สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน คงไม่มีเรื่องไหนอื้อฉาวและน่าเศร้าไปกว่าเรื่อง อิทธิพลของนักโทษเทวดาทักษิณ กับเรื่อง สายเงินของบิ๊กโจ๊กกับบิ๊กต่อ ซึ่งตามมาด้วยการขยี้แผลในวงการตั๋วตำรวจของทนายตั้ม
วันนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องอื้อฉาวและน่าเศร้าเหล่านั้น
เพราะเรื่องนักโทษเทวดาทักษิณนั้น ได้พูดมามากแล้ว ถ้าคนไทยและ “ผู้เคยกล้า” ที่เคยออกมานำและรวมตัวกันต่อสู้กับระบอบทักษิณตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาจนถึงกลุ่ม กปปส. ทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาติบ้านเมืองในขณะนี้ได้ ก็ถือเป็นชะตากรรมของประเทศไทย
แต่กระนั้น ผมก็เชื่อว่า กรรมที่นักโทษเทวดาทักษิณ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับทุกคนช่วยกันก่อขึ้นครั้งนี้ มีราคาที่ต้องชดใช้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะนาฬิกาแห่งกรรมทำหน้าที่ของมันเที่ยงตรงเสมอ !
เที่ยงตรงไม่เว้น แม้เรื่องฉาวโฉ่ในวงการตำรวจที่บรรดานายพลออกมาสาวไส้กันในวันนี้ !
ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวและน่าเศร้าข้างต้น มีเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งเกิดขึ้น
ที่ว่าเล็ก เพราะไม่อยู่ในกระแสของคนทำสื่อ แต่ความจริงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องระดับประเทศ
เรื่องที่ว่านี้คือ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ ๒๒ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๗ กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ ๔ ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ ๔๐๐ บาท และตั้งใจจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๗
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ ๔๐๐ บาทนี้ นำร่องใช้ในเขตพื้นที่/จังหวัด ๑๐ จังหวัดก่อน อันได้แก่ กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย
เหตุผลของการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุม กล่าวว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขณะที่ธุรกิจการให้บริการที่พักแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และ ๑๐ พื้นที่/จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่/จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง คณะกรรมการค่าจ้างฯ จึงได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายไพโรจน์ยังกล่าวด้วยว่า “การประชุมไตรภาคีในวันนี้ทุกฝ่ายมีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเราจะนำร่องก่อน อย่างน้อยเราจะมองค่าแรงในมิติเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องมีมิติพิจารณาในประเภทกิจการเป็นรายจังหวัดก่อน หลังจากนี้ทางไตรภาคีจะพิจารณาอัตราค่าจ้างในประเภทกิจการอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและการจ้างงานด้วย”
ผมชอบประโยคที่ว่า “เราจะมองค่าแรงในมิติเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว” แม้มิติใหม่ที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดนี้หยิบขึ้นมามองแทนจะไม่เหมือนมิติที่ผมมอง
แต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบปูพรมไปตามกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ อย่างที่ทำกันมาตลอดอยู่แล้ว
เพราะวิธีนี้เป็นการเอาเปรียบรังแกผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการขนาดเล็ก ช่วยเหลือนายทุนผูกขาดขนาดใหญ่ให้เบียดขับกลืนกินผู้ประกอบการและนายทุนขนาดเล็ก ขณะเดียวกันก็เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้แก่ตน
ยกตัวอย่าง ค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ ๓๖๓ บาท ที่ประกาศใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร กับอีก ๕ จังหวัดในเขตปริมณฑล อันได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร นั้น ใช้บังคับกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ โรงกลั่นสุรา โรงงานผลิตเบียร์ หรือจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายข้าวแกง ร้านขายของชำ โรงงาน และโรงหัตถกรรมขนาดเล็กที่จ้างแรงงาน ล้วนถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั้งสิ้น (นายทุนผูกขาดขนาดใหญ่ทุกวันนี้ก็เริ่มต้นจ่ายค่าแรงในอัตรานี้เช่นกัน)
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา จะมีความเป็นธรรมที่ตรงไหน ? หากมิใช่เป็นการช่วยเหลือนายทุนผูกขาดขนาดใหญ่ให้เบียดขับกลืนกินผู้ประกอบการและนายทุนขนาดเล็ก ขณะเดียวกันก็เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้แก่ตน ?
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะได้ยินเจ้าสัวออกมาป่าวประกาศสนับสนุนให้ต้องขึ้นเงินเดือนสูง ๆ อ้างว่า ค่าแรงยิ่งสูง เศรษฐกิจยิ่งดี
เพราะยิ่งค่าแรงสูง ทุนขนาดเล็กก็ยิ่งตาย ยิ่งถูกเบียดขับกลืนกิน จากนั้นทั้งทุนและแรงงานก็จะอยู่ในกำมือของทุนผูกขาดขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม
ทุกวันนี้ ภาพเช่นนี้ ก็มีให้เห็นแล้ว
ถ้าเช่นนั้น มิติใหม่ของการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นเช่นไร ?
คำตอบคือ
๑) กำหนดค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศภายในพิกัดที่วางไว้ เช่น วันละ ๓๓๐ - ๓๗๐ บาท (อ้างอิงตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้อยู่ปัจจุบัน)
๒) กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะกิจการของทุนผูกขาดขนาดใหญ่ เช่น ไม่ต่ำกว่าวันละ ๔๐๐ บาท (ตั้งคณะกรรมการกำหนดองค์ประกอบของกิจการในเครือข่ายทุนผูกขาดขนาดใหญ่)
การกำหนดค่าจ้างลอยตัวทั่วประเทศภายในพิกัดที่วางไว้ ตามข้อ ๑) นั้น ทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีทางเลือกอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับตนภายในกรอบใหญ่ที่คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเวลานั้น นายจ้างรายใดมีศักยภาพหรือต้องการคนดีมีฝีมือก็สามารถจ่ายได้สูงสักหน่อย ในขณะที่ลูกจ้างถ้ามั่นใจว่าตนมีฝีมือก็สามารถไปสมัครงานกับนายจ้างที่ให้ค่าจ้างสูงได้ ตรงกันข้าม ถ้าลูกจ้างไร้ฝีมือ หรืองานนั้นไม่ต้องการฝีมืออะไรมาก ค่าจ้างก็จะลดลง แต่ไม่ลดต่ำไปกว่ากรอบที่วางไว้
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะกิจการของทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ตามข้อ ๒) นั้น เหตุผลเพื่อไม่ให้ทุนผูกขาดขนาดใหญ่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้แก่ตน ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ทุนขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ต้องถูกเบียดขับกลืนกิน เพราะไม่ต้องมาเล่นในกติกาเดียวกันกับยักษ์ที่ใหญ่กว่าตนมาก
บางคนอาจถามว่า ข้อเสนอของผม มิเป็นการรังแกทุนผูกขาดขนาดใหญ่เกินไปหรือ ?
หามิได้ สิ่งที่ผมเสนอนั้น เป็นเพียงการป้องกันไม่ให้ทุนผูกขาดขนาดใหญ่มาเอาเปรียบรังแกผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการขนาดเล็กมากกว่า
ทุนผูกขาดขนาดใหญ่นั้น มีกำลังในการจ่ายเยอะ เมื่อมีกำลังในการจ่ายเยอะ ก็สามารถสรรหาคนดีมีฝีมือจริง ๆ มาช่วยตนทำงานได้มากกว่าทุนหรือผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่แล้ว จะว่าไปรังแกทุนผูกขาดขนาดใหญ่ได้อย่างไร ?
และถ้าให้ดี เมื่อสรรหาคนดีมีฝีมือมาช่วยงานตนได้แล้ว ก็ควรพิจารณาขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรงสูง ๆ ให้ลูกจ้างของตนต่อไปอีก เพราะคณะกรรมการค่าจ้าง เขากำหนดแค่ ค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่ต่ำกว่าวันละ ๔๐๐ บาท แต่ไม่ได้กำหนดเพดานขั้นสูงไว้ พวกท่านจะจ่ายสูงกว่านี้แค่ไหน ไม่มีใครว่า
เพราะ “ค่าแรงยิ่งสูง เศรษฐกิจยิ่งดี” ตามที่ท่านเจ้าสัวเคยพูดไว้ มิใช่หรือ ?
ณรงค์ฤทธิ์ ศรีรัตโนภาส
๒๗ มีนาคม ๒๕๖๗
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี