราจะดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนที่เรารักแล้ว ครูเก่าของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแทบทุกคน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“โชคดีที่ได้เป็นครูสวนกุหลาบ”
เพราะประเพณีของศิษย์สวนกุหลาบ ไม่เคยหมดความเคารพและไม่เคยทอดทิ้งครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่ตน ครูท่านใดประสบปัญหา ครูท่านใดเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน ไม่ว่าจะอยู่โรงพยาบาลใด ศิษย์เก่าสวนกุหลาบที่อยู่จังหวัดนั้น หรือที่เป็นนายแพทย์จะรับเป็นธุระดูแลประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ
ชีวิตพวกคุณคงไม่มีโอกาสสัมผัสเรื่องดี ๆ และความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้ เพราะคุณมองครูเป็นแค่แรงงานรับจ้างในระบอบทุนนิยม มองโรงเรียนเป็นแค่ที่ที่คุณจะเข้าไปแหกกฎ
คนจีนแต้จิ๋วมีคำพูดสำนวนหนึ่งว่า "เจี๊ยะป้าบ่อสื่อ" แปลตามศัพท์ คือ "กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ"
เมื่อไม่มีอะไรทำ ก็เลยทำแต่เรื่องไร้สาระ เพราะเห็นว่าเรื่องไร้สาระสนุกกว่าเรื่องมีสาระ
ทั้งที่เรื่องมีสาระและเป็นเรื่องแย่ ๆ ในพรรคตัวเองก็มีมากมาย ไม่รู้จักไปสะสาง มาปั่นหัวเด็กให้ต่อต้านคัดค้าน ล้มล้างขนบประพณีอันดีงามที่เขาสร้างและสืบทอดกันมา
คนไทยโบราณ ก็มีสำนวนโบราณอยู่สำนวนหนึ่ง คือสำนวน “พ่อมึงตาย” ซึ่งคนรุ่นปัจจุบันเข้าใจผิดว่าเป็นคำด่าทอของคนยุคนี้
ความรู้เกี่ยวกับสำนวน “พ่อมึงตาย” นี้ ผมได้มาจาก พี่สำเริง คำพะอุ ศิษย์สวนกุหลาบผู้พี่ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และอดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย 2 สมัย (พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2531) ที่เขียนคอลัมน์ “ราชดำเนิน อเวนิว” สลับกับผมที่นี่
ในอดีต สำนวน “พ่อมึงตาย” ใช้พูดตอบกลับคู่สนทนา หรือพูดโต้แย้งเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมา แล้วรู้สึกไม่เห็นด้วย รู้สึกว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไร้สาระ กระทั่งเป็นเรื่องที่มีนัยชั่วร้ายแอบแฝงอยู่
ดังนั้นเมื่อผมได้ยินคนพวกนี้พูดว่า การแปรอักษรในฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี เป็นการบีบบังคับนักเรียน เด็กถูกกดทับ ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ ทั้งที่แง่งามของการแปรอักษร คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ คือการแสดงออกซึ่งสายสัมพันธ์และความสามัคคี สปิริต และความรับผิดชอบที่นักเรียนพึงมีและพึงให้ความร่วมมือตามสมควรกับเพื่อนนักเรียนและสถาบันที่ตนศึกษาเล่าเรียน ผมจึงไม่เห็นด้วย
และถ้าพวกเขามาพูดต่อหน้าผม ผมก็จะบอกเขาว่า... “พ่อมึงตาย”
ณรงค์ฤทธิ์ ศรีรัตโนภาส
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี