ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีเสียงเป็นเอกฉันท์ตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกล หลังจากนั้นก็มีการแสดงและความเคลื่อนไหวตามมาเป็นฉากๆ
ผมก็ติดตามข่าวเหมือนคนทั่วๆไป ไม่ได้เศร้าโศกาอาดูร ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สะใจ มองเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกประเทศต้องมีกฎเกณฑ์ไว้กำกับเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนอลหม่าน คนที่ทำผิดจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์ก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำ เท่านั้นเอง
แม้เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ถ้าไม่มีกฎหมายก็จะกลายเป็นอนาธิปไตย และบั้นปลายอาจจะจบลงเหมือนหลายๆประเทศที่ต้องแบ่งแยกเป็นเหนือ เป็นใต้ เป็นตะวันออก-ตะวันตก
การยุบพรรคการเมืองไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว 100 กว่าครั้ง ไม่มีใครโวยวาย ตีโพยตีพายอะไร ยกเว้นการยุบ 2 พรรค คือ อนาคตใหม่และ ก้าวไกล ที่ตามมาด้วยการกล่าวหาด่าทอศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองครั้ง
ศาลท่านก็บอกไว้ในคำวินิจฉัยแล้วว่า ทำตามข้อมูลและหลักฐานจำนวนมาก ศาล “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพราะไม่อย่างนั้นศาลก็จะทำผิดกฎหมายเสียเอง
ทุกพรรคการเมืองต้องรู้อยู่แล้วว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาใดไว้บ้าง รวมถึงพรรคก้าวไกล เมื่อตัดสินใจตั้งพรรคและส่งคนลงเล่นการเมือง ย่อมหมายถึงการยอมรับที่จะเล่นในกติกานี้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อถึงคราวต้องพบกับผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระทำของตน ก็พากันเรียงหน้าออกมาโวยวาย โจมตีศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนเด็กลงไปนอนดิ้นเร่าๆ เมื่อไม่ได้อย่างใจ
อันที่จริงพรรคก้าวไกลควรจะขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่สั่งยุบ ปล่อยให้เลยเถิดไปมากกว่านี้ อาจจะเจอการถล่มมาจากทุกทิศทุกทาง จนเกิดอันตรายต่อตัวเอง และกลายเป็นความแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เพราะที่เห็นเงียบๆ กันอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจำนวนมากจะไม่รู้สึกรู้สา
ในโลกแห่งความจริงมีอยู่ 3 ด้านเสมอ รักชอบ, เฉยๆ และเกลียดชัง ไม่ใช่ทุกคนจะชอบพรรคก้าวไกล เพียงแต่เมื่อมีเหตุเป็นคดีถึงศาล คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะรอรับฟังคำตัดสินอย่างสงบ
ถ้าไตร่ตรองหลายแง่มุม ดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญกำลังชี้ทางสว่างในทางการเมืองในอนาคตให้ด้วยซ้ำ แต่สมาชิกพรรคก้าวไกลและกองเชียร์ ไม่เพียงจะวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญ ยังอ้างประชาชน 14 ล้านเสียง พรรคการเมืองทุกพรรคอ้างประชาชนทั้งนั้น แต่บางพรรคก็อ้างพร่ำเพรื่อ ราวกับพูดคำนี้ได้ตั้งแต่หย่านม
ในการเลือกตั้งปี 2566 จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 39 ล้านกว่า แต่หักลบบัตรเสียและไม่ลงคะแนนให้ใครเลย เหลือเป็นคะแนนสมบูรณ์ที่เลือกสส.เขต 37,190,071 เสียง คะแนนสมบูรณ์ของการเลือกพรรคอยู่ที่ 37,522,746 เสียง
พรรคก้าวไกลได้สส.มา 151 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งหมด 500 คน หรือเป็นตัวเลขกลมๆ 14 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นจึงมีสส.ที่ไม่ได้สังกัดพรรคก้าวไกลจำนวน 349 คน ซึ่งได้รับเลือกมาจากประชาชน 23 ล้านกว่าเสียง
จึงเกิดคำถามว่า ต้อง 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลเท่านั้นจึงจะเป็นประชาชน? หรือ 23 ล้านเสียงที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ประชาชน?
เอาง่ายๆ พรรคก้าวไกลได้เสียงมามากที่สุด ได้โอกาสตั้งรัฐบาลตามกติกามารยาท แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทุกพรรคก็กระสันอยากเป็นรัฐบาลทั้งนั้น เพราะพรรคอื่นเขาไม่ต้องการไปยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งล่อแหลมต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญ และกระทบความรู้สึกของ “ประชาชน” ที่เลือกพวกเขามา และกระทั่งประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้เสียทั้งหมด
พรรคเหล่านั้นขอให้พรรคก้าวไกลถอยเรื่องความพยายามจะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ก็ยินดีจะเข้าร่วม แต่พรรคก้าวไกลก็ประมาณว่า “จะเอาให้ได้” ว่างั้น ถึงขนาดยอมแลกการไม่เป็นรัฐบาลกับความพยายามลดทอนสถานะของสถาบันกษัตริย์ ดูแล้วอาการหนักอยู่มิใช่น้อย
เจตนาหลักของพรรคก้าวไกลชัดเจนอย่างนี้ นอกจากนี้ยังมีการกระทำของสส.พรรคและขบวนการแนวร่วมต่างๆ ที่ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 112 รวมถึงมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่นับครั้งไม่ถ้วนในสังคม ไม่มีใครไปกลั่นแกล้งใครได้ ทำตัวเองทั้งสิ้น
หลังจากมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ก็มีการใช้วาจาเชือดเฉือนศาลรัฐธรรมนูญ ปาดน้ำตางอแงกัน ทั้งๆ ที่มีการเตรียมพรรคใหม่รอไว้แล้ว นั่นคงเป็นแค่การแสดงอีกฉากที่ไว้เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจากผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งพร้อมจะเทใจเชื่อโดยไม่มีเงื่อนไขอยู่แล้ว สมองไม่ต้องทำงานมาก อารมณ์มาเต็มๆ
เอาล่ะ ตอนนี้มีพรรคใหม่แล้วชื่อพรรคประชาชน ก็เดินหน้ากันต่อไป
แต่การใช้ชื่อ “ประชาชน” เป็นชื่อพรรคไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด คำนี้เคยถูกใช้ตั้งพรรคมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต่างประเทศก็มีพรรคใช้ชื่อ People Party อยู่เยอะล่ะเพราะคำมันเหมาะกับการหาเสียงทางการเมือง
พรรคประชาชน พรรคแรกก่อตั้งเมื่อปี 2490 โดยนักการเมืองที่แยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายเลียง ไชยกาลเป็นหัวหน้าพรรค ได้สส. 3 คน
พรรคประชาชน พรรคที่ 2 ตั้งขึ้นในปี 2499 นายสมภาษก์ อุทยางกูร เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้สส.เลย
หลังจากมีการปฏิวัติ ไม่มีการเลือกตั้งยาวนาน มีการใช้ชื่อ พรรคประชาชน อีกครั้งในปี 2511 เป็นการกลับมาของ นายเลียง ไชยกาล ในฐานะหัวหน้าพรรคเช่นเคย เลือกตั้งได้สส.มา 3 คน ครั้งหลังได้สส. 1 คน
เรื่อยมาจนถึงปี 2531 คราวนี้เป็นข่าวดังเมื่อนักการเมืองกลุ่มหนึ่งแตกจากพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ออกมาตั้งพรรคประชาชน พรรคที่ 4 โดยมี เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และ วีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค คำขวัญว่า “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” คุ้นๆ ไหม ได้สส.มา 19 คน แต่ต่อมาก็ยุบพรรคพร้อมๆ กับพรรคกิจประชาคมและพรรคก้าวหน้า เพื่อไปร่วมกับพรรครวมไทย
พรรคประชาชน พรรคที่ 5 ตั้งเมื่อปี 2541 นัดดา สนิทวงศ์ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้สส.
หลังสุดในปีนี้คือ พรรคประชาชน ที่เปลี่ยนชื่อจากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ซึ่งสส.ของพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบโยกย้ายไปอยู่ เจ้าของพรรคมอบหมายให้ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค และ ศรายุทธ ใจหลัก เป็นเลขาธิการพรรค
ถูกผิดไม่รู้ ผมคิดเอาเองว่า จากพรรคอนาคตใหม่ ผ่านพรรคก้าวไกล จนมาถึงพรรคประชาชน ไม่ได้ต่างจากพรรคไทยรักไทย ผ่านพลังประชาชน มาถึงเพื่อไทย คือ เป็นพรรคที่มีนายทุนเจ้าของเหมือนกัน แต่เล่นกันคนละบทบาท และอาจจะมีความเกี่ยวโยงกันอยู่ลึกๆ สังเกตได้จาก พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านที่แตะรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยน้อยมาก คล้ายๆ เอานิ้วไปจี้เอวแล้วบอก “นี่แน่ะๆ” ดูน่ารักดี
ตอนที่กระแสข่าว ศิริกัญญา ตันสกุล จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่มาแรงจัด ผมยังนึกในใจว่า “ไม่ใช่หรอก” แต่จะเป็นใคร ตอนนั้นยังไม่รู้ และ ศิริกัญญา ก็อาจจะเหมือน สุดารัตน์เกยุราพันธุ์ ของยุคนี้ เจ้าของพรรคเขาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้เป็นจนในที่สุดทนไม่ได้ต้องไปตั้งพรรคใหม่
เรื่องประชาธิปไตยในพรรคอย่าไปเพ้อฝัน เหมือนครั้งหนึ่งที่สรรเสริญเยินยอกันว่า ทักษิณ ชินวัตร คือผู้นำทางจิตวิญญาณของฝ่ายประชาธิปไตยนั่นแล
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี