เมื่อปี 2562 ตอนที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี มีโครงการ “ชิม-ช้อป-ใช้”ออกมาพร้อมๆ แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงแรกคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังงงๆ
แต่พอมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลก็ต้องหาทางช่วยเหลือประชาชนในสภาวะที่ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ทำการค้าการขายลำบากวิถีชีวิตประจำวันถูกกระชากพลิกคว่ำพลิกหงาย จำเป็นจะต้องมีโครงการต่างๆ ออกมามากมาย โดยการใช้จ่ายผ่านเป๋าตัง จึงทำให้เกิดความคุ้นเคยจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยเกือบ 40 ล้านคน
ในบรรดาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความอยู่รอดในช่วงโรคระบาด มีการระดมสมองของคนเก่งๆ เข้ามาช่วยงานรัฐบาล ทั้งด้านการแพทย์ และด้านการเงิน ผมยอมรับว่า “คนละครึ่ง” เป็นโครงการที่สุดยอด แม้จะเป็นโครงการเฉพาะหน้าและระยะสั้น
ผมไม่รู้หรอกว่ากลุ่มคนที่ระดมสมองจนคิด “คนละครึ่ง” ออกมาได้นั้น มีใครกันบ้าง แต่ก็ต้องขอบคุณที่มีส่วนช่วยให้เราผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบากนั้นมาได้
เพราะ “คนละครึ่ง” เป็นโครงการที่เอื้อทุกฝ่าย ไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขาย ไม่ว่าร้านหรูหรือรถเข็น เข้าใจง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน และที่สำคัญ ไม่ได้เอาเงินไปประเคนให้เหมือนโปรยทาน ยังไงผู้คนที่ใช้ “คนละครึ่ง” ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย แม้ต้องการความช่วยเหลือ แต่อย่างน้อยก็ยังมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่งอมืองอตีนรอรับอย่างเดียวเหมือนเปรตขอส่วนบุญ
เมื่อครบเฟส 5 ของ “คนละครึ่ง” สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ประเทศเริ่มฟื้นตัว โครงการก็หยุดลง แต่สิ่งที่ถือว่านิ่งแล้วก็คือ เป๋าตัง คนส่วนใหญ่รู้จัก, เข้าใจ และใช้เป็นสามารถใช้งานต่อยอดได้อีกหลายอย่าง ไม่ใช่ผักหรือเนื้อที่ทิ้งไว้นานแล้วจะเน่า
แต่รัฐบาลต่อมาก็ยังมีความพยายามสร้างโครงการแจกเงิน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายองค์กรที่มีส่วนในความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมถึงสถาบันทางธุรกิจทั้งหลาย และยังสร้างแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ”ขึ้นมาใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ ปลี้ๆ
จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วมันคือ “ทางรัฐ” หรือ “ทางโจร”กันแน่
ผมเชื่อว่า ประชาชนนับสิบล้านที่ลงทะเบียนในโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” มีไม่ถึงครึ่งที่เข้าใจว่าโครงการนี้คืออะไรจริงๆและก็ไม่สนใจที่มาที่ไป รู้เพียงอย่างเดียวว่า รัฐบาลจะแจกเงินให้คนละหมื่นให้ไปจับจ่ายใช้สอย แจกตั้งแต่เด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปีขึ้นไปแต่จะไปตำหนิพวกเขาเสียทีเดียวก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะของฟรีใครก็ชอบ
ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครเป็นคนคิดโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” แต่ผมมั่นใจว่า ไม่ใช่ เศรษฐา ทวีสิน คิดคนเดียวแน่ๆไม่ได้ว่าเขาโง่ แค่ไม่เชื่อว่าเขามีอำนาจสมบูรณ์แบบในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่จะมีส่วนได้-เสียอะไรด้วยหรือเปล่า ถึงได้ออกตัวแรงแบบ “ยังไงก็จะต้องทำให้ได้” อันนี้ก็ไม่มีใครรู้ นอกจากตัวเขาหรือพวกของเขาเอง
ผมไม่ใช่คนโหยหาอดีตถึงขนาดต้องเอา “เป๋าตัง” และ “คนละครึ่ง” กลับมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อของมันมีอยู่แล้ว และยังใช้ได้ดีอยู่ จะดิ้นรนทำสิ่งที่เห็นหายนะรออยู่ในอนาคตทำไม เหมือนสำนวนฝรั่งที่ว่า “If it works, don’t fix it” ถ้า “ดิจิทัล วอลเล็ต” เป็นโครงการที่บริสุทธิ์ ชัดเจนโปร่งใส ก็นึกหาเหตุผลไม่ออกว่า ทำไมจะต้องดิ้นกันขนาดนี้
คนหรือกลุ่มคนที่คิดโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ต้องเป็นคนที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมในการยักย้ายถ่ายเงิน, เป็นคนที่สามารถตั้งมูลนิธิใหญ่โตเพื่อเป็นช่องทางในการหักภาษี แบบสลึง/บาท ไม่ให้กระเซ็น แต่พร้อมจะจ่ายเงินให้พรรคการเมืองทุกพรรคตามลำดับไหล่, เป็นคนที่มองทุกอย่างเป็นตัวเลขหมด รวมถึงชีวิตผู้คน, เป็นคนที่สวมสูทธรรมาภิบาลเดินย่ำไปบนเส้นทางที่ไม่เคยเป็นธรรมสำหรับใคร และเป็นคนที่อำมหิตกับประเทศชาติที่ตนอาศัยอยู่อย่างที่สุด
ไม่ว่าใครจะได้ผลประโยชน์มากที่สุดถ้าโครงการนี้สำเร็จ แต่ประชาชนคือเหยื่อที่ใช้เกี่ยวเบ็ดตกปลาตัวใหญ่ที่เรียกว่า “ดิจิทัล วอลเล็ต” แน่นอน
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี