โกวเล้งว่า“...เรื่องราวในโลกล้วนมีผลลงเอย แม้แต่ในเรื่องที่ไม่มีผลลงเอย แท้ที่จริงก็คือผลลงเอยชนิดหนึ่ง...”
เรื่องราวของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักการเมืองวัย 43 ปี ก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม ได้มีผลลงเอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ”สภาพการเป็น สส.” ของนายพิธาไม่สิ้นสุดจากการถือหุ้นไอทีวี
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้นจริง รวมทั้งยังได้ระบุว่าแม้จะถือหุ้นเพียง 1 หุ้นก็ถือว่าหุ้นสื่อตามข้อห้ามของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 อนุมาตรา 3 แต่ผลการวินิจฉัยของศาลพิจารณาเห็นว่า นายพิธา ไม่สิ้นสุดหรือพ้นสภาพการเป็นสส. ก็เนื่องจากในวันสมัครรับเลือกตั้งบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (8:1) วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้อง ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ผู้ถูกร้องจึงมิใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 1 คนคือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
ดังนั้นนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ได้กลับเข้าสภาผู้แทนราษฎร ไปทำหน้าที่ สส.ดังเดิม หลังจากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 วันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ กกต.เรื่องให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ สส.ของ พิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่จากเหตุที่ปรากฏว่ามีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องลุ้นระทึกมากกว่าผลการวินิจฉัยเรื่องหุ้นสื่อของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ ก็คือ วันที่ 31 มกราคมสัปดาห์หน้า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องที่นายธีรยุทธสุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง สส.นายพิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ได้เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากพรรคก้าวไกลจะถูกยุบพรรคเหมือนพรรคอนาคตใหม่ในยุคนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกยุบพรรคในปี 2563 กรณีให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาทแล้ว ทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วย ซึ่งในสมัยพรรคอนาคตใหม่นั้นนายธนาธร รวมทั้งกรรมการบริหารอีก 15 คนถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
แต่ถ้าหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล รอดตายจากคดี“มาตรา 112”นี้ได้อีก ทีนี้ก็ยาวเลย ไม่มีปัญหาอุปสรรคใดจะมาขวางกั้นพรรคก้าวไกลได้อีกแล้ว และก็ลืมเรื่องที่นักการเมืองพรรคก้าวไกลมักจะอ้างเรื่อง“นิติสงคราม”เวลาที่ฝ่ายตนกระทำผิดแล้วถูกศาลพิพากษาตัดสิน ว่าถูกแกล้ง เนื่องจากถูกสกัดขัดขวางไม่ให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง
นอกจากนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลคืน พร้อมทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากนายพิธา
รอดจากคดีถือหุ้นสื่อ ก็พร้อมจะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อคืนตำแหน่งให้นายพิธา รวมทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
แต่ทั้งหมดทั้งมวล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ต้องรอลุ้นวันที่ 31 มกราคมอีกครั้ง ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี